ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ

ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ

20152802123314.jpg

28 ก.พ. 2558 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2558 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กรณีที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งยกคำร้อง

ด้านคณะทนายความ ให้ความเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองและได้หายไปในระหว่างควบคุมตัวดังกล่าว ภรรยานายพอละจีฯ ได้ร่วมกับทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ประกอบด้วยพยานทั้งสิ้นจำนวน 12 ปาก ได้แก่ ภรรยานายบิลลี่ (ผู้ร้อง) ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางกลอย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชียวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้มีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาภรรยาของนายบิลลี่และทนายความ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้อง โดยอุทธรณ์ดังกล่าวโต้แย้งว่า คำให้การของพยานแต่ละปาก ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักศึกษาฝึกงาน เบิกความไม่ตรงกัน มีข้อพิรุธ ขัดต่อหลักเหตุผล 

อีกทั้ง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ที่อยู่กับนายบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย มีเหตุโกรธเคืองกับนายบิลลี่มาก่อนในกรณีการขับไล่ เผาบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก บางกลอย ในปี 2554 จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ในคดีดังกล่าวมีนายบิลลี่ เป็นผู้ประสานงาน ประกอบกับประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วยการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ที่จะไม่ถูกบังคับให้สูญหายและรัฐมีหน้าที่ต้องค้นหาความจริง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2558 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กรณีขอให้ปล่อยตัวฯ โดยมีนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ร้อง ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Crcf) เจ้าหน้าที่จากองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty Internationnal Thailand) เข้าร่วมฟังการอ่านคำสั่งของศาลด้วย 

เนื้อหาในคำสั่งระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ขอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน 

——————————————————–

ข้อมูลสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นายบิลลี่ หรือ นายพอจะลี รักจงเจริญ เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยทนายความ อยู่ระหว่างการเตรียมการต่อสู้คดีปกครองที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีการเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่แม้ปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดังเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว นอกจากนี้ นายบิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป 

นายบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ยอมรับว่าควบคุมตัวนายบิลลี่จริง เนื่องจากค้นตัวนายบิลลี่แล้วพบรังผึ้งและน้ำผึ้งหกขวด ตนจึงได้ทำการตักเตือน และอ้างว่าได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมตามข้อกล่าวหาและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 เดือน แล้วหลังจากถูกควบคุมตัว ที่ยังไม่มีผู้ใดพบเห็นนายบิลลี่อีก โดยครอบครัวของนายบิลลี่ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านบางกลอยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจชาติให้รับผิดชอบคดีการหายตัวของนายบิลลี่ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและควบคุมตัวนายบิลลี่ โดยพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ การอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยที่รัฐมิอาจเพิกเฉยได้ด้วยประการใดๆ 

ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 นิยาม “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย 

ไทยในฐานะภาคีกฎบัตรสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องให้คุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบและช่วยเหลือเหยื่อและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด อีกทั้ง ไทยควรจะต้องดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายโดยเร็วที่สุด 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ