เวทีประชุมหาทางออกเหมืองแร่โปแตช นักวิชาการชี้! ต้องมีเวทีวิชาการรับฟังผลกระทบ ก่อนมีมติจัดเวทีวิชาการอีก 2 เดือนข้างหน้า
26 มิ.ย. 2558 เวลา 13.00 น. มีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช ณ ห้องประชุมสบายดี ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี โดยมี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในที่ประชุม มีตัวแทนจาก มทบ.ที่ 24 ผู้กำกับ สภอ.เมืองอุดรธานี และตัวแทนประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 300 คน ร่วมให้กำลังใจตัวแทนชาวบ้าน อยู่บริเวณด้านหน้าห้องประชุม ก่อนมีมติร่วมต้องมีเวทีวิชาการเรื่องผลกระทบทั้งด้านบวกและลบก่อนทำประชาคมเหมืองแร่โปแตช
การประชุมเริ่มต้นด้วยการชี้แจงสถานการณ์ในพื้นที่ โดยนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานีชี้แจงถึงสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการจัดเวทีให้ความรู้ด้านผลดีการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่ง นางมณีชี้แจงว่าเป็นการทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมครั้งก่อนว่าจะไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ จนกว่าจะประชุมจนได้มติร่วม อีกทั้งกลุ่มอนุรักษ์มีความกังวลว่าจะเป็นการเอาข้อมูลไปแอบอ้าง ว่าได้จัดทำเวทีประชาคมแล้ว
ด้านบริษัทฯ มีการชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเวทีให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เวทีประชาคมและไม่เอาข้อมูลไปดัดแปลงเป็นเวทีประชาคม ชาวบ้านและตัวแทนฝ่ายบริษัทได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนทำให้ในหลายจังหวะชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ
ส่วนนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ตั้งคำถามกับทางบริษัทฯ ถึงความคุ้มค่าของการทำเหมืองแร่โปแตชว่า จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆได้จริงหรือ
จากนั้น นางสาวสมพร เพ็งคำ นักวิชาการจากสถาบันจุฬาลงกรณ์ได้สอบถามถึงผลกระทบที่จะตามมาในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องปัญหาน้ำ การทรุดตัวของดิน ปัญหาจากภัยพิบัติต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งแผ่นดินไหว พายุ และภัยแล้งอีกทั้งปัญหาสุขภาพของชาวบ้านที่จะตามมาว่าหากมีผลกระทบเกิดขึ้นจะมีแนวทางในการช่วยเหลืออย่างไร
นางสมพร กล่าวว่า ควรมีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและนำข้อมูลทางวิชาการมาแลกเปลี่ยนในทุกภาคส่วนให้ชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะลงไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ใช่การให้ข้อมูลด้านดีเพียงอย่างเดียว
เวลาประมาณ 17.00 น. หลังจากมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งฝ่ายบริษัท ชาวบ้าน และนักวิชาการแล้วนั้น ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันคือ ต้องมีการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นเสียก่อน ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายน และในช่วงนี้จะต้องไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช