พม่ากำหนดลงนามข้อตกลงหยุดยิง 15 ต.ค. มีกองกำลังชนเกลุ่มน้อยร่วมลงนาม 8 กลุ่ม และยังมีหลายพื้นที่เกิดการสู้รบต่อเนื่อง แต่ยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง 8 พ.ย.นี้
หลังความขัดแย้งและต่อสู้กันทางการเมืองและการทหารมาอย่างยาวนานในประเทศพม่า และเริ่มมีการเจรจราเพื่อยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์มากว่า 2 ปี ในวันพรุ่งนี้ (15 ตุลาคม 2558) ที่กรุงเนปิดอร์ รัฐบาลพม่ากำหนดจะมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ 8 กลุ่มได้เดินทางมาถึงกรุงเนปิดอร์แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีกองกำลังและกลุ่มชาติพันธ์อีกหลายกลุ่มปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง และยังคงมีการสู้รบในหลายพื้นที่
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เว็บไซด์ http://www.kwekalu.net ระบุ คณะทำงานด้านเทคนิคของ 8 กลุ่มชาติพันธุ์และคณะทำงานด้านเทคนิคของรัฐบาลพม่าได้ประชุมพูดคุยกันเพื่อเตรียมการจัดทำพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของ 1.KNU สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง 2.DKBA กะเหรี่ยงผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อประชาธิปไตย 3.KNLAPC สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง 4.RCSS กองทัพรัฐฉาน 5.CNF กองกำลังชาติพันธุ์ชิน 6.PNLO องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ 7.ALP พรรคปลดปล่อยอาระกัน 8.ABSDF แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ร่วมลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศครั้งนี้ และยังคงมีการสู้รบกันในหลายพื้นที่
เว็บไซต์ transbordernews อ้างอิง Tai Freedom /Irrawaddy/Panglong ระบุเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558 ไทใหญ่เหนือถูกทหารพม่ารุกหนัก กดดันให้ลงนามหยุดยิง โดย กองทัพพม่าได้ยิงปืนใหญ่ขนาด 120 มม.ใส่กองบัญชาการใหญ่ “บ้านไฮ” ของพรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) ทางภาคกลางของรัฐฉาน ถึง 8 ครั้ง โดยยังเคลื่อนกำลังพลเข้าใกล้ฐานบัญชาการใหญ่ของทหารไทใหญ่เหนืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเดินหน้าโจมตีฐานทัพของ SSPP/SSA ในหลายพื้นที่ ขณะที่ประชาชนจาก 7 หมู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงต้องหนีตายจากสงคราม
นาย จายละ โฆษกของ SSPP/SSA เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นสงครามรอบใหม่เกิดขึ้นหลังทางกองทัพพม่าสั่งให้ทหารไทใหญ่ถอนกำลังออกจากหมู่บ้าน ”ท่าสามปู” ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำป๋าง หลังทหารไทใหญ่ไม่ยอมทำตามจึงถูกทหารพม่าโจมตี โดยทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ นาย จายละ กล่าวว่า ท่าสามปู นั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ SSPP/SSA เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะใช้หลบหนีของทหารไทใหญ่ จึงจำเป็นต้องรักษาพื้นที่จุดนี้ไว้ มีรายงานว่า ทหารพม่าโจมตีทหารไทใหญ่อย่างหนัก ใช้ทั้งเครื่องบินรบโจมตี แต่ก็ถูกทหารไทใหญ่ดักซุ่มโต้กลับและสามารถยึดอาวุธของฝ่ายทหารพม่าได้ เช่น ปืนใหญ่ และกระสุนปืนอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สงครามที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนใน 7 หมู่บ้านราว 600 กว่าคน ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น
นอกจากนี้สำนักข่าว “แสนปาย” สำนักข่าวท้องถิ่นในรัฐฉานได้รายงานว่า ยังมีผู้หนีภัยสงครามอีกกว่า 600 คนหนีตายไปอยู่ในตัวเมืองของเมืองสู้ นับตั้งแต่ทหารพม่าเปิดฉากโจมตีทหารไทใหญ่ SSPP/SSA เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีทหารพม่าเสียชีวิตแล้ว 7 นาย บาดเจ็บอีก 35 นาย ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทาง SSPP/SSA ได้พยายามติดต่อกับทีมเจรจาสันติภาพฝ่ายพม่า เพื่อหาทางยุติการสู้รบที่เกิดขึ้น แต่ทางพม่าก็ไม่มีท่าทีตอบกลับแต่อย่างใด ทั้งนี้ SSPP/SSA ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2555 แต่จนถึงขณะนี้ยังถูกกองทัพพม่าโจมตีต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะทางพม่าต้องการข่มขวัญให้ SSPP/SSA ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ
ทางด้านทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ออกแถลงการณ์ระบุว่า 13 ตุลาคม พลโทเจ้ายอดศึกและคณะรวม 63 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของกองทัพ แขกของกองทัพ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะเดินทางไปยังกรุงเนปีดอว์เพื่อลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า RCSS/SSA เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองจำเป็นต้องให้หลายฝ่ายมาพูดคุยกันอย่างอิสระและมีความเสมอภาค โดยจะต้องนำรากเหง้าของปัญหามาพูดคุยกัน และจะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อกัน จึงจะสามารถแก้ปัญหาการเมืองที่ดำเนินมาหลายสิบปีได้ รวมทั้งทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล กลุ่มติดอาวุธ และพรรคการเมืองจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทแก้ไขทางการเมือง และย้ำว่า ควรจะนำเอาสัญญาป๋างโหลง เมื่อปี ค.ศ.1947 มาเป็นบทเรียน
มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าการลงนามข้อตกลงหยุดยิง มีกระแสข่าวว่าอาจมีการเลื่อนวันเลือกตั้งในพม่าออกไปด้วยเหตุผลว่าเกิดอุทกภัยบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าได้ออกหนังสือยืนยันการเลือกตั้งจะยังคงมีตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558