มทบ.24 เชิญกลุ่มอนุรักษ์ฯ อุดร ปรับทัศนคติ เหตุกังวลคำแถลง ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’

มทบ.24 เชิญกลุ่มอนุรักษ์ฯ อุดร ปรับทัศนคติ เหตุกังวลคำแถลง ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’

ผบ.มทบ.24 เผยกังวลใจ ชาวบ้านอ่านประกาศ ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’ เรียกชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ปรับทัศนคติ ก่อนเสนอเป็นตัวกลางจัดการปัญหา ด้านชาวบ้านตั้งคำถามกลับทหารจะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าช่วยได้ ช่วยบอกบริษัทไม่ให้มาทำเหมืองโปรแตช ชาวบ้านก็ไม่ต้องมาที่ค่ายทหารอีก

20161202231808.jpg

ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

12 ก.พ. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ราว 100 คน เดินทางไปยังบริเวณค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จ.อุดรธานี  หลังจากเมื่อวานนี้ (11 ก.พ. 2559) ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์หาแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เรียกให้เข้าไปทำความเข้าใจร่วมกัน ที่ทหารค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 

สืบเนื่องจากวันที่ 7  ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินขบวนแห่ไปขอพรจากอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  โดยถือป้ายผ้ารณรงค์คัดค้านเหมืองแร่โปแตช และอ่านคำประกาศที่มีคำว่า “เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ” (คลิกอ่านข่าว: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ประกาศต้านอำนาจรัฐไม่เป็นธรรม ยันปกป้องชุมชนจากเหมืองแร่โปแตช)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารบอกชาวบ้านให้ส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุยจำนวน  6 คน แต่กลุ่มชาวบ้านยืนกรานว่าจะเข้าไปพูดคุยด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก้ตามหลังจากเจรจา ทางทหารอนุญาตให้ส่งตัวแทนเข้าไป 9 คนเท่านั้น ต่อมาเวลา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมด 9 คน จึงได้เดินทางเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารภายใน มทบ.24 ขณะที่มีชาวบ้านที่เหลือเฝ้ารอให้กำลังใจอยู่ด้านนอก

มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 พร้อมกับนายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน ผบก.ภ.จว.อุดรธานี เชิญนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และแกนนำหมู่บ้าน รวม 10 คน ร่วมประชุมทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งอนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง

พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 กล่าวว่า ที่เชิญกลุ่มอนุรักษ์ฯ มาเพื่อทำความเข้าใจ หลังจากกลุ่มฯ ทำกิจกรรมบวงสรวงแก้บนอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้แจกจ่ายเอกสารคัดค้านโครงการเหมืองโพแทช มีข้อความที่หลายฝ่ายไม่สบายใจ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้ห้ามไม่ให้ชาวบ้านคัดค้านโครงการ แต่วิธีการที่นำมาใช้ต้องระมัดระวัง

ด้านมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวยอมรับผิดและขอโทษที่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง อาทิ หน่วยงานราชการปล้นแผ่นดิน ซึ่งก็เกิดจากความรู้สึกชาวบ้านจริงๆ ที่ได้ร่วมกันต่อสู้มากว่า 15 ปี ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ นายทุนมีเงินมาแจกจ่าย ชาวบ้านมีแต่แรงกายแรงใจมาสู้ ผู้ว่าฯ ไม่เคยมาหาชาวบ้านที่เรียกร้อง จะส่งแต่รองผู้ว่าฯ มาแทนแทบทุกคน ที่มาคุยและเข้าใจชาวบ้านก็มีผู้ว่าฯ สุพจน์ เลาวัณศิริ และผู้ว่าฯ อำนาจ ผการัตน์

“ที่ผ่านมาขั้นตอนการขออนุญาตไม่ถูกต้องในหลายขั้นตอน แต่ภาครัฐก็พยายามให้มันถูก ตั้งแต่การไต่สวนผู้นำ การปักหมุดแนวเขต และอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็กีดกันชาวบ้านไม่ให้มีส่วนร่วม ไปจัดประชาคมในค่ายทหารซึ่งตั้งอยู่นอกพื้นที่เหมือง กลุ่มฯ ไปฟ้องศาลขอคุ้มครอง ก็ไปบอกศาลว่าไม่ได้จัดประชาคม เป็นการชี้แจงโครงการเท่านั้น พอประชุมเสร็จก็บอกว่าเป็นประชาคม นำไปสู่การขอมติสภา อบต.ห้วยสามพาด และ อบต.นาม่วง ก็เอากำลังตำรวจ อส. อพปร.ไปกีดกันชาวบ้านอีก” มณีกล่าว

มณีกล่าวว่า ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กำลังพยายามจะจัดเวทีประชาพิจารณ์ใหญ่ ซึ่งเป็นขั้นตอนท้ายๆ ของการขอประทานบัตร นายทุนก็ออกมาขับเคลื่อนจัดกิจกรรม แจกของแจกปฏิทินที่ไม่บังควร แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯ กลับออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ เรียกร้องให้มาทบทวนว่าขั้นตอนไหนผิดบ้างตลอด 15 ปี แล้วมาดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์ โดยขอให้ทหารระงับด้วย

ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มอนุรักษ์ออกมาจัดกิจกรรมแห่ขอพรกับกรมหลวงประจักษ์ฯ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทฯ (บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด) ได้ไปประชาสัมพันธ์เรื่องเหมืองโปแตชที่ตลาดใน ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรานี  

ก่อนหน้านี้ ทหารก็จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช ในค่ายทหาร ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจและอึดอัดใจมากขึ้น จึงต้องจัดกิจกรรมเพื่อเสริมขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองโปแตชมาเป็นเวลานาน แต่กลับถูกมองราวกับว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ชาวบ้านก็ทำเพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านตนเอง ทำเพื่อปากท้องของลูกหลานในอนาคต

ขณะที่มณี กล่าวย้ำว่า ที่ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ เพราะการทำเหมืองแร่โปแตช ไม่ได้ทำในที่ดินของ สปก. หรือที่ดินสาธารณะ แต่ทำในที่ดินที่มีโฉนด คือใต้บ้านของเรานั่นเอง เราจึงมีความกังวลใจเรื่องดินจะทรุด น้ำจะเค็ม ใช้ไม่ได้ ดินจะเค็ม ทำนาไม่ได้ อีกทั้งการทำอุตสาหกรรมจะเป็นการมาแย่งน้ำกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำทำการเกษตรอย่างเพียงพอ

พล.ต.อำนวย ชี้แจงกับชาวบ้านว่า จะจัดกิจกรรมเดินขบวนก็ได้ ไม่ได้ห้าม แต่มีปัญหาตรงคำว่า ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’ ในคำประกาศที่ชาวบ้านอ่านในวันนั้น เพราะเมื่อนายรู้จะตำหนิตนเองได้ว่า ทำไมปล่อยให้ชาวบ้านออกมาทำอย่างนี้ได้ ต่อไปถ้ากลุ่มอนุรักษ์ฯ จะทำอะไรให้โทรบอกตนด้วย และถ้าบริษัททำอะไรชาวบ้านก็ให้โทรแจ้งตนด้วย ตนจะจัดการบริษัทให้ ทำให้ชาวบ้านถามกลับว่า บอกแล้วทหารจะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าช่วยได้ ช่วยบอกบริษัทไม่ให้มาทำเหมือง เพราะถ้าบริษัทไม่ทำเหมือง ชาวบ้านก็ไม่ต้องมาที่ค่ายทหารนี้อีก จะได้ไปทำมาหากินตามปกติ 

ทั้งนี้ พล.ต.อำนวย ถามชาวบ้านด้วยว่า ชาวบ้านเขียนคำประกาศที่อ่านในกิจกรรมวันที่ 7 ก.พ. เองหรือไม่ ซึ่งชาวบ้านให้คำตอบว่า เขียนเองจากความเห็นของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ

การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้น ทหารได้ให้ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ เขียนชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งถ่ายรูปร่วมกัน โดยกล่าวทีเล่นทีจริงว่า จะได้ตามจับตัวได้ง่าย พร้อมกันนี้ พล.ต. อำนวย ได้มอบผ้าห่มให้ชาวบ้านคนละ 1 ผืน ก่อนเดินทางกลับด้วย

20161202232225.jpg

ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ