ศาลยกฟ้องคดีสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ชี้ พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 ไม่ใช้กับหมิ่นประมาท

ศาลยกฟ้องคดีสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ชี้ พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 ไม่ใช้กับหมิ่นประมาท

วันนี้ (1 ก.ย. 2558) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษายกฟ้องในคดีที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 กรณีเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่อง ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ 

20150109221326.jpg

ที่มาภาพ: iLawClub

ทีมงาน iLaw ทีมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ รายงานข้อมูลว่า ศาลได้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ

1.โจทก์และผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้หรือไม่

เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นหน่วยงานรัฐได้มอบอำนาจให้ น.อ.พัลลภ โกมลทก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีนี้ ซึ่ง น.อ.พัลลภ เบิกความต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับข้อความในพาดหัวข่าว ติดใจดำเนินคดีนี้เนื้อในของข่าวเท่านั้น 

น.อ.พัลลภ เบิกความว่า กองทัพเรือในภาษาอังกฤษ คือ The Royal Thai Navy ดังนั้น คำว่า Naval Forces ที่ปรากฏในเนื้อข่าวนั้น จึงไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงกองกำลังทางน้ำ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน รวมทั้ง กอ.รมน.ที่มีเรือสำหรับดูแลทางน้ำด้วย และคำว่า Forces มี s ซึ่งแปลว่ามีหลายหน่วยงาน ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่า Naval Forces หมายถึงกองทัพเรือด้วย 

ผู้รับมอบอำนาจของกองทัพเรือจึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้

2.การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

เห็นว่า จำเลยนำข้อความมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว เนื้อหาที่จำเลยตีพิมพ์ในข่าวก็อ้างว่าเอามาจากรอยเตอร์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้ง 3 เขียนขึ้นเอง 

การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

3.  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 หรือไม่

เห็นว่า การนำข้อความจากสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน และไม่เป็นความผิดตามหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

แอมเนสตี้ชี้ การยกฟ้องเป็นก้าวย่างเล็กๆ ในทิศทางที่ถูกต้อง

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า Josef Benedict ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การยกฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวทั้งสองท่านเป็นคำวินิจฉัยในเชิงบวก แต่อันที่จริงพวกเขาไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรกหรือเผชิญความเสี่ยงที่อาจถูกจำคุกหลายปี โดยการดำเนินคดีนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการเพิกเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการไทย 

“ข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีลักษณะกำกวม และได้ถูกใช้อย่างมิชอบเเพื่อป็นเครื่องมือปิดปากและคุกคามสื่ออิสระ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยข้อบัญญัติซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ” 

“การฟ้องร้องนี้ถือเป็นปฏิบัติการครั้งล่าสุดที่มีมาอย่างยาวนานในการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกและสำนักข่าว นับแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ทางการไทยต้องยุติการแสดงความสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากความจริงใจ ต้องยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยทันที รวมทั้งยกเลิกข้อกล่าวหาทางอาญาและบทลงโทษจำคุกต่อนักโทษทางความคิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

 

ข้อมูลคดี

ทีมงาน iLaw
ทีมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สำนักงานกฎหมายเอสอาร์

สำนักข่าวภูเก็ตหวานเป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในจังหวัดภูเก็ต (Phuketwan.com) นำเสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด  โดยนายอลัน จอห์น มอริสัน กรรมการผู้มีอำนาจ และมีนางสาวชุติมา สีดาเสถียร เป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าว เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 

สำนักข่าวภูเก็ตหวานได้เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ ซึ่งอ้างอิงมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ในจังหวัดพังงา ในรายงานระบุว่า 

“Thai Military Profiting from Trade in Boatpeople, Says Special Report”…“The Thai naval forces usually earn about 2000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga (north of Phuket) and deals directly with the navy and police.”…

ต่อมากองทัพเรือจึงดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวาน เนื่องจากเห็นว่ารายงานดังกล่าวมีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และเป็นการให้ร้ายต่อกองทัพเรือ ส่งผลให้กองทัพเรือเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดความเสียหาย จนคดีขึ้นสู่ศาลเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์ กับ บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด โดยนายอลัน จอห์น มอริสัน กรรมการผู้มีอำนาจ ที่ 1 นายอลัน จอห์น มอริสัน ที่ 2 นางสาวชุติมา สีดาเสถียร ที่ 3 จำเลย 

คดีดังกล่าว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกับสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ได้ให้ความช่วยเหลือทางคดีต่อจำเลย โดยทำเป็นคดียุทธศาสตร์เพื่อสร้างบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชน

การพิจารณาคดีที่ผ่านมาและในวันนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทยร่วมรับฟังและสังเกตการณ์การพิจารณาคดี อาทิ พันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Aliance) คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) 

ผู้แทนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้แทนจากสถานทูตออสเตรเลีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพสื่อ

ในชั้นพิจารณา โจทก์นำพยานเข้าสืบ 4 ปาก โดยมี น.อ.พัลลภ โกมโลทก ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ สืบพยานในประเด็นที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริงทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้เบิกความต่อศาลว่ากองทัพเรือได้รับความเสียหายอย่างไร 

ร.ต.อ.อนุรักษ์ กลางณรงค์ และ พ.ต.ท.สานิช หนูคง พนักงานสอบสวน เป็นผู้รับแจ้งความดำเนินคดีและทำการสอบสวน และ ร.ต.ท.จรัญญู เครือแวงวงศ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ผู้ตรวจสอบข้อมูลของเว็บไซต์ www.phuketwan.com เบิกความว่าจากการตรวจสอบพบว่านายอลัน มอริสัน เป็นผู้จดทะเบียน Domain names และเป็น admin ของเว็บไซต์ดังกล่าว แต่การตรวจสอบดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นเพียงข้อมูลที่ปรากฏหน้าเว็บไซต์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดนำเข้าข้อมูลลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 7 ปาก โดยนายอลันและนางสาวชุติมาได้เบิกความยืนยันถึงการทำตามหลักวิชาชีพของสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ มีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความถึงเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของสื่อมวลชน 

นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชียวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายดังกล่าวซึ่งไม่ได้ใช้ในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาท 

ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลัษณ์ เบิกความยืนยันการแปลข้อความที่มีการฟ้องคดีว่า คำว่า “Thai naval forces” มีลักษณะเด่นเป็นพหูพจน์ จึงหมายถึงได้หลายหน่วยงาน ไม่เฉพาะกองทัพเรือ ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติการทางน้ำ และนอกจากนี้ยังมีผู้ทำงานกับชาวโรฮิงญามาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามรายงานดังกล่าวด้วย

ดูรายละเอียดคดีเพิ่มเติมได้ที่
–    http://phuketwan.com/tourism/phuket-journalists-face-court-april-says-prosecutor-20042/
–    http://freedom.ilaw.or.th/th/case/554

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ