พูดคุยเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ – ความท้าทายของคู่ขัดแย้งจากภาคประชาชน

พูดคุยเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ – ความท้าทายของคู่ขัดแย้งจากภาคประชาชน

 

คุยกับ รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

หลังงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3จัดขึ้นในวันที่ 28 ก.พ.59 จังหวัดปัตตานี

 

20160103000837.jpg

 

Q: จากแถลงการณ์ของทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่าย MARA PATANI มาเลเซียในฐานะคนกลาง และครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ – มีความคืบหน้าสำคัญอะไรที่คนในสังคมควรรับรู้

ผมคิดว่าคือการเชื่อมร้อยประเด็นเฉพาะของกลุ่มทำงานเฉพาะด้าน หรือปัญหาเฉพาะของแต่ละกลุ่ม มาสู่ปัญหาภาพใหญ่ และภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้หรือในพื้นที่ปัตตานี คือเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่น วิธีที่ชาวเทพาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คำแถลงการณ์เรื่องการคัดค้านโรงไฟฟ้าแต่พยายามเชื่อมโยงมันกับกระบวนการสันติภาพ ผมคิดว่ามันเป็นเนื้อหาสาระที่คนในพื้นที่ซีเรียส คือการคัดค้านโรงไฟฟ้าไม่ใช่เป็นเรื่องแค่สิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสิทธิชุมชนเพียงอย่างเดียวในบริบทที่เราเข้าใจในสังคมไทย สำหรับที่นี่ กำลังพูดถึงอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติภาพด้วย อันนี้น่าสนใจ และประเด็นแหลมคมอย่างเรื่องการละเมิดสิทธิ ว่ามันจะไปด้วยกันได้ยังไงกับเรื่องสันติภาพในขณะที่ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ปลอดภัย อันนี้ก็เป็นคำถามใหญ่ที่คนข้างนอกอาจจะไม่เห็นนะ แต่ว่าคนข้างในซีเรียส

ผมว่ามุมใหม่ๆ ของกลุ่มเยาวชนก็น่าสนใจ การพูดถึงเรื่องการไปข้างหน้า เรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่การต่อสู้แบบอื่น เป้าหมายแบบเดิมสู้ได้อยู่ แต่จะสู้แบบไหนี่ไม่ใช้กำลัง อะไรแบบนี้ก็น่าสนใจ

 

Q: มันสะท้อนไหมว่าสันติภาพในมุมมองของประชาชนต่างจากสันติภาพในมุมมองของฝ่ายรัฐและ MARA PATANI?

มันต่างกัน และนั่นเป็นความท้าทายของทั้งสองฝ่ายข้างบน ว่าจะทำยังไงที่คุยแล้ว จะเอาประเด็นจากข้างล่าง จากผู้คนจริงๆ ขึ้นไปต่อรอง ในขณะเดียวกันต้องให้หลักประกันว่าที่คุณคุยไปแล้ว มันจะเกิดอะไรกับข้างล่าง คุณต้องลงมาเชื่อมโยงกับผู้คน มันเป็นความท้าทายของข้างบนมากกว่า

 

Q: ภาพรวมวันนี้คนข้างบนใน Track 1 (ฝ่ายรัฐบาลไทยและ MARA PATANI) ดูจะมีทางรับฟังประชาชนไหม?

ผมว่าการตอบรับงานนี้ของท่านพลโทนักรบ บุญบัวทอง และผมก็ทราบว่ามีบทความ มีการเกาะติด การให้ความสำคัญกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของท่านพล.อ.อักษรา เกิดผล ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย และที่เราทราบคือทางกลุ่ม MARA PATANI เองก็ชมการถ่ายทอดสดเหมือนกันที่ KL จริงๆ วันนี้เขามีประชุมกัน แต่ได้ข่าวว่ายกเลิกการประชุมและมานั่งฟังการถ่ายทอดแทน นั่งฟังคำแถลงของประชาชน ผมว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการติดตามความเคลื่อนไหว แต่ว่าประเด็นที่อยู่บนเวทีจะถูกให้ความสำคัญหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไป ผมว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้พูดต่อหน้าหัวหน้าคณะพูดคุยว่าถ้าผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติสุขนะ ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยจะเอาไงกับประเด็นที่มันแหลมคมอย่างนี้  แล้วทางกลุ่ม MARA PATANI จะว่ายังไง อันนี้ก็น่าสนใจ

 

20160103001707.jpg
(เครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ PERMATAMAS แถลงการณ์ในช่วงวาระสันติภาพจากประชาชน คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี้ ครั้งที่ 3)

 

Q: ภาพรวมของ Peace Process ของจังหวัดชายแดนใต้เป็นยังไง?

คืบหน้า แต่ช้า และค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีความหวาดระแวงและความไม่มั่นใจสูงระหว่างทั้งสองฝ่าย และยังไม่มีฉันทามติในฝ่ายตัวเอง ในฝ่ายรัฐบาลไทย เรามีรัฐบาลและกองทัพที่ใกล้ๆ คล้ายๆ จะเป็นเนื้อเดียวกันก็จริง แต่ยังมีความแตกต่างกันอยู่เยอะ ในขณะที่ฝ่ายต่อสู้ปาตานีเองก็ยังมีข้อขัดแย้งในเรื่องกลยุทธ์การพูดคุยเจรจาต่อรองมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ความท้าทายของ MARA PATANI คือจะดึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยกับการเจรจาและยืนยันว่าการใช้กำลังคือทางออก ให้เข้าร่วมกระบวนการนี้ทั้งหมดยังไง และท้ายที่สุดคือ การทำให้คนในพื้นที่มันเห็นจริงๆ ว่ากระบวนการสันติภาพเดินหน้า นี่คือสภาพการณ์ทุกวันนี้

 

Q: งั้นพูดได้ไหมว่าวันนี้ ดูเหมือนคนในพื้นที่จะเป็นฝ่ายชัดเจนที่สุด?

ไม่เชิง ไม่ขนาดนั้นนะ เพราะแต่ละคนก็มีความชัดเจนในงานของตัวเอง เพราะนี่คือธรรมชาติของ Peace Process ที่มันฟังก์ชั่น มียุทธศาสตร์ที่แตกต่างในแต่ละระดับ และคนข้างบนก็ไม่สามารถพูดหรือนำเสนอได้อย่างที่คนที่เจอปัญหาจริงๆ ในพื้นที่ทำ นี่คือข้อแตกต่าง ปัญหาคือจะทำยังไงให้ที่แตกต่างทั้งหมดนี้มาแชร์กัน พูดแบบโบราณคือมาบูรณาการกัน ให้มันสอดคล้องกับกับความคืบหน้าของกระบวนการด้วย การได้ข้อตกลงที่มีการประนีประนอมกันด้วย และในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้วย เรื่องนี้ไม่ง่ายครับ ต้องใช้เวลา

 

Q: คำถามสุดท้าย คนในสังคมที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ จะเข้ามามีส่วนร่วมใน Peace Process นี้ได้อย่างไร?

อันนี้ท้าทายมากนะครับ เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาสำคัญในการที่จะรับรองข้อตกลงเหล่านี้ เรื่องหนึ่งที่เป็นไปได้ที่สุดคือการเกาะติดสถานการณ์ คนในสังคมไทยอาจจะรู้สึกเดือดร้อนน้อยกว่าคนในพื้นที่ อันนี้ก็อาจจะจริง แต่อย่าลืมนะครับว่าภาษีเอย งบประมาณเอย เป็นของทุกท่าน ชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาแก้ปัญหาความมั่นคงที่นี่ก็ต้องมาสูญเสียที่นี่เยอะ ไม่ต่างจากคนในพื้นที่ แรงบีบคั้นของความรุนแรงมันทำให้จำเป็นจริงๆ ที่จะทำให้คนเราต้องหาทางออก

อีกทางที่อาจช่วยได้คือถ้าเรามีการเลือกตั้ง พลังของข้อเสนอทางนโยบายที่จะแสวงหาสันติและการพูดคุยสันติภาพน่าจะเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมืองได้แล้ว ผมคิดว่าถ้าสังคมไทยซีเรียสกับการสูญเสียจริงๆ เห็นอกเห็นใจคนในพื้นที่จริงๆ ก็ควรจะกดดันให้พรรคการเมืองหรืกลุ่มพลังต่างๆ มีนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ