ร้อง กสทช. เร่งคืนคลื่นความถี่ ตั้ง ‘สำนักวิทยุชุมชน’ ดูการให้ใบอนุญาต

ร้อง กสทช. เร่งคืนคลื่นความถี่ ตั้ง ‘สำนักวิทยุชุมชน’ ดูการให้ใบอนุญาต

NBTC Policy Watch เสนอรายงานการศึกษา ชี้กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนของ กสทช. ลิดรอนสิทธิ-เสรีภาพการสื่อสารของชุมชน ไม่นำไปสู่การปฏิรูปสื่อที่ควรจะเป็น พร้อมเสนอเรียกร้องให้ กสทช. เร่งคืนคลื่นความถี่ระบบเอฟ-เอ็ม และนำมาจัดสรรใหม่ ปรับกระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง ตั้ง “สำนักวิทยุชุมชน” ดูแลโดยตรง รวมทั้งจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนวิทยุชุมชนตามกฎหมาย

19 มิ.ย.2558 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) นำเสนอรายงานการศึกษาเรื่อง “กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนของ กสทช.” โดย ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ นักวิจัยโครงการ NBTC Policy Watch

ศริณทิพย์ นำเสนอว่า “วิทยุชุมชน” เป็นรูปธรรมของการปฏิรูปความเป็นเจ้าของสื่อที่ชัดเจนที่สุด และหมายถึง “วิทยุประเภทบริการชุมชน” ตามนิยามของ กสทช. ที่ว่า ต้องดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไรในเชิงธุรกิจ และตอบสนองประโยชน์สาธารณะของชุมชนเป็นหลัก ถูกเหมารวมและเข้าใจผิดไปว่าเป็นวิทยุการเมืองเรื่องสี เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกในสังคม และเป็นวิทยุขนาดเล็กโฆษณาสินค้าผิดกฎหมาย จนทำให้วิทยุชุมชนถูกลดคุณค่าทางสังคมลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทั้งนี้เพราะการกำกับดูแลที่ผิดพลาดของรัฐในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนวิทยุชุมชนภายใต้เงื่อนไขที่สามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที หรือการลงทะเบียนวิทยุรายใหม่ทั้งหมดภายใต้ชื่อวิทยุชุมชน เป็นต้น และการกำกับดูแลที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบกิจการของ กสทช. ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ กสทช. เลือกปฏิบัติในการกำกับดูแลวิทยุเอฟ-เอ็มในประเทศไทยด้วย 2 วิธีที่แตกต่างกัน คือวิทยุเอฟ-เอ็มรายเดิม จำนวน 524 สถานี ที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานทางเทคนิค ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกับ กสทช. และดำเนินธุรกิจอยู่ในขณะนี้ ให้แจ้งรายละเอียดข้อมูลการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ไปยัง กสทช. แจ้งมาแล้วจำนวน 509 สถานี โดย กสทช. จะพิจารณามูลเหตุของความจำเป็น และระยะเวลาในการถือครองคลื่นที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ (2558)

ในขณะที่วิทยุเอฟ-เอ็มรายใหม่ทั้ง 3 ประเภทกิจการ จำนวนกว่า 6,601 สถานี ต้องเข้าสู่ “กระบวนการขออนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง” ภายใต้มาตรฐานทางเทคนิคแบบเดียวกัน เพื่อรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการอายุ 1 ปี เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการออกใบอนุญาตในอนาคต ซึ่งผู้ขออนุญาตทดลองฯ จะได้รับสิทธิในการประกอบกิจการเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่อย่างใด ต้องรอการคืนคลื่นให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะจัดสรรคลื่นใหม่ได้ 

ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตทดลองฯ ต้องขอต่อใบอนุญาตทุกๆ ปี เสียค่าธรรมเนียม และถูกจำกัดกำลังเครื่องส่งตามประกาศ กสทช. ทำให้วิทยุบริการธุรกิจ และวิทยุบริการสาธารณะ ไม่สามารถแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมกับวิทยุรายเดิมได้

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการอนุญาตทดลองฯ ยังลิดรอนสิทธิการสื่อสารของชุมชนที่ต้องการดำเนินการวิทยุบริการชุมชนอีกด้วย กล่าวคือ การพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตทดลองฯ ของ กสทช. เน้นการพิจารณาข้อมูลเอกสารเป็นเกณฑ์ ซึ่งใช้เวลานาน และไม่มีการตรวจสอบการดำเนินการจริง ส่งผลให้มีการดำเนินการผิดประเภท เช่น วิทยุชุมชนโฆษณา เป็นต้น 

นอกจากนี้ การตรวจเครื่องส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานของ กสทช. นั้น ผู้ขออนุญาตฯ ต้องไปตามศูนย์ตรวจที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมพื้นที่มากนัก และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายหมื่นบาท ไปกับการซ่อมเครื่องส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายๆ ครั้งด้วย ที่สำคัญ การขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ยังสร้างปัญหาในการหาโฉนดที่ตั้งสถานี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สถานีได้ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะในชุมชน ซึ่งได้รับความยินยอมเห็นชอบจากเจ้าของสถานที่ และคนในชุมชนอย่างดีแล้ว

ศริณทิพย์ กล่าวด้วยว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กสทช. ไม่เพียงต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เท่านั้น หากยังต้อง “ให้การสนับสนุน” ในกรณีที่ประชาชนไม่มีความพร้อมด้วย ทว่า กสทช. ผ่านทาง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่เคยให้การสนับสนุนแก่วิทยุชุมชนเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยอ้างว่า ยังไม่สามารถจัดทำหลักเกณฑ์การสนับสนุนได้แล้วเสร็จ ส่งผลให้วิทยุชุมชนจำนวนหนึ่ง “ยุติการประกอบกิจการบริการชุมชน” ไปอย่างถาวร

การกำกับดูแลวิทยุชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต และการปรับปรุงกระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เสนอให้ กสทช. ดำเนินการดังนี้

1.การจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเร่งให้วิทยุรายเดิมคืนคลื่นโดยเร็ว และนำมาจัดสรรใหม่ให้ภาคประชาชนสามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

2.การจัดโครงสร้างสายงานการบริหารและปฏิบัติการในสำนักงาน กสทช. ตามประเภทกิจการ โดยให้มี “สำนักวิทยุชุมชน” เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับวิทยุชุมชนโดยเฉพาะ ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการ พิจารณาใบอนุญาต ต่ออายุใบอนุญาต จัดทำคู่มือแนะนำผู้ประกอบการ ประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนวิทยุชุมชนในด้านต่างๆ 

3.การบริหารสำนักงานให้มีธรรมาภิบาล
ก.การทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับผู้ประกอบกิจการวิทยุรายใหม่ และองค์กรตัวแทน ประเมินผลและสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อออกแบบกระบวนการและขั้นตอนการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับวิทยุรายใหม่ทุกประเภท ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง และตอบสนองความต้องการของทั้งองค์กรกำกับดูแลและผู้ประกอบกิจการ

ข.การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการวิทยุชุมชน นอกจากจะไม่เป็นการเปิดเผยความลับของผู้ประกอบกิจการแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สังคมวงกว้างรับรู้ “การมีอยู่จริง” ของวิทยุชุมชนตามนิยามนี้ด้วย

ค.การทำงานที่โปร่งใส-ตรวจสอบได้ การเปิดเผยรายละเอียดของวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาต จะทำให้วิทยุชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง “ร่วมตรวจสอบ” เพื่อให้กลไกกำกับดูแลกันเอง / ร่วมกันเป็นจริง

4.การส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ รัฐ หรือองค์กรกำกับดูแล (กสทช.) จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเฉพาะ “สำหรับสนับสนุนวิทยุชุมชน” เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดความช่วยเหลือให้ไม่นำมาซึ่งภาวะพึ่งพิงเกินสมควร เพราะสถานีวิทยุชุมชนควรอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของชุมชน 

 

20152006024259.jpg

ที่มาภาพ: http://www.bloggang.com/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ