13 ก.พ. 2559 องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงกรณีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทต่อเยาวชน สื่อมวลชน และชาวบ้านที่นำเสนอข้อมูลคัดค้านกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ จ. เลย โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีดังกล่าว แถลงการณ์ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
ประเทศไทย: ยุติการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทต่อเยาวชน สื่อมวลชน และชาวบ้าน ยกเลิกความผิดทางอาญาสำหรับข้อหาหมิ่นประมาท คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเเละสื่อมวลชน (กรุงเทพฯ, 12 กุมภาพันธ์ 2559) — องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) แถลงว่า ทางการไทยและบริษัทเหมืองทองคำซึ่งมีเจ้าของชาวไทยควรเพิกถอนการแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี สถานีโทรทัศน์องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส และบุคคลอีก 4 คนซึ่งเป็นสื่อมวลชนสังกัดหรือเคยทำงานในสังกัดไทยพีบีเอส นอกจากนั้นบริษัทเหมืองแร่ทองคำควรยุติการฟ้องคดีแพ่งความผิดฐานละเมิดต่อชาวบ้าน 6 คน ที่ขึ้นป้ายเกี่ยวกับเหมืองในชุมชนของตนเอง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กำลังดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 50 ล้าน บาท (1,400,000 เหรียญสหรัฐฯ) และขอให้ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการของไทยพีบีเอสเป็นเวลา 5 ปี โดยที่บริษัทกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของของบริษัทในด้านการดำเนินกิจการเหมืองทองคำและทองแดงแบบเปิดในจังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ระบุว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท (5,600 เหรียญสหรัฐฯ). บริษัทยังฟ้องคดีแพ่งความผิดฐานละเมิดเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 50 ล้าน บาท จากชาวบ้านหกคน ที่ขึ้นป้ายเรียกร้องให้ปิดเหมืองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ที่บริเวณซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเเละป้ายอื่น ๆ ตามถนนสาธารณะในหมู่บ้าน ป้ายที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเขียนว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” การพิจารณาคดีเริ่มต้นวันนี้ที่ศาลจังหวัดเลย และจะมีการพิจารณาคดีครั้งต่อไปวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เอมี สมิท (Amy Smith) ผู้อํานวยการองค์กรฟอร์ติฟายไรท์กล่าวว่า “คดีเหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาในทางที่เป็นอันตรายในประเทศไทย เพื่อปิดปากนักวิจารณ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และ “ในทางกลับกัน บริษัทกำลังทำลายชื่อเสียงตนเอง โดยการฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อเด็กและสื่อมวลชน บริษัทควรยุติการฟ้องคดีทันที” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศรายงานข่าวช่วงนักข่าวพลเมืองเกี่ยวกับ ค่ายเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยมีนักเรียนอายุ 15 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชน เป็นผู้รายงานข่าวดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในคลิปรายงานข่าวเยาวชนผู้รายงานข่าวกล่าวว่า “หกหมู่บ้านตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุงแห่งนี้ เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ” เธอยังได้บรรยายต่อว่า “ลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อนทำให้ใช้ดื่ม ใช้กินไม่ได้” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 รัฐบาลไทยส่งหนังสือทางการถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชี้แจงว่าคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยวิศวกรของรัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า แหล่งน้ำโดยรอบพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ปนเปื้อนสารไซยาไนด์ แคดเมียม และแมงกานีส รัฐบาลไทยยังระบุต่อไปว่า “สาเหตุของการปนเปื้อนยังไม่ชัดเจน ความเห็นของนักธรณีวิทยาระบุว่า ‘ทราบว่าก่อนหน้านี้พื้นที่นี้มีการร่องรอยเคลื่อนไหวของภูเขาไฟมาก่อน” ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เเละข้อหาอื่น ๆ ต่อ นางสาววิรดา แซ่ลิ่ม ผู้สื่อข่าว นายสมชาย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสในขณะนั้น นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส เเละนายโยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ ไทยพีบีเอส เเละสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย ข้อกล่าวหาอ้างว่า เนื้อหาของรายงานข่าวจากนักข่าวพลเมืองที่เผยแพร่ทั่วประเทศผ่านสื่อโทรทัศน์เเละสื่อออนไลน์ทำลายชื่อเสียงของบริษัท ศาลอาญากรุงเทพฯ กำหนดการไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 21 มีนาคม 2559 เพื่อพิจารณามูลฟ้องในคดีต่อสำนักข่าวไทยพีบีเอสและพนักงานไทยพีบีเอส เอมี สมิทกล่าวว่า “ไทยพีบีเอสปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวและเปิดพื้นที่สำหรับวาระของประชาชน” “ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เพียงคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ยังเป็นการพยายามปิดกั้นมิให้ให้คนไทยได้รับบริการสื่อสารมวลชนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เข้าแจ้งความคดีหมิ่นประมาททางอาญาสองคดี กับนักเรียนอายุ 15 ปี แยกต่างหาก โดยคดีหนึ่งยื่นต่อสำนักงานพินิจเเละคุ้มครองเด็กจังหวัดเลยและอีกคดีหนึ่งแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี กรุงเทพฯ สำนักงานพินิจเเละคุ้มครองเด็กจังหวัดเลยและสถานีตำรวจมีนบุรีกำลังพิจารณาสืบสวนข้อกล่าวหาที่บริษัท ฯ แจ้งความกับนักเรียนอายุ 15 ปี ว่าสมควรส่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวและพนักงานอัยการตามลำดับหรือไม่ องค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์กล่าวว่า การตั้งข้อหาเเละการฟ้องหมิ่นประมาทเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการคุ้มครองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การจำกัด สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจะกระทำได้เฉพาะต่อเมื่อการจำกัดเสรีภาพนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ได้สัดส่วน และเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายโดยชอบตามกฎหมาย การเเจ้งความเเละตั้งข้อหากับนักเรียนอายุ 15 ปี ไทยพีบีเอสและพนักงานไทยพีบีเอส เป็นการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบเหวี่ยงแหเพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกมีความเห็นว่า โทษจำคุกสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนต่อความผิดเเละเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังกำหนดหลักการคุ้มครองการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งระดับปัจเจกและระดับองค์กร ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามมติการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 องค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์กล่าวว่า ประเทศไทยควรยกเลิกความผิดทางอาญาสำหรับข้อหาหมิ่นประมาท สร้างกรอบทางกฎหมาย เเละกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิให้ดำเนินการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เริ่มดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่ทองคำอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2549 เมื่อ พ.ศ. 2550 ชาวบ้านหกหมู่บ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมืองร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” เพื่อรณรงค์ ด้านสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและคัดค้านการทำเหมืองแร่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการและบริษัทยุติการทำเหมืองแร่ทองคำอย่างถาวร แก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ ที่อาจเชื่อมโยงกับการทำเหมืองแร่ องค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์กล่าวว่า มีรายงานว่าผู้มีบทบาททั้งภาครัฐและเอกชนข่มขู่ คุกคาม เเละใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ชายฉกรรจ์สวมหน้ากากสีดำจำนวนอย่างน้อย 100 คน พร้อมท่อนไม้ มีด และปืน เข้าล้อมหมู่บ้านนาหนองบง ที่ตั้งอยู่ถัดจากเหมืองและทำร้ายชาวบ้านหลายคน ตามคำกล่าวที่พยานให้การต่อศาลจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 28 และ 29 ตุลาคม 2558 มีรายงานว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายดังกล่าวจับตัวแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเเละชาวบ้านหลายคนไว้ ในขณะที่รถบรรทุกขนย้ายแร่ออกจากเหมืองและหมู่บ้าน เหตุการณ์ดำเนินไปเกือบหกชั่วโมง ตามคำให้การของพยาน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาแทรกแซงใด ๆ และไม่ตอบสนองต่อการแจ้งเหตุจากสมาชิกชุมชนในคืนวันนั้น กองกำลังชายฉกรรจ์สวมหน้ากากปิดบังใบหน้ายังทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บอย่างน้อย 13 คน ทั้งมีผู้กล่าวอ้างว่า ชายกลุ่มนี้ขโมยทรัพย์สิน เช่น กล้องถ่ายรูป สร้อยคอทองคำ และเงินของชาวบ้านไป กองกำลังชายฉกรรจ์ยังทำลายสิ่งกีดขวางที่สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดสร้างขึ้นหลายเดือนก่อนหน้านี้เพื่อปิดกั้นถนนที่เข้าไปยังพื้นที่เหมือง ระหว่าง พ.ศ. 2550 ถึง 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเเละคดีเเพ่งอย่างน้อย 19 คดี ต่อสมาชิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจำนวน 33 คน บริษัทเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านรวมเป็นจำนวนเงิน 320 ล้าน บาท (8,930,000 เหรียญสหรัฐฯ) ทั้งนี้คดีที่กล่าวข้างต้นยังไม่ได้นับรวมการฟ้องคดีต่อไทยพีบีเอสด้วยข้อกล่าวหาว่าทำลายชื่อเสียงเเละธุรกิจของบริษัท องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ มีข้อเสนอแนะให้ทางการไทยและ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถอนข้อกล่าวหาที่บริษัทแจ้งความคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักเรียน สำนักข่าวไทยพีบีเอส ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เเละเรียกร้องให้บริษัทถอนฟ้องคดีแพ่งความผิดฐานละเมิดต่อชาวบ้านอีกหกคนด้วย ทางการไทยควรทุ่มเททรัพยากรที่มีเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการกิจการเหมืองแร่ทองแดงเเละแร่ทองคำ และการตรวจสอบการกองกำลังที่ใช้ความรุนแรงโจมตีชาวบ้าน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เอมี สมิท กล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการได้รับมาตรฐานด้านสุขภาพที่สูงสุดเท่าที่จะเป็นได้” เเละกล่าวต่อว่า “แทนที่จะสืบสวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เด็ก และสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ควรมุ่งตรวจสอบข้อกล่าวหาที่มีมายาวนานเรื่องการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากกว่า
|
คลิกอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ: http://www.fortifyrights.org/publication-20160212.html