16 เม.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ครบรอบหนึ่งปี ใครต้องรับผิดชอบต่อการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายไปของบิลลี่ที่ล้มเหลว ระบุ จากการติดตามกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งจากคณะทำงานเรื่องคนหายขององค์กรสหประชาชาติและคณะกรรมการขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานได้ติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสืบสวนสอบสวนคดีอย่างล่าช้า อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอิสระ แม้เจ้าหน้าที่บางคนจะพยายามสืบสวนสอบสวน แต่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจัง
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การส่งสำนวนไปที่ปปท. เป็นการดำเนินการที่เบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนสอบสวนที่เป็นสาระสำคัญของการคลี่คลายคดีคนหาย เลี่ยงการต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในการสืบหาบุคคลสูญหาย เพราะการสอบสวนของ ปปท.เป็นเพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคนละประเด็นกับการสอบสวนกรณีบังคับบุคคลให้สูญหาย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุข้อเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบต่อการสืบสวนสอบสวนที่ไม่เป็นผลนี้ โดยการดำเนินการอย่างถึงเร่งด่วน อย่างจริงจังและสุดความสามารถในการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของนายพอละจีหรือบิลลี่ พร้อมกันนั้นให้เปิดเผยข้อเท็จจริงจากสืบสวนสอบสวนกับญาติอย่างเป็นทางการ เพื่อเคารพต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของญาติผู้เสียหาย
“นอกจากนี้ จากคดีการบังคับให้สูญหายเช่นกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีนายบิลลี่ข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้คนผิดยังคงลอยนวลญาติไม่ได้รับการเยียวยา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอให้รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้กรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและแม้ว่าจะไม่สามารถพบศพของผู้สูญหายได้ก็ตามโดยเร็ว” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ วันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่นายพอละจีหรือบิลลี่ รักจงเจริญได้ถูกบังคับให้หายตัวไป เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานได้รับแจ้งในวันที่ 18 เมษายน 2557 ว่านายพอละจีได้หายไปโดยญาติพี่น้องคาดว่าจะถูกบังคับให้หายสาบสูญ ต่อมากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีเพื่อคลี่คลายคดีนี้ โดยมีข้อมูลและพยานหลักฐานว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ควบคุมตัวนายพอละจีไป แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้ว นับแต่วันดังกล่าวเป็นเวลา 9 เดือนแล้วแต่ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีได้ แม้มีพยานบุคคลและพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนบังคับให้นายพอละจีหายไปโดยไม่มีการปล่อยตัวตามที่นายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติแก่กระจานกล่าวอ้าง กรณีดังกล่าวอาจมีการซ่อนเร้นทำลายศพรวมทั้งมอเตอร์ไซค์ที่เกิดจากการกระทำของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ การหายตัวไปของนายพอละจีเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เกิดขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัยของตนเอง ครอบครัวและชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาเป็นระยะเวลาเป็น 100 ปี ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ติดตามความคืบหน้าคดีนี้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นเอกสารที่ตช. 0022.173/2135 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 พร้อมแนบบันทึกข้อความที่ ตช. 0022 (พบ) 63/ 632 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 มีเนื้อหาแต่เพียงว่า ทางพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งสำนวนสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) โดยปปท. ได้รับเรื่องกล่าวโทษนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรจากสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 (คดีปปท.ที่ 2013/57) ในหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ขณะนั้นระบุว่าคดีนี้ทางตำรวจภูธรภาค 7 ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสนใจ … ประกอบกับมีพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงในคดีที่จะต้องรวบรวมเป็นจำนวนมาก… และได้ส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนเป็นเอกสารจำนวน 364 แผ่นเพื่อรวมสำนวน จากการติดตามกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ หลายแห่งรวมทั้งจากคณะทำงานเรื่องคนหายขององค์กรสหประชาชาติและคณะกรรมการขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานได้ติดตามอย่างใกล้ชิด นั้นพบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายพอละจีหรือบิลลี่ รักจงเจริญเป็นไปอย่างล่าช้า อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอิสระ แม้เจ้าหน้าที่บางคนจะพยายามสืบสวนสอบสวน แต่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจัง การส่งสำนวนไปที่ปปท. เป็นการดำเนินการที่เบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนสอบสวนที่เป็นสาระสำคัญของการคลี่คลายคดีคนหาย เลี่ยงการต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในการสืบหาบุคคลสูญหาย เพราะการสอบสวนของ ปปท.เป็นเพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคนละประเด็นกับการสอบสวนกรณีบังคับบุคคลให้สูญหาย ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รับผิดชอบต่อการสืบสวนสอบสวนที่ไม่เป็นผลนี้โดยการดำเนินการอย่างถึงเร่งด่วน อย่างจริงจังและสุดความสามารถในการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของนายพอละจีหรือบิลลี่ พร้อมกันนั้นให้เปิดเผยข้อเท็จจริงจากสืบสวนสอบสวนกับญาติอย่างเป็นทางการเพื่อเคารพต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของญาติผู้เสียหาย อย่างไรก็ดีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวอาจประสบกับความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน อิทธิพลท้องถิ่น ความหวาดกลัวของพยาน ภูมิประเทศของสถานที่เกิดเหตุ เป็นต้น แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรมและเป็นที่พึ่งของญาติ เพื่อน และประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการที่จะพิสูจน์ได้ว่าประเทศไทยมีความจริงใจ ในการใช้ศักยภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถในการคลี่คลายคดีสำคัญดังกล่าว นอกจากนี้ จากคดีการบังคับให้สูญหายเช่นกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีนายบิลลี่ข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้คนผิดยังคงลอยนวลญาติไม่ได้รับการเยียวยา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอให้รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้กรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและแม้ว่าจะไม่สามารถพบศพของผู้สูญหายได้ก็ตามโดยเร็ว |