ร้องผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ช่วยชาวบ้านโดนไล่รื้อไม่เยียวยากรณีป่าดงใหญ่ ทั้งพ.ร.บ.ทางหลวง ตามไล่เพิงพักขายของ

ร้องผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ช่วยชาวบ้านโดนไล่รื้อไม่เยียวยากรณีป่าดงใหญ่ ทั้งพ.ร.บ.ทางหลวง ตามไล่เพิงพักขายของ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ช่วยกลุ่มชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ถูกผลักดันออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ตามนโยบาย คสช. เผยชาวบ้าน 46 ครอบครัว ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งชาวบ้าน 12 ครอบครัวที่ออกมาอาศัยแผงขายสินค้าเป็นเพิงพัก ถูกคำสั่งแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ให้เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ภายใน 15 วัน

28 ก.ค. 2558 กรณีชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เมื่อเดือน ก.ค. 2557 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในปี 2557 ซึ่งเป็นนโยบายในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าตามแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนของ คสช. แต่กลับส่งผลให้เกิดการทำลายพืชผลและการบังคับโยกย้าย ทำให้ชาวบ้านจำต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งทำกิน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งหนังสือเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2558 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์หาทางออก เนื่องจากนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โดย ชาวบ้านจำนวน 46 ครอบครัว ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินและปัจจุบันไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ และขณะนี้ชาวบ้านจำนวน 12 ครอบครัวที่อาศัยแผงขายสินค้าเป็นเพิงพักอาศัยกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำสั่งของเข้าแขวงทางหลวงบุรีรัมย์มากดดันให้เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการออกหนังสือวันที่ 21 ก.ค.2558

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2558 ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้านผู้ถูกผลักดันออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ว่าได้รับหนังสือจากทางแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ฉบับลงวันที่ 21 ก.ค. 2558 ขอให้ชาวบ้านรื้อย้ายเพิงพักขายสินค้าออกไปให้พ้นเขตทางหลวงในเขตทางหลวงหมายเลขที่ 348 ตอน ช่องตะโก-น้อยสะแก ซึ่งอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ประกอบกับ พ.ร.บ.ทางหลวง(ฉบับที่2) พ.ศ. 2549 มาตรา 38 หากทางแขวงทางหลวงบุรีรัมย์พบว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวยังไม่มีการรื้อย้ายออกไปภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมานั้นทางแขวงบุรีรัมย์จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อีกทั้ง จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกลุ่มนี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามากดดันให้เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 ก.ค. 2558 ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ทางแขวงทางหลวงบุรีรัมย์มีหนังสือแจ้งมายังกลุ่มชาวบ้าน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นว่า ภายใต้การดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายการปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าจึงได้มีการอนุมัติแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน คสช.จึงได้อาศัยจังหวะดังกล่าวมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/ 2557 และ 66/2557 ในการปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าแต่จากนโยบายดังกล่าวกลับทำให้เกิดการทำลายพืชผลและการบังคับโยกย้าย ทำให้ชาวบ้านจำต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งทำกินของพวกเขาจากกรณีพิพาทกันมาหลายสิบปีในเรื่องสิทธิการถือครองและการจัดสรรให้ทำกินจากนโยบายในอดีต
 
นอกจากนั้นทาง คสช.ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ มารองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ไร้ซึ่งที่พักพิงและแหล่งทำกินกลายเป็นกลุ่มบุคคลเร่ร่อน 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า จากวันนั้นจวบจนถึงทุกวันนี้หนึ่งปีผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้มีการต่อสู้กับฝันร้ายที่เขาต้องพบเจอนับครั้งไม่ถ้วนมิหนำซ้ำทางภาครัฐเองยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ และหน่วยงานใดเข้ามาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับปล่อยให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพังเป็นดั่งผู้เร่ร่อนไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยที่พวกเขาควรจะต้องมี ไร้ซึ่งแหล่งทำมาหากิน ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

ข้อมูลลำดับเหตุการณ์ โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการผลักดันชาวบ้านจำนวน 700-800 คนออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายหลังจากชาวบ้านได้ถูกผลักดันออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ปรากฏว่ากลุ่มชาวบ้านได้มีการแยกกันเป็นสองกลุ่ม ส่วนหนึ่งไปอาศัยอยู่สวนยางพารา ทางเข้าหมู่บ้านคะนิงจำนวน 19 ครัวเรือน (บางส่วนอาศัยอยู่ที่พักสงฆ์นิมิตประทานพร หัวเขื่อน) และอีกส่วนหนึ่งได้ไปพักอยู่ที่ศาลาวัดลำนางรอง จำนวนประมาณ19 ครอบครัว 

ต่อมากลุ่มที่ไปพักอยู่ที่ศาลาวัดลำนางรองกลับถูกชาวบ้านในพื้นที่บริเวณรอบวัดต่อต้าน และปรากฏข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายว่ามีทหารภายในพื้นที่เข้ามากดดันกับทางวัดให้ดำเนินการให้ชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยกับทางวัดออกไปจากพื้นที่วัด กลุ่มชาวบ้านดังกล่าวจึงจำต้องเคลื่อนย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ทอผ้ากลุ่มสตรีอนุรักษ์ทอผ้าพื้นเมืองบ้านลำนางรองและต่อมากลุ่มดังกล่าวนี้เมื่ออยู่นานไปทำให้ขาดรายได้จึงต้องขยับขยายตัวออกไปตั้งเพิงขายของบริเวณทางหลวงโนนดินแดง – ตาพระยา

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยแพร่ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยภายหลังที่ได้ร่วมรับฟังข้อมูลในเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการไทยจำนวนกว่า 20 คนที่เดินทางมาร่วมเวทีในวันที่ 4-5 มิถุนายน โดยระหว่างการพูดคุยหนึ่งในคณะกรรมการ 18 คน ได้สอบถามถึงการบังคับขับไล่ชาวบ้านกรณีบ้านโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ว่า

ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงสรุปอย่างเป็นทางการและเผยแพร่ในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 นี้ และได้จัดส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะทูตไทยประจำนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของสหประชาชาติ โดยระบุในเอกสารฉบับที่ United Nations E/C.12/THA/CO/1-2 ของคณะกรรมการเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ ว่า
 
“คณะกรรมการฯ กังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หลังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในปี 2557 ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายพืชผลและการบังคับโยกย้าย คณะกรรมการแนะนำให้รัฐภาคีปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งปวงที่จำเป็นรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายและกรอบนโยบาย ทั้งนี้เพื่อ ประกันให้มีการใช้วิธีไล่รื้อเป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และบุคคลที่ถูกบังคับโยกย้ายออกจากพื้นที่ต้องได้รับค่าชดเชยอย่างเพียงพอ และ/หรือได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการ ฉบับที่ 4 (2534) เกี่ยวกับสิทธิการมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ และฉบับที่ 7 (2540) ว่าด้วยการไล่รื้อ”

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ทางคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่าไม้ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวด้วยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีการเข้ามาช่วยเหลือกับกลุ่มชาวบ้านที่ถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ที่ยังไม่ได้การเยียวยา แต่เป็นว่าทางจังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้จัดการประชุมหารือในเรื่องของกลุ่มผู้ถูกผลักดันจากป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่แล้ว กลับมีมติของที่ประชุมให้ทางแขวงบุรีรัมย์ดำเนินการกับกลุ่มชาวบ้านผู้ถูกขับไล่จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ออกไปจากพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงบุรีรัมย์

 

 

20152807163647.jpg

ภาพ: 27 ก.ค.2558 ชุดสนธิกำลังบุรีรัมย์ปฏิบัติการเต็มอัตราโค่นพืชผลอาสินปลูกบุกรุกป่าดงใหญ่เขตมรดกโลก เร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับคืน 
ที่มา: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ว่า วันที่ 27 ก.ค. 2558 พลตรีเดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบุรีรัมย์ พร้อมนายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง นำกำลังเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานกว่า 200 นาย ตัดโค่นต้นยางพารา 96 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง ถูกบุกรุกปลูกยางพาราและที่พักอาศัย หลังจากได้แจ้งความดำเนินคดีทางอาญากับผู้บุกรุก และศาลได้มีคำสั่งให้รื้อถอนพืชผลอาสิน ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนคืนความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำและแหล่งอาศัยของสัตว์

พลตรีเดชอุดม กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่มีเนื้อที่ 195,486 ไร่ มีพื้นที่ป่าที่เตรียมผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ 18,875 ไร่ อยู่ในเขต ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,845,000 ไร่ หรือ 6,152 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2548 เนื่องจากยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญหลายสาย และสัตว์ป่าหลากหลายชนิด จึงต้องอนุรักษ์ไว้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ