ร้องอำนวยความยุติธรรม 7 ปี ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่เพียง 1 ราย กรณีอิหม่ามยะผาเสียชีวิต

ร้องอำนวยความยุติธรรม 7 ปี ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่เพียง 1 ราย กรณีอิหม่ามยะผาเสียชีวิต

23 ก.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยแพร่แถลงการณ์ ตั้งคำถามถึงการเข้าถึงความยุติธรรม ป.ป.ช.ใช้เวลา 7 ปี ชี้มูลเจ้าหน้าที่ทหารเพียงหนึ่งนายมีส่วนในการทรมาน กรณีอิหม่ามยะผาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว

แถลงการณ์
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมตั้งคำถามถึงการเข้าถึงความยุติธรรม 
ป.ป.ช.ใช้เวลา 7 ปี ชี้มูลเจ้าหน้าที่ทหารเพียงหนึ่งนายมีส่วนในการทรมาน 
กรณีอิหม่ามยะผาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว

การเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็งเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 19 มีนาคม 2551 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าตรวจค้นพื้นที่ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคน หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวนั้นคือนายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดรอฮีมะห์ บ้านกอตอ หมู่ที่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ต่อมาเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2551 พบว่านายยะผาได้เสียชีวิตลงในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งขณะนั้นตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่วัดสวนธรรม ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

ต่อมาจากการไต่สวนของศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อช.9/2551 หมายเลขแดงที่ อช.19/2551พบว่าการเสียชีวิตของนายยะผานั้นเกิดจากการที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2558 จากการพิจารณาของ ป.ป.ช. คดีเลขดำที่ 01-2-115/2552 เลขแดงที่ 120-2-5/2558 ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า เจ้าหน้าที่ทหารผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำผิดจากทั้งหมด 5 คน นั้นมีเพียง 1 คน ที่อาจเป็นผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 คน นั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าได้ร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา

ภายหลังจากการเสียชีวิต ครอบครัวของนายยะผาได้เรียกร้องความยุติธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มาโดยตลอดทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ในทางแพ่งทางครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจากหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 5.2 ล้านบาทโดยการไกล่เกลี่ยในศาลแพ่งกรุงเทพเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ส่วนในทางอาญาเบื้องต้นความหวังของการนำคนผิดมาลงโทษ ในส่วนญาติได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีเพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ 

หลังจากที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นายว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง จนเสียชีวิต จึงส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนดำเนินคดี โดยส่งไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 แต่การดำเนินการของ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความล่าช้า ญาติจึงได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง แต่เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ศาลไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นการกล่าวหาจำเลยที่เป็นทหารว่ากระทำความผิด การพิจารณาคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งญาติของนายยะผา กาเซ็ง ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลทหารได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เฉพาะอัยการทหารเท่านั้นที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทหารที่ตกเป็นผู้ต้องหาต่อศาลทหารได้

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและครอบครัวผู้เสียหายได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของพนักงานสอบสวน สภ.รือเสาะ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

1.การพิจารณาของ ป.ป.ช. คดีเลขดำที่ 01-2-115/2552 เลขแดงที่ 120-2-5/2558 ที่ใช้เวลากว่า 7 ปีนั้นล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ โดย ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า เจ้าหน้าที่ทหารผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำผิดจากทั้งหมด 5 คน นั้นมีเพียง 1 คน ที่อาจเป็นผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 คน นั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าได้ร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา

2.จากการติดตามกรณีการเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็ง พบว่าผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. นั้นไม่สอดคล้องกับคำให้การของพยานในคดีไต่สวนชันสูตรศพนายยะผา กาเซ็ง ของศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพยานได้ระบุว่าเห็นผู้กระทำผิดคนอื่นด้วย ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าผู้กระทำผิดในครั้งนั้นมีมากกว่าหนึ่งคน ทั้งพฤติกรรมของการทรมาน ทำร้ายร่างกายในระหว่างการคุมขัง 2 วัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่การทำร้ายร่างกายจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการร่วมมือ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่หลายคนและผู้บังคับบัญชา แต่ทาง ป.ป.ช. กลับชี้ว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทหารอีก 4 คน ทำให้ญาติตั้งข้อสงสัยต่อความมีประสิทธิภาพ ความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการสอบสวนของ ป.ป.ช.

3.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอตั้งขอสังเกตต่อการที่พนักงานสอบสวน สภ.รือเสาะ ส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. โดยอ้างว่าการทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารจนเสียชีวิตนั้น แทนที่จะส่งสำนวนให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ต้องหาต่อศาลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (5) ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย กลับถือว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของญาติผู้ตายว่าอาจเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนสอบสวน หรือเจตนาหน่วงเหนี่ยวคดีให้ล่าช้า เพื่อเปิดโอกาสให้มีการบิดเบือนคดีหรือไม่ ทั้งนี้จากการที่เจ้าหน้าที่ทหารทรมาน ทำร้ายร่างกายจนทำให้นายยะผาเสียชีวิตนั้น น่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (5) ซึ่งมีโทษประหารชีวิต มากกว่าที่จะเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.

4.หากมีการดำเนินคดีถูกกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนในศาลทหารนั้นเป็นการปิดโอกาสที่จะให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติของนายยะผา กาเซ็ง เข้าไปเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดี ญาติไม่สามารถเสนอพยานหลักฐานต่อศาลได้ ผู้กระทำผิดรายอื่นลอยนวลพ้นผิด เหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่าในที่สุดญาติพี่น้องของ นายยะผา กาเซ็ง ประชาชนทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสาธารณะชนที่ติดตามคดีสะเทือนขวัญนี้มากว่า 7 ปี ก็ไม่สามารถแสวงหาความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมไทยได้ ปัญหานี้อาจส่งผลเสียหายต่อความพยายามของรัฐบาลและประชาชนในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
5.การที่ทางการไทยปล่อยปละละเลยให้มีการทรมานนายยะผา กาเซ็ง กระทั่งน่าเชื่อได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชารู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งการสอบสวนดำเนินคดีที่ขาดความโปร่งใส เสียงเรียกร้องและการมีส่วนร่วมในการดำเนินคดีของผู้เสียหายถูกปฏิเสธ จนทำให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดลอยนวลมานับเป็นเวลากว่า 7 ปีหรือตลอดไป ถือว่าเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานอย่างชัดเจน

บทเรียนจากการเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็งนั้นยังพบว่าข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้คนผิดยังคงลอยนวล ญาติของผู้ตายนั้นไม่อาจดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ ทำให้ไม่มีการทบทวนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิบัติราชการในหน้าที่ได้กระทำการเหมาะสมกับเหตุการณ์หรือไม่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงใคร่ขอเสนอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานในการอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริงและการดำเนินงานของแต่ละองค์กรควรมีทิศทางและดำเนินงานที่เป็นอิสระ รวดเร็ว และเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ