7 ก.ค. 2559 ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตยื่นรายชื่อที่ร่วมกันรณรงค์ออนไลน์ผ่าน change.org “หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” 40,000 รายชื่อ จากตัวเลขเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีปัญหาในแง่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจะรบกวนการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … หรือร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน “ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” ที่องค์กรภาคประชาชน 6 องค์กรและประชาชนมากกว่า 22,000 คนเคยเข้าชื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณา และรัฐบาลรับปากจะแก้ไขให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
เวลาผ่านไป 1 ปี พร้อมกับข่าวที่กระทรวงไอซีทีเสนอแนวคิด “Single Gateway” เพื่อให้ควบคุมข้อมูลจากต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกปรับปรุงแล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 21 เม.ย. 2559 และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในวันเดียวกัน พร้อมทั้งส่งต่อให้ สนช. พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย
“วันที่ 28 เม.ย. 2559 ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วาระที่ 1 โดยสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งอภิปรายว่า เนื้อหาของกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ถือเป็นความหมายที่กว้างและมีความเปราะบางมาก อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แต่สนช.ก็ยังมีมติเอกฉันท์รับหลักการด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว และมีกำหนดส่งกลับให้ สนช.พิจารณาวาระที่ 2 และกระทรวงไอซีทีวางเป้าหมายประกาศใช้ภายในปีนี้” ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว
ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงเรียกร้องให้สมาชิก สนช. ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมาย 3 มาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยพิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15 และ 20 ให้การออกมาตรการใด ๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 20 (4) ออกจากร่าง
ในวันเดียวกันนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รวมตัวกันบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นหากมีการพิจารณาผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับดังกล่าว
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นต่อ สนช. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีความกังวลอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในบางมาตรา ที่อาจปิดกั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
“สิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัวควรได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีมาตั้งแต่ปี 2539 หน้าที่ของทางการไทยจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การพยายามปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่” ปิยนุช กล่าว
เปิด 5 มาตรา พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ น่าใจหายกว่าเดิม ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. อยู่ในขณะนี้ ได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายที่จะเสริมเขี้ยวเล็บให้การสอดแนม ดักจับ และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต่อไปนี้เป็นสรุปสั้น ๆ ของ 5 มาตราสำคัญในร่างดังกล่าว ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งเอกสารแสดงความเป็นห่วงถึงภาครัฐไทย มาตรา 8 (แก้ไขมาตรา 14) นิยามคำต่าง ๆ ในมาตรานี้ เช่น “ข้อมูลเท็จ” “ความเสียหายแก่ประชาชน” และ “ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” ไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความเพื่อเอาผิดทางอาญากับผู้ใช้สิทธิในการแสดงความเห็นทางออนไลน์ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ ทั้ง ๆ ที่กรณีเช่นนี้ควรเป็นคดีแพ่ง มาตรานี้กำหนดโทษอาญาต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จากการแสดงความเห็นและการกระทำของผู้ใช้บริการ การกำหนดโทษดังกล่าวย่อมเป็นเหตุจูงใจให้ ISP ยอมเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างและยอมละเมิดเสรีภาพของผู้ใช้บริการ เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษของตัวเอง ซึ่งมีตั้งแต่การจ่ายค่าปรับ การถูกระงับ ไปจนถึงปิดเว็บไซต์และยกเลิกธุรกิจ มาตรา 13 (แก้ไขมาตรา 18) มาตรานี้เป็นการขยายอำนาจการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล โดยเจ้าหน้าที่สามารถ “ขอความร่วมมือ” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการสอบสวน โดยอาจรวมถึงการบังคับให้ถอดหรือเปิดเผยรหัสสำหรับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยด้วย มาตรา 14 (แก้ไขมาตรา 20) มาตรานี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ลบหรือระงับการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ที่ถูกมองว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหา รับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิด มาตรา 17 (แก้ไขมาตรา 26) มาตรานี้ว่าด้วยการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ โดยไม่ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ให้มีการเก็บรักษาข้อมูลแบบครอบจักรวาลและหว่านแห (mass surveillance) นอกจากนั้น มาตรานี้ยังขยายระยะเวลาสูงสุดของการเก็บรักษาข้อมูลจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องขออำนาจจากศาลด้วย |