26 ก.พ. 2559 เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (http://www.seub.or.th/) เผยแพร่ ‘แถลงการณ์ คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ จากกรณี เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการรายงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย
พล.อ.ธนะศักดิ์ ระบุว่า จากผลการศึกษาพบว่าสามารถทำได้โดยไม่กระทบป่า แม้พื้นที่ดังกล่าวเป็นลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง โดยจะเสียต้นไม้ประมาณ 1 ไร่ และจะมีการปลูกทดแทนส่วนที่เสียไป ทั้งนี้หลังจากที่ ครม.รับทราบผลศึกษาดังกล่าวแล้ว จะต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามขั้นตอน หากผ่านอีไอเอก็สามารถดำเนินการได้เลย คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1-2 ปี งบดำเนินการประมาณ 633 ล้านบาทนั้น ถือว่าคุ้มค่า และชาวบ้านในพื้นที่ถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย จึงไม่น่ามีปัญหาในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ‘แถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า 22 ก.พ. 2555 คณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ อพท. เป็นผู้รับไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว โดยให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไป
หลังจากจัดทำเป็นรายงานศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รายงานการศึกษาขั้นกลาง ฉบับปรับปรุงแก้ไข 20 มิ.ย. 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นประกอบรายงานดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2558 เสนอต่อองค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
1. บนหลังแปภูกระดึง เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่นับสิบตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า หากขาดการควบคุมดูแลหรือขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีพอ หรือมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และระบบนิเวศ ในพื้นที่
2. เนื่องจากพื้นที่บริการท่องเที่ยวเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า คือที่ราบหลังแป โอกาสที่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่จะขึ้นไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจะสูงมากขึ้น รวมถึงอันตรายจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายย่อมเกิดขึ้นด้วย
3. การเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนกับธรรมชาติ การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงช่วยให้การเดินทางรวดเร็วและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น นั่นย่อมส่งผลให้คุณค่าทางธรรมชาติถูกลดลง
4. กระเช้าไฟฟ้าจะทำลายอาชีพของลูกหาบ และร้านค้าบริเวณจุดพักระหว่างเส้นทางขึ้นภูกระดึงจากการใช้บริการกระเช้าไฟฟ้า
5. การศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจัดทำพร้อมกัน เนื่องจากเนื้อหาข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลมีความแตกต่างกัน กระบวนการในการพิจารณามีความแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จะขาดความรอบคอบ และไม่เป็นธรรม
จนถึงวันนี้กลุ่มที่ปรึกษานำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัทไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ที่รับเป็นผู้ดำเนินการ และได้จัดทำรายงานผลการศึกษาแล้วเสร็จ พร้อมให้ อพท. นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 และที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานผลการศึกษา พร้อมกับได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่หลากหลายทั้งในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นข่าวที่รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวใน ครม.ชุดนี้ออกมาสนับสนุนโครงการนี้สุดตัว ถึงกับเตรียมจะอนุมัติงบประมาณให้รีบไปดำเนินการก่อสร้าง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยืนยันการแสดงเจตนาที่จะคัดค้านโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมา โดยหลังจากนี้จะศึกษาวิเคราะห์เอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเสนอความเห็นไปยัง อพท. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะคุณค่าของภูกระดึง คือการได้เดินศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติระหว่างเส้นทางเดินขึ้นภูไปจนถึงเส้นทางบนหลังแป จึงต้องมีการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศในพื้นที่และการเปิดรับนักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่เหมาะสม
รวมถึงกระบวนการศึกษาที่ต้องทำอย่างรอบคอบ และพิจารณาครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวบนหลังแปของภูกระดึงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีโครงการกระเช้าไม่ใช่การศึกษาแค่พื้นที่ก่อสร้างกระเช้า จึงไม่สมควรที่จะนำเอาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศมาทดลอง เพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาท่องเที่ยวในป่าอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป
หมายเหตุ:
ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเสวนาในหัวข้อ กระเช้าภูกระดึง มโนโปรเจ็คท์ ชมบันทึกงานเสวนา: http://goo.gl/ctlI21
สัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ต่อสถานการณ์เรื่องกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง : “ศศิน” ชี้ กระเช้าไฟฟ้าทำลายเสน่ห์การเดินขึ้น “ภูกระดึง”