26 เม.ย. 2558 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง ห้ามจัดงานเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” ระบุองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ขอยกเลิกการจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” ซึ่งมีกำหนดการจัดกิจกรรมในวันนี้ (26 เม.ย.) โดยชี้แจงเหตุผล ดังนี้
แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เรื่อง ห้ามจัดงานเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ขอยกเลิกการจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” โดยขอชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดของการเตรียมการจัดกิจกรรมดังกล่าวดังนี้ ในครั้งแรก ทางผู้จัดมีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 โดยได้ขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียก่อน ทางผู้จัดจึงทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมไปยัง คสช.ในวันเดียวกัน แต่กว่าที่จะได้รับอนุญาตก็ล่วงเลยจากวันที่กำหนดไว้แล้ว จึงต้องเลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปก่อน ต่อมา ทางผู้จัดกำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ 26 เมษายน 2558 โดยได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมไปยัง คสช. อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 หลังจากนั้นได้รับแจ้งจากทางมหาวิทยาลัยในบ่ายวันที่ 20 เมษายน 2558 ว่าได้รับอนุญาตแล้วและให้ไปรับหนังสืออนุญาตที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เมื่อไปติดต่อที่สน. ดังกล่าวในวันที่ 22 เมษายน 2558 กลับได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสืออนุญาต คาดว่าจะได้รับภายในสัปดาห์นั้น แต่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 กลับได้รับแจ้งให้เปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหาการเสวนา มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ทางผู้จัดจึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมในที่สุด สาเหตุที่เลือกหัวข้อนี้ เพราะผู้จัดได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ชื่อ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (Thailand: The politics of Despotic Paternalism)” จึงได้รู้ว่าในยุคของจอมพลผ้าขาวม้าแดงรายนี้ ได้สร้างมรดกตกทอดทั้งทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และวิธีคิดต่างๆ มากมายต่อประเทศไทยจนสืบทอดมาถึงปัจจุบันอย่างที่เราเป็นกัน หลายคนที่เกิดไม่ทัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เราไม่รู้เลยว่าหลายสิ่งที่ได้เกิดจากยุคดังกล่าว ยังคงอยู่และฝังตัวหยั่งรากลึกจนกลายเป็นรากฐานวิธีคิดของคนในสังคมไทย จนเรามิได้รู้ตัวเลยว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประกอบสร้างขึ้นเมื่อกึ่งศตวรรษนี้เอง อีกทั้งคนที่เกิดทันยุคทันสมัย หรือห่างจากยุคสมัยนั้นไม่มากนักก็ยังมีภาพความเข้าใจที่ไม่แม่นยำนัก และนอกจากนี้ ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกช่วงสงครามเย็นนั้น ประเทศไทยเราได้มีโอกาสพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยที่หลายคนมิได้สงสัยเลยว่าทำไมประเทศไทยจึงก้าวไปได้ไกลกว่าเพื่อนบ้านในยุคนั้น ซึ่งนี่จะเป็นประเด็นที่ได้ทำให้เรามีความเข้าใจต่อจุดยืนของประเทศเราเองท่ามกลางสังคมโลกได้อย่างดีขึ้น และจะเป็นผลดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าในภูมิภาคนี้ มีหลายชาติรวมถึงประเทศไทยที่ยังคงมีภาพความเข้าใจต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่เป็นผลดีและไม่ถูกต้องนักต่อการพัฒนา ดังคำที่เราได้โปรยเอาไว้ในคำเชิญร่วมงานเสวนาว่า “ไม่เรียนรู้อดีต ก็จะไม่เข้าใจปัจจุบัน และไม่เท่าทันอนาคต” ผู้จัดเป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเองและผู้อื่น หากแต่ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะอำนวยการจัดกิจกรรมทุกอย่างได้เอง จึงต้องขอพึ่งพามหาวิทยาลัย ด้วยหวังว่ามหาวิทยาลัยจะดำเนินการตามภารกิจของตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แห่งวิชา แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยไว้ กลับมอบอำนาจตัดสินใจให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างง่ายดาย ผู้จัดในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้จัดเห็นว่า หากกิจกรรมนี้ได้มีขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้จัดจะพยายามหาช่องทางในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ขอให้ทุกท่านโปรดติดตามต่อไป |
หมายเหตุ: งานเขียนที่ผู้จัดได้บอกในแถลงการณ์ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้จัดงานนี้ ใครสนใจสามารถดาวน์โหลดได้ตาม Link
e-book : การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (Thailand: The politics of Despoyic Paternalism) โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ://it.scribd.com/…/การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ