นิทานเล่าซ้ำ รวยกระจุก จนกระจาย

นิทานเล่าซ้ำ รวยกระจุก จนกระจาย

008

คอลัมน์: คิดริมทาง เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

ไม่ว่าด้วยโชคชะตา หรือโครงสร้างทางการเมืองอันใดก็แล้วแต่ ที่ดลบันดาลให้ห้วงเวลา 13 วัน ของผมเมื่อช่วงต้นเดือนที่แล้ว เป็นวันเวลาที่ผมไม่ได้เลือกเอง แม้จะมีเสียงบ่นปนเหน็บว่าผมและไอ้พวกนักกิจกรรม นักศึกษาทั้ง 14 คน กระเหี้ยนกระหือรือที่จะถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ และดื้อเองที่ไม่ขอประกันตัว แต่ผมคงต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ ยืนยันอีกครั้งว่าช่วงเวลาดังกล่าว

“เป็นช่วงเวลาที่ผมและเพื่อนๆ ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น มันเป็นเรื่องของการถูกบังคับให้เลือก”

ในเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร พวกเราได้รับความเมตตาพอสมควรจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และพี่เลี้ยงนักโทษ โดยเฉพาะการอนุญาตให้เรานำหนังสือขึ้นไปอ่านบนเรือนนอนได้ เมื่อได้อ่านหนังสือก็ทำให้ผมนึกถึงพันธะสัญญาที่มีต่อ AfterShake ผมจึงได้เขียนต้นฉบับด้วยลายมือไว้ชิ้นหนึ่ง เดิมตั้งใจจะส่งเป็นจดหมายประทับตราไปรษณีย์ออกมา แต่ระเบียบของทางเรือนจำ อนุญาตเฉพาะจดหมายที่มีความยาวไม่เกิน 15 บรรทัด นั่นเป็นเหตุผลที่ผมเองไม่สามารถทำตามสัญญาที่มีต่อทั้ง บ.ก. และท่านผู้อ่านได้

แต่เพื่อเป็นการไถ่โทษให้พอเหมาะพอควร ผมจดจำเนื้อหาของต้นฉบับที่ผมเขียนในเรือนจำได้เกือบทั้งหมด จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาเล่าซ้ำ แม้มันอาจเป็นเรื่องเล่าซ้ำซาก เช่นเดียวกับที่ นักคิด นักเขียน กระทั่งนักวิชาการ หลายๆ ท่าน พยายามพร่ำบอก บ่น และนำเสนอเรื่อง ความรวยที่กระจุก ความจนที่กระจายในสังคมไทยมาแล้วเป็นร้อยครั้งพันครั้ง

ผมขอเริ่มด้วยคำถามง่ายๆว่า สังคมที่เรียกได้ว่า ‘ดีงามน่าอยู่’ นั้น ควรเป็นสังคมที่มีคนร่ำรวย คนที่ได้เปรียบทางโครงสร้าง อยู่แค่หยิบมือหนึ่ง และปล่อยให้มีคนจนคนยากกระจายอยู่ทั่วไป ขณะที่ชนชั้นกลางก็ต้องกัดฟัน พร่ำพูดว่าเรานั้นไม่ลำบาก ชีวิตต้องสู้ ต้องไต่เต้าขวนขวายชนิดหูตูบถึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แบกภาระผ่อนทั้งบ้านทั้งรถรวมกันหลายสิบปีไว้บนบ่า ในขณะที่ด้านในกลับดังไปด้วยคำถาม ว่าปลายทางของมันคืออะไร คุ้มไหมกับเส้นทางที่เลือก เราเรียกสังคมเช่นนี้ว่าเป็นสังคมที่ดีงามน่าอยู่ ได้หรือไม่

หากคำตอบคือไม่ บทความนี้คงทำหน้าที่ตอกย้ำความคิดของท่าน แต่หากคำตอบคือ ใช่ นั่นหมายถึงเรามีเรื่องต้องคุยกันเยอะทีเดียวครับ

บทเพลงหนึ่งของ น้าซัน-มาโนช พุฒตาล ชื่อ ‘หมอผีครองเมือง’ มีเนื้อร้องบางท่อนซึ่งขับร้องโดย คฑาวุธ ทองไทย (วงมาลีฮวนน่า) เนื้อความว่า

“คนรวยร่ำรวย ยิ่งรวย เพราะคนยากจน คนจนยากจน ยิ่งจน เพราะคนร่ำรวย” ผมว่าท่อนนี้อธิบายความเป็นไปของเรื่อง รวยกระจุก จนกระจาย แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองได้สั้นกระชับ ครอบคลุม

เงิน ทรัพย์สิน ที่ดิน หรือสิ่งแทนค่าอันใดก็แล้วแต่ ที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่จำกัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ หากมีคนกลุ่มหนึ่ง จำนวนไม่มาก แต่โคตรรวย มิหนำซ้ำ คนส่วนน้อยเหล่านั้นยังเป็นผู้กำหนดนโยบายและมีอำนาจเหนือคนอื่นๆ มันย่อมส่งผลกระทบไปทำให้คนอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมากยากจนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมมีตัวอย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรมในวัยเด็ก ตอนเรียนอยู่โรงเรียนประจำที่มีนักเรียนราว 1,000 คน ตั้งแต่ระดับมัธยม 1 ไปถึง มัธยม 6 แต่ละสัปดาห์ โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนทุกคนเบิกเงินจากธนาคารโรงเรียนได้ไม่เกินคนละ 200 บาท ลองคิดเลขตามนะครับ ถ้าเราเอา 200 บาท คูณกับ 1,000 คน แสดงว่าธนาคารโรงเรียนต้องไปเบิกเงินจากธนาคารจริงๆ มาสำรองไว้ สัปดาห์ละ 200,000 บาท

อยู่มาวันหนึ่ง โรงเรียนอนุญาตให้รุ่นพี่ ม.5 และ ม.6  จำนวนรวมกันประมาณ 300 คน สามารถเบิกเงินเกิน 200 บาท ด้วยเหตุผลว่า พี่ๆ อาจต้องใช้เงินในการสมัครสอบเข้าเรียนต่อ หรือใช้จ่ายในการออกไปเรียนพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์นอกโรงเรียน ทำให้รุ่นพี่หลายคนเบิกเงินกันคนละ 1,000 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง ลองคิดเลขตามอีกทีนะครับ ผมสมมติให้พี่ๆ 300 คนนั้น เบิกเฉลี่ยสัปดาห์ละ 500 บาท ต่อคน เอา 500 บาท คูณ 300 คน จะเป็นเงิน 150,000 บาท สัปดาห์แรกๆ ที่โรงเรียนใช้นโยบายนี้ โรงเรียนยังไม่ได้สำรองเงินมาเผื่อ ทำให้นักเรียนรุ่นน้องอีก 700 คนที่เหลือต้องไปแย่งกันเบิกเงินจำนวนน้อยที่เหลือเพียง 50,000 บาท

ถ้าเราคิดเฉลี่ยแบบง่ายๆ พวกรุ่นน้องจะได้เบิกเงินแค่คนละ 71 บาท กว่าๆ เท่านั้นเองครับ ซึ่งในความเป็นจริงในสัปดาห์นั้น มีนักเรียนบางคนไม่ได้เบิกเงินสักบาทเดียว

เรื่องเล่านี้เปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อผู้มีอำนาจคือโรงเรียน ให้อภิสิทธิ์แก่คนส่วนน้อยคือรุ่นพี่ สามารถถือเงินได้มากกว่า โดย ‘ไม่ได้’ เตรียมทาง ‘แก้ปัญหา’ ที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน มันย่อมกระทบต่อคนส่วนใหญ่ผู้ไร้อภิสิทธิ์

ผมจบเนื้อหาต้นฉบับซึ่งเขียนในเรือนจำไว้ที่เนื้อหาประมาณนี้ แต่พอออกมาลิ้มรสอิสรภาพ ก็คิดว่าควรเพิ่มเติมข้อมูลตัวเลขบางตัวเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นรูปธรรมของความรวยกระจุกว่ามันกระจุกอยู่ที่ใครบ้าง

อย่างที่บอก ไม่ว่า เงิน ทรัพย์สิน ที่ดิน หรืออะไรก็ตามในสังคมไทยที่มีมูลค่า มันกระจุกตัวอยู่ในมือคนส่วนน้อยอย่างน่าตกใจนะครับ สำรวจตรวจสอบสังคมไทยพบว่า บรรดานักการเมืองทุกพรรคล้วนเป็นพวกที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดินของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระหว่างปี 2554-2557 ป.ป.ช. มีการเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พบข้อมูล ส.ส.ทั้งหมด 530 ราย ถือครองที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 8,388 แปลง เป็นพื้นที่รวม 68,765 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา มูลค่ารวม 18,093,569,912 บาท (1.8 หมื่นล้านบาท) เฉลี่ย ส.ส. 1 ราย จึงถือครองที่ดิน 129.74 ไร่

แต่นักการเมืองก็ยังมีที่ดินน้อยกว่านายทุนไม่กี่ตระกูลในสังคมไทย เช่น อันดับ 1 ตระกูล ‘เจ้าของธุรกิจน้ำเมารายใหญ่’  จำนวน 630,000 ไร่ โดยที่ดินแปลงใหญ่อยู่ที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 12,000 ไร่ และใน อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกประมาณ 15,000 ไร่ มีทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ นั่นหมายความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา 530 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน คิดเป็นเพียงอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ของที่ดินตระกูลดังกล่าวเพียงแค่ตระกูลเดียว (68,765 ไร่ ต่อ  630,000 ไร่ )

หรืออันดับ 2 ตระกูล ‘เจ้าของธุรกิจสินค้าเกษตรครบวงจรรายใหญ่’ มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ ที่ดินแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 10,000 ไร่

ถ้าเอาจำนวนที่ดินของทั้ง 2 ตระกูลนี้ ถือครองรวมกันจะเท่ากับ 830,000 ไร่ ใหญ่ ซึ่งเป็นเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่า จังหวัดสมุทรปราการ (627,557.5 ไร่) หรือจังหวัดอ่างทอง (605,232.5 ไร่)

และขนาด 830,000 ไร่ นี่ใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ( 558,750 ไร่) อีกนะครับ

ในขณะที่ข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปี 2555 ชี้ว่า ประเทศไทยมีคนจนหรือเกือบจน มากถึง 15.6 ล้านคน คิดเป็น 23.5 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดมีรายได้ห่างกันถึง 25.2 เท่า บัญชีเงินฝากคนรวยเพียง 0.1% ถือครองสินทรัพย์ประเทศมากถึง 46.5% ส่วนการถือครองที่ดินห่างกัน 325.7 เท่า

ลองไปดูเงินออมในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย คือบัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียงประมาณ 0.1% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากสูงถึง 46.5% ของวงเงินฝากทั้งหมด ในขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท มีถึง 99.9% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 53.5% ของวงเงินฝากทั้งหมด

แหม่ นี่ใช่ไหม ที่เรียกกันว่า พวกนักการเมืองชั่วบวกทุนสามานย์

อย่าเพิ่งใจร้อนไปสรุปแบบนั้น เพราะเมื่อผมเห็นข่าวว่า รัฐบาล คสช. จะคืนความสุขด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูง และเชิญ 2 ตระกูลดังกล่าวข้างบนมาร่วมลงทุน ผมเลยเกิดสงสัยขึ้นมาว่า คสช. นี่ เขาจัดอยู่ในกลุ่มคนรวยกระจุก หรือจนกระจายอย่างเราๆ

สุดท้ายก็ถึงบางอ้อ เมื่อได้อ่านบทความของ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร  เรื่อง รายได้ต่อปีของคณะรัฐบาลและสนช. ที่บอกว่า รายได้เฉลี่ยของนายกฯ และรัฐมนตรี 35 ราย เท่ากับประมาณ 6.8 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นประมาณ 34 เท่าของรายได้ต่อหัวประชากรไทยทั้งประเทศในปีเดียวกัน

ผู้มีรายได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 7 ราย มีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 20 ล้านบาท คิดเป็น 100 เท่าของรายได้ต่อหัวของประชากรไทยทั้งประเทศ

ขณะที่รายได้เฉลี่ยของ สนช. 212 ราย เท่ากับประมาณ 6.5 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 32.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ
สนช.ผู้มีรายได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 19 ราย รายได้เฉลี่ยของกลุ่มเท่ากับ 41 ล้านบาท คิดเป็น 205 เท่าของรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ

ถ้าเราพูดถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม จะเห็นได้ว่า คนรวยในรัฐบาลปัจจุบันไม่ต่างจากคนรวยประเภท aristocrats หมายถึงชนชั้นนำที่ยุโรปเมื่อ 200-300 ปีที่แล้วสักเท่าไรเลย

นั่นละครับท่านผู้ชม จำเริญๆ ครับ

อ้างอิง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ