รายการพลเมืองข่าว: กับดัก ‘เหมือง’ เรื่องข้อเท็จจริงและความเห็นต่าง

รายการพลเมืองข่าว: กับดัก ‘เหมือง’ เรื่องข้อเท็จจริงและความเห็นต่าง

20151503035830.jpg

กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระแสข่าวทิศทางการเดินหน้าของอุตสาหกรรมเหมืองในประเทศไทย จากการมอบประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชใบแรกในรอบ 30 ปี ให้กับบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ช่วยย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งยังส่งผลกระตุ้นความเคลื่อนไหวในตลาดนักลงทุนให้คึกคักขึ้น แต่การประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ก็ยังถูกตั้งคำถามจากผู้คนในพื้นที่ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ 

ขณะที่สังคมยังเต็มไปด้วยความเห็นต่างระหว่างผลกระทบและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บทเรียนที่ผ่านมาเรื่องเหมืองแร่ได้บอกอะไรกับเราบ้าง และถ้ามองในภาพที่ใหญ่ขึ้น ทุนและชุมชนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ พลเมืองข่าวพูดคุยกับ ชาติ หงส์เทียมจันทร์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมหาคำตอบ

20151503035933.jpg

ประเทศไทยมีความจำเป็นขนาดไหนในการทำเหมืองแร่?

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : ทุกวันนี้เราใช้แร่ในหนึ่งปีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในภาพรวมทั้งหมดเราจะเห็นว่า ในทุกกิจการมีแร่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของเราในปัจจุบัน จากภาพที่เราเห็น แร่ที่สำคัญที่ใช้ในประเทศโดยพื้นฐานทั่วไปคือ หินก่อสร้าง หินเคลือบปูนซีเมนต์ หินทรายแก้ว อุตสาหกรรมเซรามิค ทั้งหลาย เป็นการสนองความต้องการภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ วันนี้ ถ้าเราไม่ทำเหมืองก็ได้ แต่ทุกอย่างเราคงต้องนำเข้า มองแบบภาพรวมว่าในขณะที่เรามีทรัพยากรอยู่ เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ และถ้าหากมีการจัดการบริหารที่ดี มันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการที่เรานำเข้าจากต่างประเทศอย่างเดียว

มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ ทั้งกลุ่มที่ต้องการเหมืองฯ และไม่ต้องการเหมืองฯ ดังนั้น ก่อนเปิดเหมืองฯ ควรมีขั้นตอนการจัดการความขัดแย้งอย่างไร?

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : อาจเป็นคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้การพัฒนานี้มันยั่งยืน เราสามารถให้ประชาชนมีความยอมรับ มีความเชื่อใจในการพัฒนานั้นๆ บทเรียนที่ผ่านมา 30 ปี ของร่อนพิบูลย์ที่ปนเปื้อน หรือเหมืองอื่นๆ ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้มันสอนอะไรและเราได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ปัญหาหนึ่งของบ้านเราคือเรื่องของปัญหาความเชื่อใจ และปัญหาการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็น 2 ปัญหาที่แก้ยากมาก 

กลายเป็นว่าข่าวที่ออกมาเป็นการที่ชุมชนไม่เชื่อใจเหมืองฯ แต่ที่จริงแล้วเหมืองฯ เองก็ไม่เชื่อใจชุมชนเช่นกัน และก็ยังมีกรณีที่ชุมชนไม่เชื่อใจ กพร. ในเมื่อทุกคนทุกฝ่ายต้องการการพัฒนาเหมือนกัน ทำไมถึงไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันหรือเป็นพวกเดียวกันได้ ทำไมจึงต้องเป็นฝั่งเป็นฝ่าย ทั้งหมดในมุมมองของนักวิชาการ มันอยู่ที่ความไม่เชื่อใจในการตัดสินใจหรือข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน 

มันเลยย้อนกลับมาว่า แล้วก่อนการเปิดเหมืองน่าจะต้องมีการทำข้อมูลอะไรบ้างที่ครบถ้วนและช่วยเหลือในประเด็นเหล่านี้ไปได้ ในตอนแรกที่ได้ข่าวว่าจะมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.เหมืองแร่ใหม่ มีความรู้สึกยินดีเพราะเห็นว่ามีอีกหลายจุดที่เราน่าจะเรียนรู้ อันที่จริงคืออยากให้มี เพราะในต่างประเทศมีเรื่องของการประเมินความเสี่ยงก่อน ต้องยอมรับว่าพื้นที่ที่เป็นศักยภาพแร่จะได้คุยทดลองกันว่า มันมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากสารอันตรายหลายตัวที่เรากลัวกันอยู่แล้วหรือโลหะหนักบางตัวที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ

20151503040021.jpg

ความเข้าใจที่ว่าสารปนเปื้อนมากมายมาจากกระบวนการการทำเหมืองแร่ เป็นความเข้าใจที่ผิดหรือเปล่า?

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : อาจถูกครึ่งหนึ่ง หรืออาจถูกทั้งหมดก็ได้ เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถตอบได้จนกว่าจะมีการประเมินข้อมูลก่อนที่จะเกิดเหมืองและหลังจากเกิดเหมืองขึ้นมาแล้ว เราก็จะสามารถประเมินได้ มันมีความต่างคือ สารอันตรายที่เรากลัวโลหะหนัก อาทิ สารหนู อาร์เซนิก แมงกานีส ตะกั่ว เป็นสารที่เกิดเองตามธรรมชาติเราไม่สามารถสังเคราะห์ได้ แท้ที่จริงแล้วสารหนู ตะกั่ว ไม่ได้ใช้ในกระบวนการการทำเหมือง เป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เราต้องแยกประเด็นให้ออกระหว่างการมีอยู่กับการทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นคนละเรื่อง 

มีคำว่า Bioavailability คือความสามารถที่จะสร้างผลกระทบเข้าสู่ชุมชน การที่มีสารหนูอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้แปลว่ามันจะทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบเสมอไป เราสามารถมีสารหนูอยู่ในรูปของ อาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) ลึกๆ ใต้ดินในสภาพทางเคมีที่จะไม่รั่วเลยเพราะความสามารถในการละลายน้ำต่ำ ในขณะเดียวกันกิจกรรมของมนุษย์ อย่างเช่น บังคลาเทศ สูบน้ำไปใช้ทำให้ออกซิเจน (Oxygen) เข้าไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation) สารหนูสามารถรั่วออกมาได้เลย ในทำนองเดียวกันกิจกรรมเหมืองแร่ถ้าทำแล้วมาตรการไม่รอบคอบ ขุดขึ้นมาบดย่อยทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำปฏิกิริยากับสารออกซิไดซิงรีเอเจนต์ (Oxidizing Reagent) หลายอย่างมันก็สามารถรั่วได้ 

เลยต้องมองย้อนกลับมาว่า อาจจะต้องประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ก่อน เริ่มต้นความเสี่ยงตามธรรมชาติเป็นเท่าไหร่ ซึ่งประเด็นนี้สุดท้ายจะมาถกเถียงกัน แม้แต่ในปัจจุบันเหมืองอัคราฯ ก็มีการถกเถียงกันว่า สารหนูมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งก็ถูก แต่สิ่งที่ไม่ได้พูดคือ สารหนูที่ตรวจพบเกิดการรั่วไหลจริงหรือไม่ และรั่วไหลจากกิจกรรมของเหมืองจริงหรือไม่ แท้ที่จริงแล้วมันเกิดจากอะไร ถ้าจะตอบตอนนี้อันที่จริงก็ทำได้แต่ค่อนข้างยาก 

แต่ถ้าเหมืองฯ ที่เกิดใหม่ๆ ถ้ามีกระบวนการศึกษาตั้งแต่ต้นว่าความเสี่ยงพื้นฐานเป็นอย่างไรบ้าง แต่แค่ศึกษายังไม่พอจะต้องประเมินความเสี่ยงด้วย มีหลักการในการประเมินความเสี่ยงว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากธรรมชาติเกินค่าที่ยอมรับได้หรือไม่ ถ้าเกินค่าที่ยอมรับได้อันที่จริงแล้วไม่สมควรให้เปิดเหมือง 

ควรที่จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลชุดนี้และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง?

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : คือนอกจากประชาชน แม้แต่เหมืองฯ เองก็ต้องรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก เหมืองฯ กำลังทำกิจการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วหรือเปล่า สมมติว่าความเสี่ยงยังไม่ถึงค่าที่ยอมรับได้ แต่มีค่าที่เกินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง (ปริ่มๆ) แปลว่ามาตรการเหมืองจะต้องเข้มงวดมากๆ

ในพื้นที่มีความขัดแย้งอยู่ 3 ฝ่าย คือ ชุมชน เหมืองฯ และ กพร. จะมีวิธีจัดการหรือแก้ปัญหาอย่างไร?

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : ขอยืนยันว่า กพร. พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายๆ ด้าน ปัญหาอันดับแรกอย่างที่ ดร.ธนดล กล่าวไว้คือความไม่ไว้วางใจของชุมชนต่อเหมืองฯ หรือชุมชนบางส่วนอาจไม่ไว้ใจ กพร. อีกด้วย เพราะเห็นว่า กพร. เป็นผู้สนับสนุนการทำเหมืองฯ ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ไว้ใจ กพร. 

ต่อไปนี้หน้าที่ของ กพร. ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราคือผู้อยู่ตรงกลาง ในหน้าที่ของเรา เรายินดีส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางเหมืองแร่อย่างที่เราได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น แต่การพัฒนานั้นจะต้องอยู่ร่วมกันของชุมชนและเหมืองแร่ อีกทั้งสังคมต้องให้การยอมรับในส่วนนี้ กรมจะต้องมีจุดยืนในการสร้างเวทีและบรรยากาศในการพูดคุยระหว่างประชาชนที่มีความคิดเห็นในด้านไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง และฝั่งที่เห็นด้วยกับการทำเหมืองทุกภาคส่วน ต้องมาพูดคุยกัน เปิดใจให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของมัน

เสียงสะท้อนของชาวบ้าน จ.อุดรธานี ความกังวลที่มีต่อเหมืองโปแตชในพื้นที่

มณี บุญรอด : ตอนนี้มีรถ มีแก๊สเต็มถนนไปหมดเลย สิ่งที่เขาสร้างมันจะล้ำที่นาของชาวบ้าน ที่ชาวบ้านไม่พอใจเพราะว่า ทีมงานสำรวจบอกว่าจะมาสำรวจน้ำมัน และถ้าพบว่าที่นาของใครมีน้ำมันก็จะซื้อที่ดินและให้ในราคาสูงที่สุด

พิกุลทอง โทธุโย : ถ้าเกิดเหมืองแล้วมีผลกระทบเราจะทำมาหากินอย่างไร เพราะเราทำนา ถ้าเราไม่ไปรับจ้าง ก็มีอาหารตามธรรมชาติให้เรากิน พอเกิดเหมืองทุกสิ่งทุกอย่างมันจะหายไป ผลกระทบที่กังวลมาอีกขั้นหนึ่งก็คือ แผ่นดินทรุด น้ำเค็ม และฝุ่นเกลือ อันนี้เป็นความกังวลของชาวบ้านทั้งหมด

บุญเลิศ เล็กเขียว : มาเหมาซื้อที่ดินทั้งหมดเลย ที่ที่ผมยืนพูดอยู่นี้มันก็เป็นที่สาธารณะ เป็นหนองสาธารณะ แต่เขามาติดประกาศไว้ว่า เป็นที่ของเหมืองโปแตชมันก็ไม่ถูกต้อง 

ถาวร วงศ์สอง : คิดว่าจะดีขึ้น เพราะว่าเขาจะมาพัฒนาให้เรา ลูกหลานก็จะมีงานทำ ในส่วนของการค้าขายก็จะดีขึ้น ก็คิดไว้เหมือนกันว่าจะสร้างหอพักรองรับคนงานไว้เหมือนกัน ถ้าเขาขึ้นงานได้

การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมล่าสุดของ กพร. คือ การร่าง พ.ร.บ. เหมืองแร่ใหม่ มองอย่างไร?

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : รู้สึกมีความหวังว่า ปัญหาหลายๆ อย่างเราน่าจะเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการป้องกัน คือเราคาดหวังจะเห็นมาตรการที่เข้ามาแก้ปัญหา แต่กลับเห็นมาตรการในมุมเดียว คือการบริการแบบ One Stop Service เรื่องเหมืองฯ เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ถ้าพูดถึงประเด็นเศรษฐกิจหรือแม้แต่ประเด็นอื่นๆ พ.ร.บ. นี้อาจจะตอบโจทย์ แต่มุมมองของนักวิชาการหรือหลายๆ ฝ่ายของสิ่งแวดล้อม มันจะยังไม่สมบูรณ์

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : จากการร่าง พ.ร.บ. แรกๆ ของ กพร. ปี 2510 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายฉบับ เราก็ถือว่าเป็นจังหวะที่เราแก้ไขโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ สาระสำคัญของการร่าง พ.ร.บ. แร่ คงจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่ง คือ 1.จะต้องมีแผนการบริหารจัดการด้านแร่ 2.ในเรื่องของการอนุมัติอนุญาต แต่สิ่งที่เราได้ดำเนินการคือการกระจายอำนาจในการอนุมัติ กรณีตัวอย่างเช่น เหมืองที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทุกเงื่อนไขของการอนุญาตจะต้องมีองค์ประกอบครบถ้วน จะต้องมีการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และที่สำคัญที่สุดคือ เราได้แก้ไขหลักการเรื่องให้มีการรับฟังความเห็นประชาชนโดยปิดประกาศ 30 วัน เพื่อให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งกฎหมายร่างฉบับเก่าไม่ได้เขียนไว้

20151503040053.jpg

ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ระบุเรื่องแผนการเยียวยาอย่างไรบ้าง?

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : นี่คือสาระสำคัญที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างชัดเจน ก็คือ 1.ความเสียหายใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจะต้องมีกองทุนประกันความเสี่ยง เป็นข้อกำหนดที่เหมืองจะต้องปฏิบัติตาม 2.จะต้องมีกองทุนหรือแบงก์การรันตีค้ำประกันในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองฯ แล้ว และพื้นที่โดยรอบ จะต้องมีการวางเงินค้ำประกันในการจัดการพื้นที่เหล่านั้น เมื่อทำเหมืองเสร็จมีการฟื้นฟูพื้นที่เหล่านั้นครบถ้วนสมบูรณ์ เงินจำนวนนี้เราให้คืน แต่ถ้าไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา เราจะใช้เงินจำนวนนี้เข้าไปทำแทน 

ต่อไปนี้เจ้าของต้องทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด นั่นหมายความว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น กำไรน้อยลง จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่?

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : แหล่งแร่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นมันจะตอบโจทย์ว่า ถ้าแหล่งแร่ที่พบนั้นมีความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ นั่นคือเปอร์เซ็นต์ของแร่สูงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ต่อค่าใช้จ่ายที่เห็นอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำ

ทุนกับชุมชนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ อย่างไร?

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : ในอุดมคติคือมันมี แต่มันก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนและอีกหลายเครื่องมือ ที่จะสามารถช่วยทำให้มันเกิดขึ้นได้ ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คำถามที่เราไม่ได้ถามคือ แล้วชุมชนจะคุ้มหรือเปล่า เพราะอันที่จริงแล้วการที่เราจะบอกว่าพื้นที่หนึ่งจะพัฒนาอย่างไร แสดงว่าแหล่งแร่เกิดขึ้นในตรงนั้น แหล่งแร่เป็นพื้นที่พิเศษมีศักยภาพในการทำเชิงเศรษฐกิจ แต่ชุมชนเองก็มีอยู่ก่อน และอาจมีกิจกรรมอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของเขา เครื่องมือที่จะเอาเข้ามา จริงๆ แล้วนอกจากถามผู้ประกอบการแล้ว จะต้องถามสังคมในภาพรวมด้วยว่าพื้นที่นี้เหมาะกับอะไรมากที่สุด

การจัดความสมดุลระหว่างเรื่องเศรษฐกิจหลักและความคุ้มทุนผลประโยชน์ของชุมชนจะทำได้อย่างไร?

ชาติ หงส์เทียมจันทร์ : เป็นสาระสำคัญที่ กพร. มองเห็นในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ ผู้ประกอบการ รัฐ และชุมชนต้องได้ประโยชน์ กรณีตัวอย่างที่ชุมชนได้รับผลประโยชน์ทันทีอย่างชัดเจนคือ การจัดสรรค่าภาคหลวง 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าภาคหลวงทั้งหมดลงสู่ท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการจัดตั้งกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ ดูแลชุมชนท้องถิ่น อันนี้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ขณะเดียวกันหากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ต้องมีกองทุนที่เรียกว่ากองทุนประกันความเสี่ยง เตรียมไว้สำหรับการชดเชยไว้หากมีปัญหาเกิดขึ้น 

ในขั้นตอนการขอประทานบัตรจะต้องมีการรับฟังความเห็นของชุมชน ความคิดเห็นของชุมชนเหล่านั้นจะสะท้อนภาพกลับมาว่า ผู้ประกอบการคุณจะต้องให้อะไรกับชุมชนบ้าง ทั้งในเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องสุขภาพ นอกเหนือจากสิ่งที่ภาครัฐกำหนดว่าคุณจะต้องให้เขาแล้ว นี่คือแนวคิดกฎหมายใหม่ที่จะออกมา อย่างที่ทาง ดร.ธนพล ได้กล่าวถึงในหลักการทั่วไป 

ในพื้นที่ทั่วไปการจะทำโรงถลุงเหล็ก การจะเปิดโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ทั่วไปควรจะต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ว่า พื้นที่นี้สมควรทำหรือไม่อย่างไร มีทางเลือกในการตัดสินใจที่จะพัฒนาเป็นไปในรูปแบบไหน หรือมีแนวทางเงื่อนไขอย่างไร และสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือทุกขั้นตอนจะต้องมีส่วนร่วม 

แต่เหมืองแร่จะต่างกับโครงการอื่นอยู่อย่างหนึ่งคือ เหมืองแร่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีแร่อยู่ที่ไหน มากน้อยเพียงใด คุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่ หากเราไม่ได้สำรวจก่อน เราก็จะไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสิ่งที่ถูกต้องของข้อมูลที่ครบถ้วน แล้วจะทำไปเพื่ออะไร แต่ขณะเดียวกันถ้าโครงการเหมืองแร่สำหรับแหล่งแร่ที่มีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่ามีแร่มากน้อยเพียงใด เช่นหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ถ้ามีความชัดเจนเรื่องข้อมูลเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการ

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ : มีความคิดเห็นว่าในกรอบแนวคิดมันดูดีขึ้นในหลายๆ ประเด็น แต่บางประเด็นอาจจะยังเกิดคำถามอยู่ สิ่งที่ตามมาน่าจะเป็นประกาศและแผนที่เฉพาะเจาะจงขึ้น กับกรอบแนวคิดที่ดูดีขึ้นหรือไม่ 

แม้จะมีมาตรการคุมเข้มกำกับดูแลเรื่องของเหมือง แต่ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็อาจยังคงมีคำถามต่อกระบวนในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ปัญหานั้นก็ยังคงไม่คลี่คลาย สุดท้ายแล้วเราจะหาจุดสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ดีอย่างไร นี่คือโจทย์ที่สังคมไทยต้องร่วมคิดกันต่อ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ