ประชาชนหลายเมืองในรัฐฉานจัดกิจกรรมอนุรักษ์แม่น้ำให้อยู่คู่วิถีชีวิตผู้คน ขณะ “Action for Shan State Rivers” องค์กรชุมชนและภาคสังคมในรัฐฉาน แถลงเรียกร้องหยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในพื้นที่สู้รบ
14 มี.ค. 2558 องค์กรชุมชนและภาคสังคมในรัฐฉานในชื่อ Action for Shan State Rivers ได้ออกแถลงการณ์ แม่น้ำกับวันต่อต้านเขื่อนโลก เรียกร้องให้หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรง และจัดแถลงข่าวที่เมืองตองจี รัฐฉานตอนใต้ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่หลายเมืองในรัฐฉานอย่างเมืองสี่ป้อ เมืองต้างยาน เมืองน้ำสั่น เมืองปั่น เมืองกุ๋นเหง และเมืองเลน ท่าขี้เหล็ก ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์แม่น้ำในแต่ละเมือง
ชุมชนในรัฐฉานต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติหยุดแผนการที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำในรัฐฉานทันที โดยระบุว่า เขื่อนขนาดใหญ่ 43 แห่ง ที่วางแผนดำเนินโครงการในเมียนมาร์ กว่าครึ่งหนึ่งอยู่บนแม่น้ำในรัฐฉาน และหลักๆ อยูบนลำน้ำสาละวิน ท่ามกลางความกังวลมากมาย ทั่งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความจริงที่ว่า เขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง
เขื่อนกุ๋นหลง (Kunlong) เขื่องแห่งแรกบนลำน้ำสาละวิน ในภูมิภาคโกกัง (Kokang) ซึ่งมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เกิดเหตุสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังโกก้าง (MNDAA) ทำให้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนผู้ต้องอพยพออกจากพื้นที่กว่า 100,000 คน
แม้โครงการเขื่อนเขื่อนกุ๋นหลงจะหยุดชะงักไป แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงผลักดันแผนการเดินหน้าเขื่อนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
เขื่อนเมืองโต๋น (Mongton) หรือเขื่อนท่าซาง (Tasang ) ในสาละวิน ทางภาคใต้ของรัฐฉานก็เป็นพื้นทีที่ยังคงมีความขัดแย้ง และตั้งอยู่ในเขตรอยต่อพื้นที่ควบคุมของกองทัพรัฐฉานและกองทัพว้า (UWSA) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทจีน ไทย และพม่า ก็ได้จัดให้ข้อมูลประชาชนเป็นครั้งแรกที่เมืองตองยี (Taunggyi ) เพื่อเตรียมการสร้างเขื่อน
ทั้งนี้ โครงกานเขื่อนท่าซาง ซึ่งถูกยกให้เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 7,000 เมกกะวัตต์ เป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนจากจีน พม่า และไทย คือ กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล โดยไฟฟ้า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทยและประเทศจีน
ขณะนี้ ชุมชนในรัฐฉานยังได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้พรรคการเมืองในรัฐฉานและกลุ่มติดอาวุธ ออกมาสนับสนุนประชาชนเพื่อหยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในรัฐฉานด้วย
ดูข้อมูล: http://www.shanhumanrights.org/
ที่มาภาพ: เครือข่ายชาติพันธุ์ไทใหญ่รัฐฉาน
000
ประมวลภาพ กิจกรรมอนุรักษ์แม่น้ำในแต่ละเมืองของรัฐฉาน
ภาพด้านหลังพิธีขอพรให้แม่น้ำและผืนดินที่เมืองเลน ท่าขี้เหล็กเป็นแม่น้ำคำ ที่ถูกบริษัทขุดทองคำทำลายจนแห้งขอด ชาวบ้านสูญเสียที่ทำกิน
เมืองต้างยาน ภาคเหนือของรัฐฉาน
เมืองปางลอง ภาคใต้รัฐฉาน
เมืองปั่น ภาคใต้รัฐฉาน
เมืองน้ำสั่น ภาคเหนือ รัฐฉาน ชาวบ้านปะหล่อง
เมืองกุ๋นเฮง และพระธาตุเก่าแก่ หม่วยต่อหัวลึง
กิจกรรมที่เมืองนาย
ภาพจากเมืองสี่ป้อ