ศูนย์คุณธรรมแนะทางออกวิกฤติความขัดแย้งผ่านหลักศาสนา

ศูนย์คุณธรรมแนะทางออกวิกฤติความขัดแย้งผ่านหลักศาสนา

ศูนย์คุณธรรม แนะทางออกวิกฤติความขัดแย้งผ่านหลักศาสนา

พร้อมชูแผนปฏิรูปความซื่อตรง กุญแจแก้ปัญหาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

                                  
กรุงเทพฯ 22 มกราคม2557 – ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  จับมือกับภาคีเครือข่ายศาสนาจากทั่วประเทศ ร่วมกันเยียวยาวิกฤติการแบ่งสีในสังคมไทยโดยใช้หลักคุณธรรมทางศาสนา ภายใต้แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ไขคำตอบก้าวผ่านความขัดแย้ง สู่สังคมแห่งสันติ ด้วยหลักศาสนา” นำโดยผู้แทนจากศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และภาคีเครือข่ายศาสนาอื่น ๆ ก่อนจะนำหลักคุณธรรมไปขยายผลสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการส่งเสริมคุณธรรมของศาสนาต่าง ๆ เพื่อเร่งสร้างค่านิยมด้านความซื่อตรงให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของสังคมไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อันเป็นต้นเหตุของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้  

                                

นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  ในปี พ.ศ. 2557 นี้ ถือเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองอย่างหนัก ซึ่งความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุมาจากการขาดคุณธรรมในเรื่องความซื่อตรง ดังผลสำรวจจากองค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ประเทศเยอรมนี ที่ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีค่านิยมในการยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าเป็นเรื่องปกติ ติดอันดับที่ 80 จาก 180 ประเทศทั่วโลกซึ่งส่งผลให้คนในชาติเกิดความไม่ไว้วางใจกัน และนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติขึ้น ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 อันประกอบไปด้วยแผนการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ เครือข่ายข้าราชการ เครือข่ายการเมือง เครือข่ายการศึกษาเครือข่ายชุมชน เครือข่ายศาสนา เครือข่ายสื่อมวลชน และเครือข่ายธุรกิจ แต่เนื่องด้วยในปีนี้ สังคมไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ตนจึงมุ่งผลักดันบทบาทของเครือข่ายศาสนา ให้เป็นเครือข่ายแกนนำหลักในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนคุณธรรมด้านความซื่อตรงไปยังทุกภาคส่วน เพราะศาสนาถือเป็นสถาบันหลักที่คนไทยส่วนใหญ่ต่างนับถือ ตามข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรไทยที่นับถือศาสนาต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 99.37% โดยแบ่งออกเป็นศาสนาพุทธ 93.83%ศาสนาคริสต์ 0.80% ศาสนาอิสลาม 4.56% ศาสนาฮินดู 0.086% ลัทธิขงจื๊อ 0.011% ศาสนาอื่นๆ 0.079% ไม่นับถือศาสนา0.27% และไม่ทราบศาสนา 0.36% อีกทั้งยังเป็นสถาบันที่ปรากฏอยู่บนสีขาวของธงชาติไทย ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า ศาสนามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมในการสั่งสอนให้ลูกหลานประพฤติตนไปในทางที่ดีโดยใช้วาจา แต่ยังขาดต้นแบบในการลงมือทำความดีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมละเลยการให้ความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตภายใต้หลักคุณธรรม การผลักดันให้สถาบันศาสนาเข้ามาเป็นสถาบันหลักในการเผยแพร่หลักธรรมไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมกับเป็นตัวอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม จึงมีส่วนช่วยให้คนในสังคมได้เห็นตัวอย่างของการทำดี และเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง อันจะช่วยลดความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนอย่างทุกวันนี้

                                         

พระมหาเฉลิม ปิยะทัสสี จากมูลนิธิวัดปัญญานันทราม กล่าวถึงทิศทางในการปลูกฝังคุณธรรมด้านความซื่อตรงแก่พุทธศาสนิกชนว่า ควรเริ่มจากการรักษาศีล 5 ในข้อ 2 คือการไม่คดโกง หรือลักขโมยของผู้อื่นมาโดยไม่ชอบ และข้อ 4 ที่เน้นเรื่องสัจจะวาจา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกหกที่ไม่ทำบาปนั้นไม่มี ซึ่งเมื่อมองกลับมายังเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัญหาต่าง ๆ ล้วนเกิดจากความต้องการผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม จนเป็นต้นเหตุของความไม่ไว้วางใจกัน และทำให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ร่วมกันไม่ได้ รวมทั้งการเกิดอคติของคนในสังคม ตามหลักอคติ 4 ซึ่งแปลว่า การลำเอียง หรือความไม่เที่ยงธรรม อันประกอบด้วย ฉันทาคติ คือความลำเอียงเพราะรักใคร่ ทำให้ไม่เห็นความผิดของฝ่ายที่ตนรัก โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะไม่ชอบ ซึ่งเป็นที่มาของความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผล โมหาคติ คือความลำเอียงเพราะความเขลา หรือการกระทำสิ่งตาง ๆ โดยไม่ผ่านการไตร่ตรองโดยใช้เหตุและผล ภยาคติ คือความลำเอียงเพราะความกลัว ซึ่งหมายถึงการที่เราพบเห็นสิ่งที่ผิด แต่ไม่กล้าจับกุมคนผิดมาลงโทษ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปลูกฝังค่านิยมในด้านความซื่อสัตย์เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นลูกหลาน ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่

–     โครงการวัดต้นแบบ ที่มุ่งเน้นให้ศาสนสถานเป็นตัวอย่างในการทำงานอย่างโปร่งใส ในลักษณะ Happy Workplace คือการให้ตัวแทนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลวัด แทนการให้อำนาจกับเจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการค่าใช้จ่าย ที่จะมีการเปิดเผยให้บุคคลภายนอกวัดเข้ามาตรวจสอบบัญชีของวัดได้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนได้เข้ามาพัฒนาวัดร่วมกัน

–   โครงการอบรมครู คือการถ่ายทอดความรู้ด้านคุณธรรมให้กับผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเองเป็นครูผู้สอนวิชาคุณธรรม จาก 4 ภาค เพื่อให้เกิดการกระจายความรู้ไปสู่สังคมในวงกว้าง

–     โครงการยุวทูตซึ่งต่อเนื่องมาจากโครงการอบรมครู โดยจะเน้นการผลักดันให้เด็กที่ผ่านการอบรมด้านคุณธรรม นำความรู้ต่าง ๆ มาเผยแพร่สู่ชุมชนของตนรวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ภายในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้กับเยาวชน ซึ่งจะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ 

                                                            

พระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย  ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอภิบาลสังคม กล่าวว่า หลักธรรมที่ช่วยสร้างความสุขให้คนในชาติตามแนวทางของศาสนาคริสต์คือ การรักในพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการรักและเชื่อในคำสอนของพระเจ้า รวมทั้งรักเพื่อนมนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนที่คิดต่างจากเรา ด้วยการใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยคุณธรรม เช่น

–   โครงการศาสนิกสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการสร้างความรักระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ และยังช่วยให้แต่ละศาสนาเข้าใจในหลักคำสอนของกันและกัน จนเกิดเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบบูรณาการ

– การจัดค่ายอบรมคุณธรรม ซึ่งจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ การรู้จักตัวตน การรู้จักเพื่อน และการเผยแพร่ความรักแก่ผู้อื่นด้วยคุณธรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชน นักเรียน และครูคาทอลิก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแก่นของศาสนาคริสต์ พร้อมกับแทรกซึมคุณธรรมในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างซื่อตรงโปร่งใสให้กับชาวคาทอลิกอย่างทั่วถึง 

                                                  

  ด้าน นายมูฮัมหมัดเฟาซี แยนา นักวิชาการ และกรรมการบริหารฝ่ายเลขานุการสภายุวมุสลิมโลกฯ กล่าวว่า ด้วยความหมายของศาสนาอิสลาม ซึ่งแปลว่า “ความสันติ” อยู่แล้ว สิ่งที่ชาวมุสลิมควรทำจึงเป็นการเชื่อมั่นในหลักศาสนา ซึ่งแท้จริงแล้ว ทุกศาสนาต่างสอนให้รู้จักการปล่อยวาง โดยเราต้องปล่อยวางทั้งจากความแค้น ความโกรธ ความเกลียดชัง และอย่าฝักใฝ่ในการช่วยเหลือฝ่ายอธรรมโดยเฉพาะการต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ชาวมุสลิมจะต้องใช้หลักของความซื่อตรงอย่างมาก โดยเริ่มจากความซื่อตรงที่มีต่อศาสนาของตน โดยการที่เราจะต้องรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับศาสนาของเรา และรู้จักศาสนาของเพื่อนด้วย เพื่อให้เราสามารถเข้าใจหลักคำสอนของทุกศาสนา และนำมาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะช่วยอคติที่มีต่อกันนอกจากนั้น ความซื่อตรงตามแนวทางของศาสนาอิสลาม คือการส่งเสริมในเรื่องมิตรภาพโดยชาวมุสลิมทุกคนจะต้องยิ้มทักทายกันด้วยสำนวนที่ว่า “ขอความสันติจงประสบแด่ท่าน”ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังให้ชาวมุสลิมอยู่ห่างไกลจากความโกรธแค้นที่ทุกคนจะต้องมีความซื่อตรงต่อตัวเองในการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ การร่วมมือกันของเครือข่ายศาสนาจึงเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนไทย เพื่อให้ทุกคนหันมาเคารพความถูกต้อง ตระหนักถึงส่วนรวม และยึดหลักคุณธรรมในการดำเนินชีวิต รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ที่นำโดยตัวแทนของแต่ละศาสนา ยังช่วยให้สังคมมีต้นแบบที่ดีทางด้านคุณธรรม ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมให้คนในสังคมได้เห็นตัวอย่างของการทำความดี ที่ไม่ใช่แค่เพียงการอบรมสั่งสอนด้วยวาจาอย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น และเป็นการปลูกฝังแนวคิดในการยกย่องเชิดชูคนที่มีความซื่อสัตย์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจอย่างแท้จริง นางฉวีรัตน์ กล่าวสรุป

อนึ่ง ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยกำหนดให้ศูนย์คุณธรรมมีภารกิจ ดังนี้
1.       ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่สอดคล้องกับแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไท

2.       ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ค้นคว้า พัฒนาองค์ความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ รวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหารจัดการความรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านคุณธรรมความดี และเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฏิบัติดีของบุคคลและการเป็นคนดีของสังคม

3.       ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดีในรูปแบบต่าง ๆ

4.       ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ และการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อประโยชน์ ในการพัฒนาคุณธรรมความดี

รายชื่อ “ภาคีความร่วมมือ” ที่ร่วมลงนามจำนวนทั้งสิ้น 32 ภาคี ได้แก่
1.       ศูนย์คุณธรรม

2.       กระทรวงวัฒนธรรม

3.       กรมการศาสนา

4.       สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

5.       สำนักจุฬาราชมนตรี

6.       สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

7.       ศาลาธรรมชุมชนคลองเตย

8.       สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

9.       เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม

10.    สถาบันปัญญานันทภิกขุ

11.    สถาบันแม่ชีไทย

12.    เครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนา

13.    มูลนิธิธรรมานุรักษ์

14.    มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย)

15.    สภานานาศาสนาและทูตสันติภาพ

16.    มูลนิธิสภายุวมุสลิมโลกสำนักงานประเทศไทย

17.    ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์

18.    สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย

19.    มูลนิธิสร้างคนดี

20.    มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย 

21.    สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม

22.    วิทยาลัยศาสนศึกษา  มหาวิทยาลัยมหิดล

23.    ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา  มหาวิทยาลัยมหิดล

24.    สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

25.    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

26.    ศูนย์วัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

27.    ศูนย์อิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

28.    โรงเรียนเครือคณะภคินีพระหฤทัยฯ

29.    อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

30.    โรงเรียนท่าอิฐศึกษา

31.    เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ

32.    พันธกิจเด็กและเยาวชนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ