รำลึก 180 วันการหายไปของ“บิลลี่” จี้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิ

รำลึก 180 วันการหายไปของ“บิลลี่” จี้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิ

20142010160050.jpg

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 ที่สยามสมาคม กรุงเทพฯ มีกิจกรรม “180 วัน คิดถึงบิลลี่” เพื่อรำลึกถึงนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักสิทธิมนุษยนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 โดยภายในงานมีการจัดตั้งกองทุน “เราทุกคนคือบิลลี่” เพื่อระดมงบประมาณในการช่วยเหลือบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยการสนับสนุนของเครือข่ายภาคีต่างๆ

บรรยากาศในช่วงเช้ามีการจัดนิทรรศการเรื่องราวความเคลื่อนไหวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย การแสดงทั้ง จากโครงการคลองเตยมิวสิค และวงคีตาญชลี การแสดงละคร “เฝ้าบ้านให้ใคร” เพื่อสื่อสารวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมด้วย โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย (ส.ว.เชียงราย) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

นางเตือนใจ กล่าวว่า การตั้งกองทุนเราทุกคนคือบิลลี่ในโอกาส 180 วันคิดถึงบิลลี่ เป็นการสานเจตนารมณ์ของการทำงานอย่างเสียสละ ที่บิลลี่ร่วมขับเคลื่อนมาตลอดก่อนการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย โดยกรณีการหายตัวไปของบิลลี่สะท้อนว่า สังคมไทยยังอ่อนด้อยเรื่องการคุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์พื้นเมือง ที่ระดับสากลให้การยยอมรับกันแล้วว่ามีสิทธิเท่าเทียมกันและควรมีการปะกาศเป็นพื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะหากถูกบังคับให้สูญหายก็ต้องมีการติดตาม ขณะเดียวกันเมื่อนักสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ใด้มีการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากร หรืออยากมีส่วนร่วมกับการจัดการทรัพยากร อย่างกรณีชาวบ้านโป่งลึก -บางกลอย รัฐไทยก็ควรให้โอกาสนั้น หรือล่าสุดเรื่องข้อเสนอการประกาศป่าแก่งกระจาน ให้เป็นมรดกโลก ทางรัฐบาลไทยต้องสำรวจความคิดเห็นคนในพื้นที่และเปิดเวทีการมีส่วนร่วมของชาวบ้านด้วย

ขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประกาศพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จะเป็นมรดกโลก หรือเป็นพื้นที่อนุรักษ์อื่นก็ตาม ต้องมีเงื่อนไขพิเศษเคารพคนในพื้นที่ก่อน อย่างกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่าคนบางกลอย ดังนั้นกรณีป่าแก่งกระจาน หากจะหาทางออกเรื่องการจัดการทรัพยากรหรือการระดมความคิดเห็นชาวบ้าน ก่อนการเสนอให้เป็นมรดกโลกน่าจะทำได้ง่ายกว่าที่อื่น เพราะคนอยู่น้อย อย่างไรก็ตามก่อนข้ามไปจุดนั้น การใช้บทเรียน ที่ผ่านมาสำคัญเสมอ เช่น กรณีชาวบ้านลุกมาต่อต้านระบอบสัมปทานป่าไม้เมื่อครั้งรัฐบาลเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเอาทรัพยากรออกไปจากประเทศไทย ขณะนั้นความขัดแย้งเกิดขึ้นต่อเนื่อง เหตุที่มีสถานการณ์รุนแรงก็เพราะคนในพื้นที่ถูกปล้น ถูกบังคับให้เอาทรัพย์สินตัวเองไปให้คนอื่น ต่อมาเมื่อเกิดระบบอุทยานแห่งชาติฯ ชาวบ้านก็กลายเป็นผู้เสียประโยชน์จากการใช้ป่า รัฐใช้ป่าเพื่อการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่กลับไม่มีสิทธิ ซึ่งหากรัฐบาลยอมเปิดใจยอมรับชนพื้นเมืองบ้าง ยอมรับในข้อเสนอของบิลลี่ และนักต่อสู้อื่นๆ กรณีการมีสิทธิและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ก็อาจจะไม่ก่อความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเหมือนเช่นปัจจุบัน

ด้านนายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ครบ 180 วันบิลลี่หายตัวไป ตนอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนกฎหมายให้รองรับคนพื้นเมืองเป็นคนไทยเต็มรูปแบบ อย่างกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ก็ควรมีการคุ้มครองสิทธิ ไม่ต้องบังคับให้สูญหายไป เพราะบิลลี่มีครอบครัว มีชุมชน มีสัญชาติไทยและมีความสำนึกรักเมืองไทย ครอบครัวเขาต้องแบกรับกับภาระมากมาย ดังนั้นรัฐบาลไทยควรพิจารณาเรื่องสิทธิคนพื้นเมืองให้มากกว่าเดิม เลิกวาทกรรมการผลักดันคนพื้นเมืองเป็นคนนอกสังคมและไร้ตัวตนเสียที

“บิลลี่ไม่ใช่แค่กะเหรี่ยงหายไป บิลลี่เป็นคนไทยที่หายไป รัฐไทยจะทำเฉยๆเหรอ วันหน้าใครจะหายอีกไม่รู้ รู้แต่ว่าใครต่อสู้เพื่อสิทธิตนเอง สิทธิชุมชน เป็นต้องถูกคุกคามทันที ผมอยากให้เขาเป็นคนสุดท้ายที่หายไป แต่อยากให้มีคนอย่างเขาอีกหลายๆ คน เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทย ป่าไม้จะสูญพันธุ์ คนกะเหรี่ยงสูญหายแน่ๆ หรือไม่สูญหายก็ไม่กล้าแสดงตัวตน เพราะคัดค้านการย้ายหมู่บ้านก็ผิด อยากร่วมดูแลป่าก็ผิด ผมอยากให้ประเทศไทยทบทวนเรื่องนี้สักที” นายพฤ กล่าว

ที่มา : คนชายข่าว คนชายขอบ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ