เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เป็นหลักประกันทางรายได้ 2,400 บาทต่อเดือน มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน
8 เม.ย.2558 เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชน 5 เครือข่ายทั่วประเทศ คือ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกัน ด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ”ณ บริเวณลานสาธารณะ สำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ
การจัดเวทีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการจัดสวัสดิการของรัฐในด้านหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงวัยที่เหมาะสมในสังคมไทย พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้คนทุกวัยสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมสูงวัยด้วยกัน และเนื่องในโอกาศวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่ 13 เม.ย.ของทุกปี
ภายในงาน เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “ประชาชนขับเคลื่อนระบบบํานาญแห่งชาติเปลี่ยนผ่านจากประชานิยมสู่รัฐสวัสดิการ” เรียกร้องให้รัฐบาลมอบของขวัญให้คนไทยด้วยการปรับเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐาน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ อีกทั้งจะมีการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ให้สภาพิจารณาทันทีหากได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
ชุลีพร ด้วงฉิม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ ดังนี้ ในสภาวะที่อัตราการเกิดลดลง และจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีผลทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่รัฐและสังคมยังไม่ตื่นตัวต่อความเป็นสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการที่ยังไม่มีนโยบายหลักประกันทางรายได้หรือบำนาญเมื่อสูงวัยสำหรับทุกคน
ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่ควรเป็นสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนเมื่อสูงวัย (รัฐสวัสดิการ) เพื่อให้เป็นรายได้รายเดือนโดยคำนึงถึงการดำรงชีพอยู่ได้ของผู้สูงอายุ
ระบบบำนาญแห่งชาติประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 “บำนาญพื้นฐาน” ซึ่งเป็นการยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน โดยรัฐต้องอุดหนุนผ่านระบบภาษี และส่วนที่ 2 คือ “บำนาญที่มาจากการออม” โดยรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนออมตามกำลัง และรัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการออมให้กับประชาชน โดยเฉพาะการร่วมจ่ายเงินสมทบของรัฐในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีนอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ เห็นว่ารัฐควรมอบของขวัญให้กับประชาชนไทยด้วยการปรับ “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญพื้นฐาน” เพื่อเป็น “หลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ” โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
1. ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือนในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน ซึ่งในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 2,400 บาทต่อเดือน
2. ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน ในการเป็นกลไกที่มีบทบาทจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน
ส่วนข้อเสนอด้านการเงินการคลังเพื่อใช้ในการจัดบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รัฐต้องมีการจัดเก็บภาษีที่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ยกเลิกการลดหย่อนภาษีภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งรัฐต้องทำให้เป็นจริงให้ได้
อีกทั้งรัฐต้องเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร่วมออมได้แบบใกล้บ้านใกล้ใจ โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหน่วยรับออมเงินในระดับพื้นที่
“ระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นการทำงานบนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ชุลีพร กล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานมีทั้งซุ้มนิทรรศการมีชีวิต 5 เรื่องจาก 5 เครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องหลักประกันรายได้ บำนาญพื้นฐานเมื่อสูงวัย เครือข่ายผู้สูงอายุจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ เป็นบำนาญพื้นฐาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องหลักประกันรายได้เมื่อสูงวัยจะออมกันได้นานเพียงใด เครือข่ายสลัม 4 ภาคจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ สิ่งที่สังคมไทยสูงวัยยังเผชิญ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องการออมในชุมชน เพื่อสังคมสวัสดิการ
เรียบเรียงเรื่องและภาพจาก: บำนาญแห่งชาติ และ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ