3 ก.พ. 2559 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหนังสือส่งถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) เรื่องขอให้แก้ไข (ร่าง) รัฐธรรมนูญปี 2559 ระบุว่า จากการติดตามและศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ได้ตัดเรื่องสิทธิชุมชนในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมออกไป ทำให้ชุมชน บุคคล กลุ่ม ฯลฯ ขาดหลักประกันในการใช้อำนาจเพื่อปกป้อง ดูแล มีส่วนร่วม และฟ้องเมื่อได้รับผลกระทบ โดยร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กลับเอาไปไว้ในอำนาจแห่งรัฐให้จัดการแทน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนได้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความอ่อนแอ และขาดสมดุลในการจัดการอย่างมีส่วนร่วม พร้อมให้อำนาจรัฐและกลุ่มทุนเข้ามาดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติได้โดยง่าย เนื่องจากภาคประชาชนขาดอำนาจในการติดตามและการตรวจสอบ จึงได้ทำจดหมายส่งถึงประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2559
จดหมายมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ขอให้คงหมวดสิทธิชุมชน ถ้อยคำ และระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน บุคคล ในการดูแล จัดการ ฯลฯทรัพยากร ไม่ให้น้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 2) ขอให้คงถ้อยคำการใช้สิทธิชุมชนในการคุ้มครอง ดูแล กิจกรรม โครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชน และบุคคล รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบ และมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมร่วมให้ความเห็น (ตามรัฐธรรมนูญปี 50) และ 3) ควรเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งชุมชน บุคคล กลุ่ม องค์กร ในการร่วมพิจารณาอย่างรอบด้าน ร่วมถึงการตัดสินใจก่อนการดำเนินโครงการ
นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เตรียมจัดเวทีหารือร่วมกับเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2559 ในรายละเอียดอีกครั้งเรื่อง
เรื่อง ขอให้แก้ไข (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ได้ติดตามและศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้มีการเผยแพร่ในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 นั้น ได้ตัดสิทธิชุมชน ที่จะเป็นหลักประกันการให้อำนาจกับประชาชน และชุมชน ในการผลักดันให้เกิดการจัดการตามสิทธิของชุมชนและบุคคล และไปเพิ่มหน้าที่แห่งรัฐ ซึ่งเป็นการให้อำนาจกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความอ่อนแอ และขาดสมดุลในการจัดการอย่างมีส่วนร่วม พร้อมให้อำนาจรัฐและกลุ่มทุนเข้ามาดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติได้โดยง่าย เนื่องจากภาคประชาชนขาดอำนาจในการติดตามและการตรวจสอบ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงมีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้คงหมวดสิทธิชุมชน และขอให้คงถ้อยคำและระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนรวมถึงสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์บํารุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดํารงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสมออก ให้ไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ผ่านมา 2. ในหมวดสิทธิชุมชนขอให้คงถ้อยคำการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทํามิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้ องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดําเนินการดังกล่าว สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง 3. ควรเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบทางตรง ทั้งชุมชน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง บุคคล นิติบุคคลโดยกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้าน เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ กระบวนการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ จนกระทั้งการร่วมตัดสินใจ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ ความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นเบื้องต้น ทั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะร่วมกันปรึกษาหารือและนำเสนอในรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ รัฐธรรมนูญ 2559 |
Download: ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ที่นี่