2 ธ.ค. 2558 เครือข่ายประชาชนผู้ไร้สิทธิ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เรื่อง ‘ทบทวนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างการพัฒนาที่เป็นธรรม’ ลงวันที่ 30 พ.ย. 2558
จากเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการสัมมนาสาธารณะ ‘เสียงจากคนไร้สิทธิ์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเบ็ดเสร็จ: เมื่อประชาชนถูกบังคับให้พัฒนา’ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต สรุปผลข้อเท็จจริงจากพื้นที่พบว่า การดำเนินการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีลักษณะที่เป็นปัญหาร่วม คือ ความไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล
จดหมายระบุ ตอนหนึ่งว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อภาพลักษณ์รัฐบาลและคณะ คสช.ที่มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปบ้านเมืองสู่ความสงบสุข แต่การใช้ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เป็นอยู่ ต่อกรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่ได้เอื้อต่อความมั่นคง ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ แต่กลับมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
จดหมายระบุข้อเสนอ 6 ข้อ อาทิ ให้ทบทวนนโยบายหรือชะลอการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจัดให้มีการทบทวนพื้นที่ แผนงาน และกิจการที่จะส่งเสริมการลงทุน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมระบุให้พิจารณาการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างรอบคอบ เฉพาะกิจการที่จำเป็นเพื่อความสามัคคี สมานฉันท์ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
จดหมายเปิดผนึกมีรายละเอียด ดังนี้
จดหมายเปิดผนึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง ทบทวนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างการพัฒนาที่เป็นธรรม ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 5 จังหวัดได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ระยะที่ 2 จำนวน 5 จังหวัดได้แก่ เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส เครือข่ายประชาชนผู้ไร้สิทธิ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นำเสนอข้อเท็จจริงจากพื้นที่ ในการสัมมนาสาธารณะ “เสียงจากคนไร้สิทธิ์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเบ็ดเสร็จ เมื่อประชาชนถูกบังคับให้พัฒนา” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต พบข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีลักษณะที่เป็นปัญหาร่วมคือ ความไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล ดังนี้ 1) นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาจไม่มีความเหมาะสมกับบริบทปัญหาสังคมความต้องการพื้นฐานและรากฐานทางวัฒนธรรมประเทศไทย 2) การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ไม่ได้คำนึงเป้าหมายที่จะยังประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างชัดเจนที่มีความเป็นเหตุผลเพียงพอ 3) ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตั้งแต่ประชาพิจารณ์ที่มีลักษณะเร่งรีบ ประชาชนรับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว คือ เฉพาะด้านที่เป็นคุณต่อการยอมรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ได้รับรู้ด้านผลกระทบเสียหายแก่วิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน 4) การจัดหาที่ดินเพื่อเร่งจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขาดการวางระบบระเบียบกฏเกณฑ์อย่างรอบคอบที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5) การมีลักษณะอาศัย มาตรา 44 เป็นเครื่องมือ เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มอิทธิพล การเมืองท้องถิ่น และกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ต้องการได้ประโยชน์จากการเก็งกำไรและค้าที่ดิน 6) พื้นที่ที่คัดเลือกมีทั้งพื้นที่สาธารณะที่มีคนยากจนและด้อยโอกาสได้พึ่งอาหารจากป่า อันเป็นปัจจัยความมั่นคงอาหาร และบางพื้นที่มีความขัดแย้งเรื่องที่ดินถือครองโดยไม่มีการพิสูจน์สิทธิอย่างถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 7) การมีแนวโน้มที่จะยกเลิกกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานการพัฒนาที่จะนำพาประเทศสู่ความยั่งยืน 8) การกำหนด 13 กิจการที่จะส่งเสริมการลงทุน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งเอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่ และนักลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 9) การทบทวนและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการจัดกลุ่มจังหวัดสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Super Cluster) มีผลกระทบต่อพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นรากฐานวิถีชีวิตไทยที่ดีงามและมีความสุข โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่สอดรับกับเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อภาพลักษณ์รัฐบาลและคณะ คสช.ที่มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปบ้านเมืองสู่ความสงบสุข แต่การใช้ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เป็นอยู่ต่อกรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่ได้เอื้อต่อความมั่นคง ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและทิศทางการพัฒนาของพื้นที่แต่กลับมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตามวัตถุประสงค์ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และหลักเศรษฐกิจพอเพียง องค์กรประชาชนตามรายนามด้านล่าง จึงขอให้ท่านได้พิจารณาและสั่งการให้มีการดำเนินการเพื่อให้การพัฒนาก่อประโยชน์สุขแก่คนไทยทุกคน 1.ทบทวนนโยบายหรือชะลอการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจัดให้มีการทบทวนพื้นที่ แผนงาน และกิจการที่จะส่งเสริมการลงทุน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักประชารัฐหรือนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องทำหน้าที่อำนวยการ สร้างการมีส่วนร่วมในนโยบายแห่งรัฐ ที่ประเทศไทยได้ปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอด 2.การปรับปรุงผังเมืองต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ประชาชนมีส่วนร่วม และคงหลักการไม่มีอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว ซึ่งต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับสิทธิของประชาชนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งบังคับใช้กฎหมาผังเมืองอย่างเคร่งครัด 3.ทบทวนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง เป้าหมายหรือออกแบบการพัฒนาร่วมกัน และให้มีกลไกตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกลไกดำเนินงานในทุกระดับ 4.ยุติและมีคำสั่งให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ยุติ การข่มขู่คุกคามประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการแย่งยึดที่ดิน ขับไล่ประชาชนออกจากหมู่บ้าน 5.พิจารณาการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างรอบคอบ เฉพาะกิจการที่จำเป็นเพื่อความสามัคคี สมานฉันท์ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 6.ในระยะเฉพาะหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6.1 จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งด้านการจัดหาที่ดินกรณีบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 6.2 ติดตามและตรวจสอบปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดหาที่ดินเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย และจังหวัดตาก รวมทั้งพื้นที่อื่นหรือที่กำลังจะดำเนินการ เช่น ป่าชุ่มน้ำที่ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ 6.3 การยืนยันให้กิจการในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องจัดให้มีการศึกษา ขอแสดงความนับถือ กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น |