ศูนย์ทนายฯ ยันกรณีร้องทรมานผู้ต้องหาปาระเบิด รัฐมีหน้าที่สอบสวน-คุ้มครอง ไม่ใช่ข่มขู่

ศูนย์ทนายฯ ยันกรณีร้องทรมานผู้ต้องหาปาระเบิด รัฐมีหน้าที่สอบสวน-คุ้มครอง ไม่ใช่ข่มขู่

21 มี.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่แถลงการณ์ชี้แจงการร้องเรียนว่ามีการทรมานคดีผู้ต้องหาปาระเบิด จากกรณีที่ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสอบสวนการทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา และยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558  ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายรายได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการกระทำทรมานเกิดขึ้น โดยชี้แจงว่าเมื่อศูนย์ทนายความได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ทั้งยังพอปรากฏร่องรอยการทำร้ายในผู้ต้องหาบางราย จึงขอเรียกร้องให้รัฐซึ่งมีหน้าที่เข้ามาสอบสวนโดยพลันโดยเจ้าหน้าที่และแพทย์ซึ่งเป็นอิสระและเป็นกลาง เนื่องจากหากเนิ่นช้าไปก็จะไม่ปรากฏบาดแผลอีก 

การร้องเรียนของผู้ต้องหาและของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นกระทำโดยสุจริตเพื่อให้ได้รับการตรวจสอบที่เป็นธรรม การเรียกร้องให้ตรวจสอบจึงเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและจะสามารถตอบข้อสงสัยในสังคม ไม่ได้เป็นการกล่าวหาหรือกุข่าวเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่ารัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนและคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียน การปฏิบัติในทางตรงกันข้ามโดยการข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีกลับต่อผู้ร้องเรียนโดยสุจริตจะยิ่งทำให้ผู้ต้องหาซึ่งมีความหวาดกลัวอยู่แล้วไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมาย  ทำให้ขาดความโปร่งใสและจริงใจในการตรวจสอบการทรมานไม่สามารถนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งรัฐได้แสดงเจตนามุ่งมั่นที่จะทำให้การทรมานหมดไปจากประเทศไทย

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานวันนี้ (21 มี.ค.2558) ว่า ที่กรมการขนส่งทหารบกวันที่ วันที่ 20 มี.ค. 2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ.กล่าวถึงกรณีที่ทหารถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดศาลอาญา ขอยืนยันว่าการใช้กฎหมายพิเศษ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช.ให้นโยบายว่า สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับความร้ายแรงสามารถใช้กฎหมายพิเศษได้ แต่จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกรอบและไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนการนำตัวนายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน ที่หลบหนีในต่างประเทศมาดำเนินคดีนั้น พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการซัดทอด มีข้อมูลชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับความรุนแรงที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลและ คสช. มีความพยายามที่จะนำผู้กระทำความผิดที่หลบหนีไปต่างประเทศมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการอยู่

“ขอยืนยันว่าทหารเข้าใจถึงอำนาจขอบเขตการดำเนินการที่จะไม่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา สามารถตรวจสอบได้ ส่วนผู้ที่บิดเบือนว่าถูกทำร้าย กองทัพบกจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำเพราะกองทัพไม่เห็นใครเป็นศัตรู แต่ใครกระทำผิดก็ต้องถูกสอบสวนถูกลงโทษ เนื่องจากมีการก้าวล่วงกองทัพบกในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ผมจะดำเนินการตามกฎหมาย” พล.อ.อุดมเดชกล่าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกาย 4 ผู้ต้องหา ในคดีวางระเบิดบริเวณศาลอาญาว่ากำลังตรวจสอบ แต่เชื่อว่ามันไม่น่าใช่ ซ้อมไปจะได้อะไรขึ้นมา ทั้งหมดมันอยู่ที่หลักฐาน วันนี้อย่าไปดูเรื่องซ้อมเพียงอย่างเดียว อยากให้ไปดูว่าความผิดนั้นมีหรือไม่ หลักฐานทั้งการใช้โทรศัพท์ก็มี การโอนเงินก็มี แต่คนเหล่านี้กลับอ้างเรื่องซ้อม เอาหลักฐานมาดูให้หมดใครผิดใครถูกก็ว่ากันมา

“ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการไปร้องเรียนกับสหประชาชาตินั้น มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแล้ว แต่คิดว่ามันเป็นปัญหาของเรา อย่าไปลากให้เขาเข้ามานักเลย แล้วทำไมเวลาที่ประชาชนเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตายไม่ไปร้องกับเขา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดูแลบ้างหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูกันบ้างว่าที่ผ่านมาได้ดูแลข้าราชการเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่โดนไล่ล่า ไล่ตี มีการร้องเรียนให้ทหารบ้างหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แถลงการณ์ระบุ ดังนี้

แถลงการณ์ชี้แจงการร้องเรียนว่ามีการทรมานคดีผู้ต้องหาปาระเบิด

เผยแพร่วันที่ 21 มีนาคม 2558

ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เรื่อง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม  2558  ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายรายได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการกระทำทรมานเกิดขึ้นนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอชี้แจงต่อสาธารณชนว่า มาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองและตามพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งการทำร้ายผู้ต้องหาเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นการกระทำความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and  Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้

เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น รัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนโดยพลันโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจและปราศจากความลำเอียง[1]

รัฐต้องประกันว่าบุคคลซึ่งอ้างว่าถูกทรมานมีสิทธิในการร้องทุกข์ และทำให้กรณีของตนได้รับการตรวจสอบโดยพลันและปราศจากลำเอียง ในการดำเนินการรัฐต้องประกันว่าผู้ร้องเรียนและพยานจะได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือข่มขู่ให้หวาดกลัว[2]

ดังนั้น เมื่อศูนย์ทนายความได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ทั้งยังพอปรากฏร่องรอยการทำร้ายในผู้ต้องหาบางราย จึงขอเรียกร้องให้รัฐซึ่งมีหน้าที่เข้ามาสอบสวนโดยพลันโดยเจ้าหน้าที่และแพทย์ซึ่งเป็นอิสระและเป็นกลาง เนื่องจากหากเนิ่นช้าไปก็จะไม่ปรากฏบาดแผลอีก การร้องเรียนของผู้ต้องหาและของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นกระทำโดยสุจริตเพื่อให้ได้รับการตรวจสอบที่เป็นธรรม การเรียกร้องให้ตรวจสอบจึงเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและจะสามารถตอบข้อสงสัยในสังคม ไม่ได้เป็นการกล่าวหาหรือกุข่าวเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่ารัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนและคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียน การปฏิบัติในทางตรงกันข้ามโดยการข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีกลับต่อผู้ร้องเรียนโดยสุจริตจะยิ่งทำให้ผู้ต้องหาซึ่งมีความหวาดกลัวอยู่แล้วไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมาย  ทำให้ขาดความโปร่งใสและจริงใจในการตรวจสอบการทรมานไม่สามารถนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งรัฐได้แสดงเจตนามุ่งมั่นที่จะทำให้การทรมานหมดไปจากประเทศไทย

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

[1] ข้อ 12 ของอนุสัญญา CAT – ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐกระกันว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของตนดำเนินการสอบสวนโดยพลันและโดยปราศจากความลำเอียง เมื่อใดก็ตามที่มีมูลเหตุสมผลที่จะเชื่อได้ว่า ได้มีการกระทำการทรมานเกิดขึ้นในอาณาเขตใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน

[2] ข้อ 13 ของอนุสัญญา CAT – ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่า ปัจเจกบุคคลที่อ้างว่าตนถูกทรมานในอาณาเขตใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐนั้น มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น และที่จะทำให้กรณีของตนได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยพลัน และโดยปราศจากความลำเอียงโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น ให้ดำเนินขั้นตอนทั้งปวงเพื่อประกันว่า ผู้ร้องทุกข์และพยานไดรับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือการข่มขู่ให้หวาดกลัวทั้งปวงอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ