7 พ.ค. 2559 เพจเฟซบุ๊ก UN Human Rights – Asia เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 6 พ.ค. ที่ผ่านมาจากเจนีวา ระบุว่า คณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review Working Group: UPR) หรือคณะทำงานยูพีอาร์ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: UNHRC) จะทำการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 11 พ.ค. 2559 โดยจะมีการถ่ายทอดสดการพิจารณาจากห้องประชุมผ่านทางเว็บทีวี webcast live สามารถเข้าชมได้ที่ http://webtv.un.org/ ในเวลา 15.00-18.30 ตามเวลาในประเทศไทย
UN Human Rights – Asia เผยแพร่ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 รัฐที่คณะทำงานยูพีอาร์จะทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในระหว่างการประชุมนัดที่จะถึง ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 พ.ค. 2559 ทั้งนี้ การพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งแรก (Thailand’s first UPR) ทำไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2554
การพิจารณาจะพิจารณาจากเอกสารต่อไปนี้ 1) รายงานของประเทศ – โดยข้อมูลในรายงานมาจากรัฐที่ได้รับการพิจารณาทบทวนสถานะ 2) ข้อมูลในรายงานของผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอิสระ หรือที่รู้จักกันในนาม กลไกพิเศษของสหประชาชาติ หน่วยงานด้านสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติ 3) ข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียรายอื่น ซึ่งรวมถึงสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค และกลุ่มประชาสังคม
เอกสารที่กล่าวถึงข้างต้นมีการพูดถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้ การขยายอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน (internal policing power) ของทหาร การแก้ไขปัญหารายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ทหาร คดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การนำโทษประหารชีวิตมาใช้ คดีเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหาย กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดฉบับพิเศษที่ออกสำหรับใช้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ การเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติและการคัดกรองบุคคลจากลักษณะทางเชื้อชาติ (racial profiling) ที่ทำกับชาวไทยเชื้อสายมลายู
เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม การไต่สวนตุลาการเกี่ยวกับการสังหารนักข่าว การแก้ไขปัญหาการละเว้นไม่ต้องได้รับโทษ การต่อสู้กับการค้ามนุษย์ การให้ความเคารพต่อหลักการห้ามผลักดันผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับ (non-refoulement principle) การขจัดการบังคับใช้แรงงาน มาตรการปกป้องสิทธิเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและเพื่อลดความยากไร้ ขั้นตอนดูแลสิทธิของแรงงานย้ายถิ่นและการเข้าถึงบริการทางสังคม สิทธิของแรงงานย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมที่จะถึง
สำหรับรายงานทั้ง 3 ฉบับที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในวันที่ 11 พ.ค. นี้ สามารถอ่านได้จากลิงค์: http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/THSession25.aspx
สถานที่: ห้องประชุม 20 ปาเล เด นาซิออง (Palais des Nations) เจนีวา
วันและเวลา: 09.00-12.30 น วันพุธที่ 11 พฤษภาคม (เวลาเจนีวา = GMT+1)
กระบวนการยูพีอาร์หรือการทบทวนสถานการณ์ทั่วไปด้านสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งคราวเป็นกระบวนการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยจะมีการทบทวนการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 รัฐเป็นครั้งคราว นับตั้งแต่จัดประชุมครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2551 รัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศได้รับการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนครบถ้วนในการทบทวนยูพีอาร์รอบแรก และจนถึงขณะนี้ มีการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนรอบที่ 2 ของรัฐสมาชิกไปแล้วทั้งหมด 168 ประเทศ
ทั้งนี้ การพิจารณาสถานการณ์ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนับตั้งแต่มีการพิจารณาในรอบแรก รวมทั้งเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกที่ได้รับการพิจารณา ได้ชี้แจงขั้นตอนที่ได้ดำเนินการหลังได้รับคำแนะนำในการพิจารณารอบแรก
สำหรับประเทศไทยจะมีนาย ชาญเชาวน์ ไชยนุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศ ส่วนผู้แทนจาก 3 ประเทศที่จะทำหน้าที่เป็นผู้รายงาน (rapporteurs) หรือที่เรียกว่า “ทรอยก้า” ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย คือผู้แทนจากเอลซัลวาดอร์ ฝรั่งเศส และมัลดีฟ
การถ่ายทอดสดการประชุมพิจารณาทางเว็บทีวี สามารถเข้าชมได้ที่ http://webtv.un.org/
รายชื่อผู้แถลงและแถลงการณ์ทั้งหมดที่มีซึ่งจะนำส่งระหว่างการพิจารณาสถานะของประเทศไทย จะนำไปโพสต์ในเอ็กซ์ตร้าเน็ทของยูพีอาร์ในลิงค์ต่อไปนี้ [username: hrc extranet (with space); password: 1session]: https://extranet.ohchr.org/sites/upr/Sessions/25session/Thailand/Pages/default.aspx
คณะทำงานยูพีอาร์กำหนดจะออกถ้อยแถลงคำแนะนำของตนที่มีต่อประเทศไทยในวันที่ 13 พ.ค. 2559 เวลา 17.30 น โดยรัฐผู้ได้รับการพิจารณาอาจประสงค์จะแถลงจุดยืนของตนต่อคำแนะนำของคณะทำงานยูพีอาร์ที่ให้กับประเทศในระหว่างการพิจารณาทบทวน และจะมีการเปิดเผยคำแนะนำของคณะทำงานยูพีอาร์ให้สื่อมวลชนทราบในวันดังกล่าวล่วงหน้า
00000
หมายเหตุ: ติดตามคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) บนโซเชียลมีเดีย
เฟซบุ๊ค: https://www.facebook.com/UNHRC
ทวิตเตอร์: https://twitter.com/UN_HRC
ยูทูป: http://www.youtube.com/channel/UCokQuTYVvkwQb-A3TsSUm-g