รายการพลเมืองข่าว : (สูง) วัยคุณภาพ เตรียมกายใจสู่วัยเกษียณ

รายการพลเมืองข่าว : (สูง) วัยคุณภาพ เตรียมกายใจสู่วัยเกษียณ

เตรียมรับสังคมสูงวัย เตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพไปด้วยกันในรายการพลเมืองข่าว ตอน (สูง) วัยคุณภาพ พูดคุยกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว หัวหน้าศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 และอุษา ราชปรีชา อดีตหัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

20150203214258.png

ภาพจาก: สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.)

 

ในฐานะที่กำลังจะเข้าสู่วัยของผู้สูงอายุเราจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์: เนื่องจากเป็นคนดูแลผู้สูงอายุมามากมาย เรามีวิธีในการจัดการเตรียมตัวกับการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุคือ เราจะต้องเรียนรู้วิธีเรียกความสุขมาหาเราให้ได้ก่อน ซึ่งก็มี 2 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นตอนแรก เราต้องพาตัวเรามาอยู่ในขณะปัจจุบันให้ได้ก่อน ขั้นตอนที่สอง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยการหายใจเข้าลึกๆ ยิ้มและหายใจออก

เราอยู่ในขณะปัจจุบันมันทำให้เราสบายใจไม่คิดถึงอดีต พอเราผ่อนคลายกล้ามเนื้อมันทำให้เราสบายกาย ความสบายกายและสบายใจคือ “สุข” นี่คือขั้นตอนแรกที่ผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องเรียนรู้ มันเป็นการเรียกความสุขมาหาตัวเรา โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องวิ่งตามความสุข 

ประเด็นต่อมาที่ผู้สูงอายุจะต้องเรียนรู้คือ “การซ้อมตาย” ทุกวัน 

สังคมไทยมักจะหลีกเลี่ยงเรื่องของคำว่า “ตาย” เพราะถือว่ามันเป็นลางไม่ดี?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์: เป็นแนวคิดที่ผิดในการเป็นผู้สูงอายุ เราต้องคิดว่า ผู้สูงอายุกับความตายเป็นของคู่กัน การที่เราพยายามกวาดเก็บมันไว้ใต้พรม มันจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ความกลัวความตายมันจะเป็นพื้นฐานของความกลัวสารพัด

ชีวิตในวัยผู้สูงอายุและการซ้อมตายนั้นไม่ยาก เพราะตอนที่เหมือนกับความตายมากที่สุดในขณะที่เรามีชีวิตอยู่นั่นคือ “การนอนหลับ” วิธีซ้อมก็คือก่อนเข้านอนทุกคืนให้นึกไว้ว่า “วันนี้เราจะตายพรุ่งนี้ไม่มีอีกแล้ว” และเราก็เฝ้าดูใจตัวเอง แต่หากไม่รู้จะดูอะไรให้เฝ้าดูลมหายใจจนจิตสำนึกดับไป ใหม่ๆ เราอาจไม่รู้หรอกว่าเราหลับตอนไหน แต่หากทำแบบนี้ทุกวันมันจะไปถึงจุดที่เราตื่นเช้าขึ้นมาเราสามารถรู้ได้ว่าเราหลับไปตอนไหน หากเราทำได้ความตายก็ไม่ใช่ของแปลกอะไร เพราะเราซ้อมและคุ้นเคยกับมันทุกวัน

เกิด แก่ เจ็บ เราก็เป็นมาหมดแล้ว เป็นเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์มันเรียกว่า “การจัดการความเจ็บปวด” (Pain management) การเจ็บอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น และวิธีการรับมือกับความเจ็บปวดมันไม่ได้ยาก เวลาเราเจ็บเราไปหาหมอหาพยาบาลให้เขาช่วยรักษาช่วยฉีดยา มันสามารถช่วยเราได้ในระดับหนึ่ง แต่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะความเจ็บมันอยู่ที่การตีความของสมองของเรา การฝึกตนให้รับมือกับความเจ็บได้คือฝึกใจให้เป็นสุขก่อน เมื่อใจเป็นสุขจึงเข้าสู่การฝึกใจให้เป็นสมาธิ นิยามของสมาธิคือจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง อย่างต่อเนื่องเช่นการจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ นำลมหายใจที่เป็นสมาธิไปเฝ้าดูความเจ็บปวด ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธหรือยินดียินร้าย

ฟังเคล็ดลับในการเป็นผู้สูงอายุของคุณอุษาบ้าง?

อุษา ราชปรีชา: การที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพสิ่งหนึ่งเราคงต้องใช้ชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบัน มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมที่อยู่รอบตัว ที่สำคัญคือต้องยอมรับว่าเราจะต้องเตรียมตัวและวางรากฐานของเราไว้ตั้งแต่ต้นอย่างไร เพราะถ้าเราวางรากฐานดี มีชีวิตที่ดี มันจะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขได้ ออกกำลังกายอย่างถูกต้องร่างกายก็สมบูรณ์ การรับประทานอาหารที่ดี มีจิตใจที่สุขสดชื่นและคิดในเชิงบวก มันจะต้องเกิดความสมดุลพอดีที่เราจะสามารถอยู่ในสังคมได้

สิ่งหนึ่งเลย การที่สังคมจะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพได้คือ สังคมจะต้องไม่มองว่าผู้สูงอายุคือคนแก่ ในที่นี้คือ ความคิดเสื่อมถอย สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เดินไม่คล่องแคล่ว สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้สังคมมองว่าเรากำลังอยู่ในสภาพเช่นนั้น

ขอให้ช่วยเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ว่ามันมีความแตกต่างอย่างไร? 

อุษา ราชปรีชาคนส่วนใหญ่จะมองว่าไม่ต่างกัน แต่แท้จริงแล้วมันค่อนข้างแตกต่าง ยกตัวอย่างหากเราอยู่กับเด็ก เราบอกพวกเด็กๆ ว่ากระทำผิด เด็กจะรู้ว่านี่คือผิดและอาจถูกลงโทษ แต่ถ้าเราบอกผู้สูงอายุว่าผิดนั้นไม่ได้ เราจะต้องดูแลอารมณ์ของผู้สูงอายุเหล่านี้ด้วย หากเกิดความไม่พอใจของผู้สูงอายุเราสามารถฟังได้จากน้ำเสียง และจะต้องไม่เถียงต่อว่าสิ่งที่เราพูดเรากระทำเป็นสิ่งที่ถูก แต่ให้เป็นไปในทางที่เรารับฟังผู้สูงอายุก่อน และค่อยนำไปสู่การชี้แจงอธิบายว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ผู้สูงอายุก็จะยอมรับฟัง

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพเราควรจะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์การเป็นแพทย์ไม่ค่อยสนใจสุขภาพ พอเริ่มป่วยจึงเริ่มที่จะหันมาสนใจตัวเอง จึงเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ผู้สูงอายุอย่างล่าช้า การเตรียมตัวสำหรับผู้สูงอายุให้มีชีวิตที่มีคุณภาพต้องเตรียมตัวตั้งแต่วัยอายุ 20 ปี อย่ารอให้ป่วยจนเอาตัวไม่รอดแล้วจึงค่อยมาใส่ใจเห็นทีจะช้าเกินไป แรกรุ่นหนุ่มสาวก่อน

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของการเป็นผู้สูงอายุเราสมควรจะอยู่สันโดษหรืออยู่เป็นกลุ่มชุมชน การอาศัยอยู่ของผู้สูงอายุแบบไหนจะดีกว่ากัน?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์เราต้องมีแนวคิดที่จะอยู่สันโดษ แต่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเกื้อกูล การอยู่แบบผู้สูงอายุที่ไม่เอาใครเป็นการแก่ที่ผิดวิธี ถ้าเรานำผู้สูงอายุประเภทนี้มาอยู่ด้วยกันมันจะเป็นสังคมที่วุ่นวาย เพราะทุกคนก็จะเห็นแก่ตัว การเกษียณที่ดีคือการสันโดษแต่ก็มีจิตที่จะให้ ผู้เกษียณทุกคนมีสมองดี มีประสบการณ์ดี พอเราเป็นผู้สูงอายุที่สันโดษและในขณะเดียวกันเป็นผู้ให้ที่ดี สังคมมีความสุขด้วย ดังนั้นทั้งสองอย่างจะต้องอยู่ด้วยกัน 

คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “เงินเป็นปัจจัยสำคัญหลังการเกษียณ”?

อุษา ราชปรีชา ในสังคมทุกสังคมหากไม่มีเงินก็ไม่สามารถอยู่ได้ แต่ก็จะต้องใช้ให้พอดี การเริ่มต้นการออมตั้งแต่ชีวิตในวัยทำงาน ก็ดูว่าการเก็บเงินออมจะทำอย่างไรให้สมดุลกับเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เราจะต้องกำหนดระเบียบวินัยในการใช้จ่ายเงินของตัวเอง เราก็จะสามารถอยู่ได้จนแก่ด้วยเงินออมของเราเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์เงินเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ความจริงนั้นวินิจฉัยไม่ยากแต่คนส่วนใหญ่มักหลงประเด็น ความจำเป็นในชีวิตของเราไม่ใช่เพียงแค่เงินอย่างเดียว หากพ้นสิ่งจำเป็นพื้นฐานแล้วเช่น ชีวิตและความเป็นอยู่ เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไปที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข และบางครั้งเงินกลับทำให้ชีวิตของผู้สูงอายุวุ่นวายด้วยซ้ำ

แนวคิดเรื่องการมาอยู่ร่วมกันของชุมชนผู้สูงอายุ?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์Senior Co-Housing แนวคิดหลักคือ คนแก่ดูแลคนแก่ด้วยกัน เพราะสังคมในวันข้างหน้ามองไปทางไหนก็จะเจอแต่คนแก่ จะไปหวังพึ่งคนหนุ่มสาวให้มาดูแลคงเป็นไปไม่ได้ Senior Co-Housing คือการให้คนสูงอายุมาซื้อที่ดินติดกัน ล้อมรั้วเป็นรั้วเดียว ปลูกบ้านของใครของมัน มีอะไรที่แบ่งปันกัน เช่น มีรั้ว มีคนเฝ้า หรือมีสวนร่วมกัน แต่ก็มีชีวิตส่วนตัว มีปัญหาให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรให้ใช้ความคิดตัดสินร่วมกัน 

หากเกิดปัญหาผู้สูงอายุจะต้องดูแลกันเองหรือไม่?

อุษา ราชปรีชาในโครงการเราพยายามจัดการอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่เราตั้งไว้คือ มีสุขภาพดี มีคุณภาพและพึ่งพาตนเอง เราก็จะมีแผนกิจกรรมต่างๆ ให้ในแต่ละเดือน ให้รู้สึกว่าแม้จะเกษียณแล้วก็สามารถทำอะไรก็ได้เหมือนอยู่ที่บ้าน และก็มีกลุ่มผู้สูงอายุหลังเกษียณกลุ่มหนึ่งที่มีโครงการปลูกต้นไม้ ทางเราได้ทำการจัดสรรที่ดินให้ปลูก แต่ก็จะมีผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการปลูกต้นไม้ทำให้เกิดปัญหากัน เราจะต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพก็คือ ทำอย่างไรให้โครงการนี้เดินต่อไปได้เพราะเป็นโครงการที่ดี และคนที่ไม่ชอบโครงการนี้จะสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องถามเหตุผลของทั้งสองฝ่าย ให้ได้ฟังซึ่งกันและกัน เพราะผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการก็คาดหวังว่าจะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีกับโครงการนี้ ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุจะต้องดูแลทั้งสองฝ่ายให้มีความเข้าใจและเอื้อต่อกัน

เราได้พูดถึงการเตรียมตัวในระดับปัจเจก แล้วในระดับสังคมเราควรจะมีการเตรียมตัวการเป็นผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์เราจะต้องให้เงินกับชุมชนที่จะมีนวัตกรรมในทำนองนี้ เราก้าวไปในชุมชนไหนก็เป็นอันต้องเจอผู้สูงอายุทั้งสิ้น เราให้เงินแล้วให้พวกเขาหาวิธีอยู่กันแบบทุกคนให้กับชุมชนแล้วมีความสุข ทรัพยากรหลักมีอยู่ในตัวของผู้สูงอายุแต่ละคนอยู่แล้ว เมื่อทำสำเร็จสักสองถึงสามชุมชนแล้วก็สามารถที่จะเป็นชุมชนตัวอย่าง

อุษา ราชปรีชาที่จริงแล้วในสังคมอาจมีการเตรียมตัวอยู่ก่อนแล้ว แต่การเตรียมตัวนั้นอาจเป็นภาพที่ไม่ชัดเจน แต่ละโครงการแต่ละชุมชนที่สร้างขึ้นเพื่อผู้สูงอายุก็จะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป พอแก่ตัวแล้วเจ็บป่วยผู้สูงอายุต่างคนก็ต่างช่วยกันไม่ไหว เราก็เลยต้องทำให้แต่ละบ้านมีความเก่งในแต่ละด้าน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะสามารถขอความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างไรได้บ้าง?

อุษา ราชปรีชาก็จะต้องมีจุดติดต่อในแต่ละจุด แต่จะต้องไม่ไกลจากกัน รัฐก็จะต้องเล็งเห็นในเรื่องนี้ด้วย เช่นการไปดูงานของผู้สูงอายุในต่างประเทศ สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดเลยคือ เป็นชุมชนและมีสถานพยาบาลรองรับเพราะตัวผู้สูงอายุเองก็ไม่สามารถที่จะดูแลกันเองได้ไหวอีกต่อไป 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่ดีที่สุดนี่คือ ผู้สูงอายุดูแลตัวเอง การที่มีโรงพยาบาลคอยเฝ้าดูแลรับประกันได้ว่าไม่ดีเท่ากับผู้สูงอายุดูแลกันเอง มันเป็นการติดอาวุธให้กับผู้สูงอายุ ทั้งการเตรียมความพร้อมที่ให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเอง รวมไปถึงกิจกรรมของสังคมที่จะขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองเก่งขึ้นทุกวัน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ