วันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ฯ เผยเคสการบังคับให้สูญหายในแต่ละภูมิภาคของโลก

วันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ฯ เผยเคสการบังคับให้สูญหายในแต่ละภูมิภาคของโลก

30 ส.ค. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เนื่องในวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared) 30 ส.ค.ของทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงการสูญเสีย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการก่ออาชญากรรมที่คุกคามมนุษยชาติ เรียกร้องรัฐบาลนานาประเทศยุติการใช้วิธีการบังคับบุคคลให้สูญหายเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามของตน พร้อมเสนอข้อมูลเฉพาะกรณีที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลก

ทั้งนี้ วันผู้สูญหายสากล ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

20153008032307.jpg

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์

วันผู้สูญหายสากล: การบังคับบุคคลให้สูญหายยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของโลก

รัฐบาลยังคงใช้การบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นวิธีการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อกลุ่มเป้าหมาย การกระทำเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาคของโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในโอกาสที่คนทั้งโลกจัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม  

ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ทางองค์การได้ให้ความช่วยเหลือบุคคลกว่า 500 คน ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยังคงกดดันรัฐบาลให้ชี้แจงถึงชะตากรรมและที่อยู่ของบุคคลซึ่งถูกทำให้สูญหายด้วย

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่ารัฐบาลในทุกภูมิภาคของโลกตั้งแต่ซีเรียถึงเม็กซิโก และศรีลังกาถึงแกมเบีย อาจเป็นผู้ควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนหรือหลายพันคนในที่ลับ และในอีกหลายประเทศเหล่านี้ ทางการยังคงข่มขู่และคุกคามผู้ที่พยายามค้นหาญาติของตนเอง การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมจึงเป็นอันต้องไม่ยุติลง

“ในโอกาสจัดกิจกรรมวันผู้สูญหายสากล เราขอส่งกำลังใจให้กับเหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายโดยทางการทั่วโลก รัฐบาลในหลายประเทศที่ยังมีการบังคับบุคคลให้สูญหายเกิดขึ้น ต้องถูกกดดันมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ยุติการปฏิบัติที่น่าชิงชังนี้” 

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทำที่ได้รับการส่งเสริมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของเจ้าหน้าที่ โดยปฏิเสธไม่ยอมบอก หรือปกปิดไม่ให้บุคคลทราบถึงชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลเหล่านั้น เป็นเหตุให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

การสูญหายของบุคคลมักมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน เริ่มจากการถูกจับกุม ผู้ตกเป็นเหยื่อจะไม่มีโอกาสใช้สิทธิของตนต่อศาล และแทบจะไม่มีการบันทึกข้อมูล “อาชญากรรม” ที่เกิดขึ้นกับตนหรือการควบคุมตัวนั้นเลย เมื่อบุคคลไปพ้นจากสายตาของสาธารณะ พวกเขาย่อมตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ถูกทรมาน หรืออาจถูกสังหาร  

ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้รัฐบาลหลายสิบแห่งซึ่งใช้วิธีการบังคับบุคคลให้สูญหายเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามของตน ให้ยุติการใช้ยุทธวิธีดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ในโอกาสวันผู้สูญหายสากล ทางองค์การอยากเสนอข้อมูลเฉพาะกรณีที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลก

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ – ซีเรีย 

ในซีเรีย ประชาชนเกือบ 85,000 คนถูกบังคับให้สูญหายระหว่างปี 2554-2558 ทั้งนี้ตามแหล่งข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พลเรือนยังคงหายตัวไปในอัตราที่น่าตกใจ และจากข้อมูลที่มีการบันทึกขององค์กรซึ่งทำงานด้านนี้พบว่าบุคคลผู้สูญหายเป็นคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ได้มีเพียงฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเท่านั้น หากยังรวมถึงครูและพลเรือนซึ่งเพียงแค่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ปกครองของรัฐบาลเพื่อไปรับเงินเดือนจากราชการเท่านั้น 

Rania Alabbasi และลูกทั้งหกคนอายุตั้งแต่สามขวบถึง 15 ปี ถูกทางการซีเรียจับกุมตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2557 จากนั้นมาไม่มีใครทราบข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวนี้อีกเลย แม้ว่าญาติจะร้องขอข้อมูลแต่ทางการซีเรียไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ไม่บอกว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน หรือไม่บอกว่าทำไมต้องมีการจับกุมพวกเขา 

Naila Alabbasi น้องสาวของ Rania Alabbasi กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า 

“ตอนที่ประชาชนเริ่มลุกฮือ เธอยังไม่อยากจะหนีไป เธอคิดว่าเธอและครอบครัวน่าจะปลอดภัย เพราะไม่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านด้วย พวกเขาไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลย เธอจึงคิดว่าไม่น่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตน” 

“ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเลย เราพยายามทำทุกอย่างแต่ไม่ประสบความสำเร็จ…เราต้องไม่ลืมราเนีย ครอบครัวของเธอ และผู้ต้องขังคนอื่นๆ ซึ่งมีสภาพแบบเดียวกัน เราต้องเปล่งเสียงให้ดังมากขึ้นเพื่อให้ปล่อยตัวพวกเขา” 

ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถส่งจดหมายร้องเรียนไปยังรัฐบาลซีเรีย เพื่อให้ยุติการบังคับบุคคลให้สูญหายในทุกกรณี และเพื่อให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเดินทางมาสอบสวนอย่างเป็นอิสระในซีเรีย 

อเมริกา – เม็กซิโก 

จากตัวเลขของทางการ มีประชาชนเกือบ 25,000 คนหายตัวไปหรือสาบสูญในเม็กซิโกตั้งแต่ปี 2550 โดยเกือบครึ่งหนึ่งหายตัวไปในยุคของรัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดี Peña Nieto 

ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวระหว่างประเทศในเดือนกันยายน 2557 ภายหลังการหายตัวไปของนักศึกษา 43 คนจากวิทยาลัยครูในชนบทที่เมืองอาโยซินาปาในรัฐเกเรโรของเม็กซิโก 

นักศึกษาเหล่านี้อยู่ระหว่างเดินทางไปประท้วงต่อต้านการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล พวกเขาถูกตำรวจและมือปืนโจมตีที่เมืองอิกัวลา และมีนักศึกษาถูกสังหารสามคน ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าตำรวจนำตัวนักศึกษาที่เหลือไป อีกหนึ่งวันต่อมามีผู้พบศพของ Julio César Mondragón นักศึกษาในสภาพที่ถูกทรมาน ส่วนครอบครัวของนักศึกษาที่เหลืออีก 42 คนต่างเศร้าโศกเสียใจต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้นต่อบุคคลอันเป็นที่รักของตน 

ในเบื้องต้น ทางการอ้างว่าไม่ทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน แต่อีกหลายเดือนต่อมา ทางการให้ข้อมูลอีกอย่างซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของครอบครัวและตัวแทนคนอื่นๆ

แม้จะเป็นประเด็นปัญหาที่มีคนสนใจทั่วโลก แต่ทางการเม็กซิโกกลับไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับเบาะแสทุกประการในคดี โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่น่ากังวลว่ามีเจ้าหน้าที่ของกองทัพเข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี พวกเขาพบว่ามีความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นกับแก๊งอาชญากรรม

นักศึกษา ครอบครัวและพลเมืองชาวเม็กซิกันจากทุกชนชั้นต่างออกมาประท้วงนับแสนคน เพื่อเรียกร้องให้มีปฏิบัติการ 

โอมาร์ เพื่อนของนักศึกษาเหล่านี้กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา

“รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีรับผิดชอบใด ๆ เลย มีแต่แสดงท่าทีที่ไม่เคารพและไม่ใส่ใจความรู้สึกของเรา ผมรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่หวาดกลัว เราจะยังไม่ยุติการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม” เขากล่าว 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดกิจกรรมรณรงค์เขียนจดหมายเป็นภาษาสเปน กระตุ้นให้ประธานาธิบดีเม็กซิโกดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อกรณีการสูญหายของบุคคลหลายพันคน

เอเชีย – ศรีลังกา 

เชื่อว่ามีผู้สูญหายหลายหมื่นคนในช่วงสงครามระหว่างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬกับกองทัพซึ่งยุติลงเมื่อปี 2551 รวมทั้งในช่วงปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายซ้ายในช่วงปี 2532-2533 มีการคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่คดี และมีรายงานการข่มขู่ครอบครัวที่กล้าออกมาตั้งคำถามเพื่อให้ได้รับข้อมูลว่าบุคคลอันเป็นที่รักของตนอยู่ที่ใด

รัฐบาลหลายชุดตั้งแต่ปี 2533 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีการกล่าวหาเอาผิดกับนักการเมืองชั้นนำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งของตำรวจและทหาร อย่างไรก็ดี ทางการแทบไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเหล่านี้ และบุคคลที่ถูกกล่าวหาบางส่วนยังคงดำรงตำแหน่งเดิม ทั้งๆ ที่ควรถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

แม้ในช่วงที่สงบสุข การสูญหายของบุคคลยังคงเกิดขึ้นต่อไป Prageeth Egnalikoda นักเขียนการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ตกเป็นเหยื่อการสูญหายไม่นานหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 

Sandya ภรรยาของเขาแจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมและมีการนำตัวคนผิดมาลงโทษกลายเป็นการต่อสู้ที่สำคัญในชีวิต

“บุคคลซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวเราหายตัวไป ทำให้พวกเราขัดสนด้านการเงินมาก ดิฉันยังต้องทำตัวเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูก เป็นการต่อสู้ร่วมกันของหลายครอบครัวซึ่งมีบุคคลผู้สูญหาย” เธอกล่าว 

เราจัดการรณรงค์ให้ชาวศรีลังกาทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศร่วมกันแข่งขันเขียนบทกวีเพื่อรำลึกทศวรรษของการสูญหายของบุคคลที่มีชื่อว่า “เงาเงียบ” (Silenced Shadows) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาส่งอีเมล์ไปที่ info.poetry@amnesty.org 

ยุโรป – บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

 

 

ยังมีบุคคลที่ไม่ทราบชะตากรรมกว่า 8,000 คน ภายหลังสงครามในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในช่วงทศวรรษ 1990 แม้จะผ่านไปสองทศวรรษแล้ว ทางการทั่วประเทศยังคงสร้างความผิดหวังให้กับครอบครัวของผู้สูญหาย รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผู้สูญหายอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้รัฐต้องค้นหาผู้สูญหาย และต้องจัดตั้งกองทุนที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนผู้เป็นเหยื่อและครอบครัว

“กฎหมายมีอยู่แต่ในกระดาษ ไม่มีใครเคารพกฎหมายนั้น” Zumra Sehomerovic รองประธานขบวนการแม่แห่งเซรบานิซาและเซปา (Movement of Mothers of the Srebrenica and Žepa enclaves) กล่าว

“เมื่อเราไปหาเจ้าหน้าที่ เช่นถ้าไปแจ้งว่ามีคนหายในพื้นที่เพื่อขอใบรับรอง พวกเขาจะไม่ค่อยใส่ใจกับเราสักเท่าไร”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประธานของคณะรัฐมนตรีแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ดูแลให้ทางการค้นหาผู้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายจากสงครามทุกคน และให้การช่วยเหลือเยียวยากับญาติของพวกเขา 

ผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้สามารถเขียนจดหมายไปถึงประธานได้ที่นี่ 

แอฟริกา – แกมเบีย 

ผู้สื่อข่าวในหลายประเทศในแอฟริกาต้องเผชิญกับการข่มขู่และการฟ้องคดีจากรัฐบาล รัฐบาลที่เผด็จการมากสุดแห่งหนึ่งคือรัฐบาลแกมเบีย ในเดือนเมษายน 2547 ประธานาธิบดี Yahya Jammeh เรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล “ไม่อย่างนั้นก็ไปลงนรกซะ” 

ในเดือนกรกฎาคม 2549 มีรายงานว่า Ebrima Manneh ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Daily Observer ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุม ภายหลังมีการตีพิมพ์ซ้ำรายงานของบีบีซีซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีไม่นานหลังการประชุมสหภาพแอฟริกาที่กรุงบานิจูล เพื่อนร่วมงานเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนจับกุม

หลังจากที่พ่อของเขาและเพื่อนนักข่าวพยายามค้นหาตัวเขาหลายครั้ง รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมตัวเขา และไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ใด 

ในปี 2551 ศาลยุติธรรมแห่งชุมชนของประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States) มีคำสั่งว่า การจับกุมและควบคุมตัวเขาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้ทางการแกมเบียปล่อยตัวเขาโดยทันที ทั้งยังสั่งให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่เขาเป็นเงินจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาล

รัฐบาลแกมเบียยืนยันว่าได้ค้นหาตามเรือนจำต่างๆ และไม่พบร่องรอยของเขา อย่างไรก็ดี รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า เขาได้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาอยู่ที่สถานีตำรวจเฟโตโต้ในภาคตะวันออกของแกมเบีย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาอยู่ที่ใด 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ