ฝันแห้งๆ ของลุงบุญมี

ฝันแห้งๆ ของลุงบุญมี

IMG_59171

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร / ภาพ: สิริกัญญา ชุ่มเย็น – ปธานิน กล่อมเอี้ยง

1.
ย้อนเวลากลับไปสมัยยังหนุ่ม นายบุญมี วิยาโรจน์ เคยมีความฝัน

ตอนนั้นเขาอายุราวยี่สิบต้นๆ เพิ่งมีเมีย บุญมีไม่ได้ฝันอยากรวย อย่างนั้นไปซื้อหวยดูมีความหวังกว่า ฝันของเขาง่ายๆ แค่ขอให้ลูกที่เกิดมาไม่อดอยาก พูดแบบบ้านๆ คือไม่จนเหมือนพ่อของมัน  ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อกาฬสินธุ์มันไม่มีที่ทางให้ทำมาหากิน ในวัย 7 ขวบ พ่อ บุญมี พี่สาว พี่ชาย และน้องชาย อพยพหนีเสียงท้องร้องมาตายเอาดาบหน้าที่โคกยาว ในตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ-ที่ที่เขาเรียกมันว่าบ้านในปัจจุบัน อันที่จริงจะเรียกว่าบ้านก็คงไม่ถูกนัก จากสายตา ไม่ว่าจะพลิกเหลี่ยมมุมไหนขึ้นมาดู มันก็คือกระต๊อบดีๆ นี่เอง

“เรามีฐานะยากจน จนมาตั้งแต่ผมยังเด็ก การดำรงชีวิตมันขัดเขิน ถ้าไม่มีก็ต้องวิ่งหากู้ยืมเขา ลำบากมาจนถึงทุกวันนี้ แต่การมีเจ้าหน้าที่มาติดป้ายขับไล่มันแย่กว่า ชาวบ้านที่อยู่ในนี้อยากให้ยกเลิกป้ายประกาศ ชาวบ้านจะได้อยู่แบบปกติสุข ให้พวกเราได้อยู่ ได้ทำมาหากินกัน เพราะเราก็รอเรื่องโฉนดชุมชนจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา อยากให้รับรองสิทธิชุมชน”

Untitled-1

การติดป้ายขับไล่ที่บุญมีพูด หมายถึงเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ กว่า 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศไล่รื้อ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

เอาให้เข้าใจง่ายกว่านั้น หมายถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารภายใต้กฎอัยการศึก กำลังจะสั่งให้ชาวบ้านทุกคนในพื้นที่ซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวน ออกไปจากพื้นที่ให้หมด ภายใต้ยุทธการทวงคืนผืนป่า หลังเผชิญชะตากรรมการถูกขับไล่มาโดยตลอด

“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไงเราก็ยังมีสิทธิชุมนุมเรียกร้องเพื่อต่อรอง” บางเสียงว่าอย่างนั้น

ในการสนทนาหลังมื้อเที่ยงอันประกอบไปด้วย แกงเห็ด แกงหอยใส่ผักชีลาว และซุปมะเขือ เราบอกไม่ได้หรอกว่าลุงบุญมีในวัยเกือบ 60 ยังมีความฝันอยู่ไหม บางเรื่องราวในสารคดีชิ้นนี้คงพูดแทนได้ดีกว่า

2.
แสงบ่ายร้อนระอุ ร้อนเสียจนคนจากกรุงเทพฯ ที่เคยชินกับเนื้อตัวแห้งๆ ในห้องปรับอากาศเหงื่อแตกพลั่ก เราไม่รู้หรอกว่าคนที่นี่จะรู้สึกรู้สากับอุณหภูมิที่ทิ่มแทงผิวหนังขนาดนี้ไหม หรือพวกเขาอาจสนิทกับแดดกับความจนถึงขนาดเรียกมันว่าเพื่อน

ขณะกำลังเก็บกระติบข้าวเหนียวขึ้นวางบนแคร่ เราถาม สุภาพ คำแหล้ ว่าหากทหารมาอีกรอบจะทำอย่างไร

พวกเราไปไหนไม่ได้จริงๆ เพราะที่นี่คือบ้าน – เป็นคำตอบของเธอ

“เราเข้ามาอยู่ก่อน ตั้งแต่ตรงนี้ยังไม่ใช่ตำบลทุ่งลุยลายด้วยซ้ำ ชุมชนก็ตั้งอยู่ตามไร่ตามสวน สร้างที่อยู่อาศัยเป็นกระท่อมของใครของมัน จริงๆ พ่อแม่มาอยู่ก่อน ส่วนฉันย้ายตามมาจากกาฬสินธุ์ตอนปี 2511 อายุประมาณ 17 – 18  ทุกวันนี้ 64 แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการปลูกป่ายูคาลิปตัส ก็ทำไร่ข้าวโพดกับถั่วแดง หน้าฝนเราก็พอได้ปลูกผัก กินเองบ้าง เอาไปขายในตลาดบ้าง แต่พอปลูกไม้ยูคามันก็ไม่มีน้ำหรอก มันดูดน้ำไปหมดแล้ว”

ว่ากันแบบย่นย่อเอาพอให้เห็นภาพ ปี 2496 บ้านทุ่งลุยลายยังเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า โดย พรม บุญบำรุง ผู้ใหญ่บ้านบ้านคลองบอน ตำบลคอนสาร ได้เข้ามาบุกเบิก จากนั้นปี 2504-2506 จึงมีการอพยพอีกหลายครอบครัวตามมา ในปี 2509 จึงมีการเข้ามาทำสัมปทานตัดไม้

ปี 2516 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย ทุ่งพระ และห้วยยาง เนื้อที่ประมาณ 290,000 ไร่ มีการเข้าจับกุม ข่มขู่ชาวบ้าน และทำลายทรัพย์สิน

มีโครงการปลูกสวนป่าทดแทนพื้นที่สัมปทานในปี 2528 ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูก โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน รับปากว่าจะหาที่ดินทำกินให้ใหม่ แต่พื้นที่จัดสรรให้มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจึงตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ ส่งผลให้หลายครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน

ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มี ธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป

ต่อมา คณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน

ปี 2553 ตามมติ ครม.เห็นชอบให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา และเนื่องจากพื้นที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ทว่าในทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน ด้วยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการละเมิดสิทธิ ถูกข่มขู่ คุกคาม อยู่สืบเนื่องเรื่อยมา

มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านทำให้บางคนต้องระเห็จไปนอนในเรือนจำ และท้ายสุดก็เข้าสู่ยุคทวงคืนผืนป่าในรัฐบาลจากการรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่ออยู่ก็ยังทำมาหากินปลูกผักปลูกอะไรไม่ได้ เราถามว่าทำไมไม่ออกจากพื้นที่ไปรับจ้างในเมือง

“คนรุ่น 60 – 70 ป่านนี้ใครจะไปจ้างล่ะ” สุภาพว่าซื่อๆ “เป็นแม่บ้านก็ทำงานให้เขาไม่ได้ ถ้ายังหนุ่มยังสาวกว่านี้เขาก็คงรับทำงานอยู่บ้าง คนงานก่อสร้างก็ไม่รับแล้ว ไปยกปูนให้เขาไม่ไหว แก่ขนาดนี้เอาไปทำปุ๋ยได้อย่างเดียว”

วูบนั้น เรานึกถึงภาพคนงานก่อสร้างที่ต้องแออัดเบียดเสียดกันอยู่บนรถที่เตรียมขนไปยังไซต์งานในกรุงเทพฯ และยังไพล่คิดไปถึงสถิติการถือครองที่ดินในประเทศไทยในปัจจุบันที่ชี้ว่า ครัวเรือนร้อยละ 20 ที่มีที่ดินมากที่สุด (หรือเศรษฐีที่ดิน) ครอบครองที่ดินถึงเกือบร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ ส่วนที่ดินที่เหลืออีกร้อยละ 20 คนร้อยละ 80 ต้องมาแบ่งกันถือครอง

IMG_6007

3.
นอกจากทำแกงหอยได้เด็ด นึ่งข้าวเหนียวอร่อยแล้ว คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือสุภาพยังเคยเข้าไปนอนในคุกมาแล้ว 16 วัน เพราะการต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ทำกินของตัวเอง เมื่อคำถามถึงสภาพในเรือนจำถูกโยนลงกลางวงสนทนา เสียงหัวเราะแบบขื่นขันก็ดังขึ้น

“แซ่บบ่ล่ะในนั้น” เพื่อนบ้านบางคนกระเซ้า ไม่มีใครบอกได้หรอกว่า ภายในอารมณ์ขันนั้น แฝงด้วยความรู้สึกชนิดไหน

“ไม่เอาแล้ว ไม่อยากเข้าไป” สุภาพตอบ “นอนรวมกัน ห้องน้ำก็มีประตูเตี้ยๆ นั่งลงไปแล้วปิดถึงแค่คอ คือทำเหมือนเราเป็นนักโทษร้ายแรง ที่ต้องไปนอนในนั้นเนื่องจากพี่น้องหาเงินหลักทรัพย์ไปประกันไม่ทัน”

สุภาพเป็นภรรยาของ เด่น คำแหล้ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่ไปยื่นหนังสือถึง 8 หน่วยงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ขอให้ทบทวนคำสั่งบังคับให้ราษฎรผู้เดือดร้อนออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาวโดยเร็วที่สุด หวังรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“ตอนนี้ที่ทำมีแค่เรื่องที่ดินอย่างเดียวที่จะถูกขับไล่ จะโยกย้ายอพยพตัดฟันสิ่งของ ทำงานเอกสารไปใช้แต่ละเวที ช่วงนี้ก็วุ่นวาย คือพื้นที่ทั้งหมดทั้งปวงที่ล้อมรอบเราอยู่ไม่มีปัญหา แต่เขาพยายามจะขับไล่คนกลุ่มเดียวที่อยู่ตรงกลาง บุกรุกใหม่ก็ไม่เกี่ยว ปลูกยางเมื่อปีที่แล้วก็ไม่เกี่ยว ไม่เห็นป่าไม้เขาทำอะไร”

เด่นเล่าให้ฟังว่า ที่มาปิดประกาศครั้งล่าสุดถือเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีครั้งต่อไป จะมารูปแบบไหนก็ยากคาดเดา

“ครั้งนี้จะให้เราออกไปเลย ให้ไปอยู่ชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งตรงนั้นก็กำลังจะโดนไล่เหมือนกัน ถามหน่อยเถอะว่า ที่ที่จะให้เราไปอยู่ ตรงนั้นเป็นป่าหรือเป็นที่เตียน เราไปก็ต้องให้เราได้รับประโยชน์บ้าง มะม่วง มะขาม หรือมีต้นไม้ที่เก็บใช้ประโยชน์ได้เลย มีไหม ไม่ใช่เอาไปทิ้งไว้กลางถนน น้ำ ไฟ เตรียมพร้อมไหม ตอนนี้เป็นป่าทั้งนั้น ไม่มีอะไรเลย ไปไม่ไหวแน่นอน แหล่งน้ำไม่มี แหล่งผักก็ไม่มี”

ไม่ได้อยากละลาบละล้วง แต่เราอยากรู้จริงๆ ว่า รายได้ต่อเดือนของคนที่นี่ตกอยู่กี่บาท เด่นบอกว่าประมาณ 1,000 – 2,000 บาท

“ก็พอหล่อเลี้ยงครอบครัว ซื้อข้าวคนด้วย ข้าวไก่ด้วย น้ำปลา ชูรส ปลาร้า ถ้าคิดเป็นวันก็ได้ประมาณวันละ 200 บาท แต่เราก็ไม่ได้หาทุกวัน ไม่ได้ไปรับจ้างทุกวัน 2,000 นี่ถือว่าสูงสุดแล้ว บางเดือนก็ไม่ถึง เพราะมันไม่มีอะไรทำ ไม่มีใครจ้าง บางวันก็ไปหาปลาซิวปลาสร้อยมา แล้วก็ทำเป็นถุงไปขาย ถุงละ 20 บาท บางทีก็ขายหมด ถ้าขายไม่หมดเราก็เอามาทำหมกไปขายวันหน้า พอได้เงินมาใช้ให้ตัวเองอยู่รอดไป ไม่มีเก็บ”

“ทำไมถึงคิดลุกขึ้นสู้” เราถาม

“เมื่อถูกลิดรอนสิทธิไปด้วยการใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืน บังคับไม่ให้ปลูก ไม่ให้ทำอะไร แต่ไม่บอกว่าจะให้เราไปอยู่ที่ไหน ให้ทำยังไงต่อไป การประกอบอาชีพที่ทำอยู่มันก็มีรายได้ไม่พอเพียงอยู่แล้ว พี่น้องก็ถูกลอยแพ มันไม่มีทางไปแล้ว”

“มีคนบอกว่าชาวบ้านทำให้ป่าโทรม จริงไหม” เราสงสัย

“มันไม่เห็นโทรมอะไร ป่าไม้ก็ยังเหลืออยู่ตามสภาพ ผมไม่รู้ว่าโทรมยังไง ถ้าชาวบ้านไม่รักษามันก็คงหมดแล้ว ที่ป่าหมดเพราะอะไร เขาเอาไปแปรรูปขายหมดแล้ว เบื้องต้นคือการเปิดสัมปทานเป็นหลัก โครงการปลูกป่ายูคามันได้ประโยชน์อะไร รัฐคิดดีแล้วใช่ไหมถึงเอามาปลูก น้ำแห้งหมด

“รัฐบาลต้องทบทวนใหม่ คำว่าประชาชนบุกรุกทำลายป่าทำให้ป่าสาบสูญมันจริงหรือไม่ เอาอะไรมาชี้วัด เอาอะไรมาเป็นตัววินิจฉัย คำว่าประชาชน คนทุกข์ คนจน คิดทำลายล้างป่า จนป่าเสียหายไปเป็นแสนล้านไร่ เขาเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าคนจนทำ สำหรับนายทุนรวยๆ เขาเอาเครื่องมาตัดกันคึกโครม นั่นไม่ทำลายป่าไม้หรือไง”

IMG_58794

4.
ปราโมทย์ ผลภิญโญ  ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ทัศนะว่า ปัญหาที่แท้จริงของการจัดการทรัพยากรป่าไม้คือ เรื่องการผูกขาดอำนาจการจัดการไว้ที่หน่วยงานรัฐ และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดหรือทัศนะให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงคือชาวบ้าน ในกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับก็ไม่มีพื้นที่สำหรับเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการเข้าไปบริหารจัดการเลย

เขาเสนอว่า มาตรการระยะสั้นคือต้องยกเลิกแผนแม่บทป่าไม้ฉบับนี้ ยุติไปเลยให้ชัดเจน ลำดับต่อมาคือรากฐานความคิดในการผูกขาดการจัดการป่าของรัฐ พูดให้ทันสมัยคือปฏิรูปให้มีความเป็นประชาธิปไตยด้วยการกระจายอำนาจ

ชุมชนโคกยาวนั้นได้วางแผนการจัดการทั้งในเรื่องการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คือสมาชิกจะใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเท่านั้น

สำหรับแนวทางจัดการที่ดินนั้น อาทิ ห้ามนำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรม จะไม่มีกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันปรับรูปแบบการผลิตให้พัฒนาไปสู่การเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นต้น

5.
ข่าวหนึ่งบนโลกออนไลน์ลงภาพ บุญมี วิยาโรจน์ และ เด่น คำแหล้ อยู่หลังลูกกรงในห้องขัง ข้างตัวทั้งคู่มีถุงพลาสติกและน้ำดื่ม 1 ขวด

ไม่ได้อยากดราม่าหรือเรียกน้ำตาเพื่อความสงสาร แต่มันอดไม่ได้จริงๆ ที่ต้องคิดถึงประโยคที่ว่า คุกในประเทศนี้มีไว้ขังเฉพาะคนจน ชั่วขณะนั้น เสียงบุญมีก็ลอยเด่นเข้ามาในความทรงจำ

“เราเรียกร้องกันมาตลอดเพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหา เพราะพวกผมไม่ได้บุกป่า เราอยู่กันมาก่อน ในวัยหนุ่มผมเคยมีความฝันอยากให้ครอบครัวได้อยู่ได้กินแบบไม่มีความทุกข์ ผมเคยลำบากมาแล้ว พอมาเป็นหัวหน้าครอบครัวก็หวังจะพาครอบครัวเดินไปข้างหน้า อยากให้ครอบครัวได้ทำสวนทำอะไรแล้วมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ทุกอย่างก็กลับผันไป”

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น เราบอกไม่ได้หรอกว่าลุงบุญมีในวัยเกือบ 60 ยังมีความฝันอยู่ไหม และเอาเข้าจริงๆ คำถามข้อนี้เราก็ไม่กล้าถามเขาตรงๆ ไม่กล้าเลยจริงๆ เพราะแค่นี้เราก็เสียมารยาทกับพวกเขามามากเกินพอแล้ว

มันมากเกินไปแล้วจริงๆ

 

IMG_59331

IMG_60171

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ