ผ่าทางตันทีวีชุมชน…ใคร…ต้องทำอะไร : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรา บุรารักษ์

ผ่าทางตันทีวีชุมชน…ใคร…ต้องทำอะไร : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรา บุรารักษ์

การผลักดันให้เกิดพื้นที่สื่อของประชาชน โดยการก่อกำเนิดทีวีชุมชน  ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระบบการแพร่ภาพสัญญานโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากแอนาลอคสู่ดิจิตอลที่กฏหมายกำหนดให้จัดสรรคลื่นความถี่ร้อยละ 20 แก่ภาคประชาชนและให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชนแก่ประชาชนที่สนใจและมีคุณสมบัติสอดคล้อง  แต่จนถึงขณะนี้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนการเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนเงื่อนไขยังไม่มีความชัดเจน  ประกอบกับท่าทีของผู้กำกับดูแล ระบุถึงข้อจำกัดหลายลักษณะ เช่นการเปลี่ยนผ่านทางเทคนิค และที่สำคัญงบประมาณที่จะสนับสนุนการก่อเกิดที่จะมาจากเงินกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีการระบุว่าจะต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการของทีวีบริการธุรกิจนั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรา บุรารักษ์  อาจารย์สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะวิทยาการจัดการสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา  ผู้ผลักดัน พะเยาทีวีชุมชน ร่วมกับสถาบันปวงผญาพยาว  ให้ความเห็นว่า

1.    ต้องมองการสนับสนุนและส่งเสริมออกเป็น2 ช่วงเวลา คือช่วงก่อนการมาเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และช่วงหลังได้รับใบอนุญาตแล้ว  โดยช่วงแรก คิดว่าการสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มที่เข้าข่ายจะยื่นขอหรือชุมชน กสทช. สามารถบริหารจัดการแหล่งทุนได้โดยไม่จำเป็นใช้แหล่งเงินจากกองทุนฯเพียงแหล่งเดียว  โดยอาจทำได้ผ่านโครงการหรือกิจกรรมในลักษณะที่คล้ายกับโครงการกิจกรรมของกสทช. ที่ทำ ๆ มา เช่นกิจกรรมการสร้างการรู้ทันสื่อให้กับผู้บริโภค  การทำแคมเปญหนังสั้น   หรือสร้างจริยธรรมสื่อ ฯลฯ อย่างที่เราทราบ ก็จะสามารถทำให้เกิดการขยับเคลื่อนของทีวีชุมชนในภาพใหญ่ที่กสทช. ลงมาดูแลและให้ความสำคัญเอง นอกจากนั้นยังจะทำให้เห็นหน้าเห็นตา เห็นความตั้งใจและศักยภาพของกลุ่มที่สนใจจะมาเป็นผู้ประกอบการทีวีชุมชนได้ชัดเจน    ส่วนช่วงที่ 2 อาจต้องใช้เงินที่มากขึ้นและมาจากแหล่งเงินที่มีระเบียบกติกาออกมาโดยเฉพาะ ให้ชัดเจนว่าต้องมีเงื่อนไขในการสนับสนุนและทำงานอย่างไรระหว่างกสทช.และผู้ได้รับใบอนุญาตไป  ไม่ใช่แทรก ๆ หรือเหมารวมอยู่ในแผนแม่บทหรือการบริหารกองทุนฯ ไม่กี่บรรทัด  

2.    การกำหนดให้ใช้เงินกองทุนฯ อุดหนุนการดำเนินการของทีวีชุมชน(ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว) เป็นการกำหนดขึ้นโดยระเบียบกติกาเดิม  อาจแก้ไขเพิ่มเติม เพราะเห็นกสทช. บอกว่าเงินได้ส่งคืนคลัง ฯ นั่นหมายถึงโอกาสที่จะจัดการ ออกกติกา เรื่องการอุดหนุนทีวีชุมชนได้ใหม่  โดยกสทช. ต้องเป็นเจ้าภาพ และเริ่มต้นทำ ไม่ใช่ให้ภายนอกหรือชุมชนเป็นฝ่ายเริ่ม เพราะเป็นการขอใช้เงินงบประมาณต่างๆ ในกิจการของกสทช. เอง  แต่ให้ภาคส่วนภายนอกมาช่วยออกแบบหลักเกณฑ์กติกาในรายละเอียดได้  แต่ถ้ายังบริหารภายใต้กองทุนฯ เดิมอยู่ ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้มีการส่งเสริมภาคชุมชนตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ให้เป็นรูปธรรม

ส่วนเรื่องที่ทีวีชุมชนต้องรอผลความสำเร็จของภาคธุรกิจ และการแลกคูปอง คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะทำให้ทีวีชุมชนเกิดหรือไม่เกิด เพราะอย่างไรเสียก็ต้องเกิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ  โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ทีวีชุมชนต้องติดเงื่อนไขดังกล่าว  เพราะกสทช. สามารถทำอะไรได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้   และอีกอย่างเรื่องเม็ดเงินที่มาจากภาคธุรกิจ หรือจากค่าธรรมเนียม (ย้ำว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาต) ก็น่าจะทราบตัวเลขและมีการชำระมาบ้างบางส่วนแล้ว   การจัดสรรมาหนุนช่วยก็ทำได้ ตามสัดส่วนที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้อยู่แล้ว  มาเท่าไหร่ก็จัดสรรไปเท่านั้น ทำไมถึงต้องรอผลสำเร็จของภาคธุรกิจ แต่ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าก้อนเงินจากการประมูลมาถูกนำไปใช้สำหรับอะไรบ้าง เท่าที่ดูก็ยังไม่เห็นมีโครงการอะไรที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของทีวีภาคชุมชน เลยไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้เราลืมเรื่องภาคชุมชนไปหรือเปล่า   

3.การคืนคลื่นอนาล็อคที่ผูกกับการรับชมดิจิตอลนั้น ใช้เวลา ระหว่างนี้ กสทช. ควรทำอะไร
    การเร่งรัดให้ขยายโครงข่ายก็เป็นเรื่องดีที่ต้องทำไปตามเงื่อนไขกำหนดระหว่างผู้รับใบอนุญาต แต่ความล่าช้าและผลเสียที่มีต่อภาคผู้ประกอบการสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับชุมชนจะทำอย่างไร  ตอนนี้ภาคชุมชนไม่เพียงแต่เสียโอกาสในการได้คลื่นฯ  แต่ยังเสียโอกาสในการเรียนรู้และถูก ให้เข้มแข็ง จากความเพิกเฉยของผู้กำกับนโยบายที่ไม่ดำเนินอะไรทั้งก่อนและหลังได้รับใบอนุญาต   
สิ่งที่กสทช.ควรดำเนินการในระหว่างที่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี ก็คือทำอย่างที่ได้กล่าวไปในประเด็นแรก คือ 1.ส่งเสริมภาคชุมชนก่อนที่จะเข้าสู่การจัดสรรใบอนุญาต  2. การกำหนดกติกาทั้งเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ของทีวีชุมชน และเกณฑ์การคัดเลือกให้ชัดเจนและต้องเสร็จเรียบร้อยล่วงหน้าเพื่อการเตรียมพร้อมของชุมชน  เพื่อไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของความเป็นสื่อชุมชน 

สำหรับประเด็นการใช้เคเบิลทีวี หรือดาวเทียม ได้หากชุมชนมีรายได้ที่จะจ่ายค่าออกอากาศให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลหรือดาวเทียมได้เลยเพราะไม่ใช่คลื่น  ซึ่งประเด็นนี้มีข้อคิดเห็น 2 ประเด็นคือ
1.    หากแพร่ภาพออกอากาศทางช่องทางดังกล่าว สามารถมีโฆษณาได้ใช่หรือไม่  และจะสอดคล้องกับลักษณะของทีวีชุมชนที่กสทช. กำหนดไว้หรือไม่  หรือเป็นทีวีธุรกิจระดับท้องถิ่นที่กสทช. เองก็จะต้องพิจารณาใบอนุญาตในอนาคตเหมือนกัน 
2.    เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในข้อข้างต้น และปล่อยให้ชุมชนทำงานอย่างโดดเดี่ยว กสทช. ควรพิจารณากำหนดให้การให้บริการกับชุมชน หรือ Community access เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการขอประกอบกิจการแบบไม่ใช้คลื่นความถี่ให้ชัดเจน เหมือนที่หลายประเทศได้ดำเนินการ เช่นกรณีเคเบิลทีวีท้องถิ่น ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามใช้แนวคิดของการเป็นสถานีฯ ท้องถิ่นที่ต้องการเป็นพื้นที่ในการสื่อสารของคนท้องถิ่น โดยออกพระราชบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีต้องจัดสรรเวลาให้ท้องถิ่น พร้อมกับให้แต่ละท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเข้าถึงโทรทัศน์ท้องถิ่นที่ให้บริการกับคนท้องถิ่นในด้านการฝึกอบรม  การใช้อุปกรณ์และห้องสตูดิโอสำหรับคนท้องถิ่นที่ต้องการผลิตรายการผ่านสถานีเคเบิลทีวี  หรือประเทศอิสราเอลมีการออกพรบ.  Knesset Bill     อนุญาตให้กระจายเสียงท้องถิ่น/ชุมชนผ่านเคเบิลและมีการจัดตั้งสมาคมเคเบิลทีวีขึ้น ที่มีคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากรัฐต่างๆ  ตัวแทนจากท้องถิ่นหรือชุมชน ตัวแทนจากภาคการศึกษาและวัฒนธรรมและตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมกันเพื่อหาข้อกำหนดในการดำเนินการสื่อกระจายเสียงท้องถิ่นร่วมกัน   

     ในเวลานี้ กสทช.น่าจะพิจารณาการทำงานในหลาย ๆ รูปแบบโดยใช้ความศักยภาพภายใต้สื่อกระจายเสียงที่ใช้คลื่นและไม่ใช้คลื่นให้คุ้มค่า บางอย่างเรากำหนดกติกาให้ส่งเสริมกันและกันได้  และพยายามทำในสิ่งที่เป็นความท้าทายมากกว่าโดยเฉพาะภาคชุมชน เพราะเป็นเรื่องใหม่และเป็นภาคผู้ประกอบการที่ต้องสร้างทั้งความรู้ ส่งเสริมและดูแลไป  และถือว่าน่าจะเป็นสื่อที่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านชุมชนของประเทศไทยที่สำคัญด้วย  

———————————————————-
    
แนบท้ายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

1.    แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 /2555-2559) 
ยุทธศาสตร์ 5.1 วงเล็บ 8-10
๘) กําหนดหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากําไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ
 ๙) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน
๑๐) จัดทําแผนสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ตัวชี้วัด
๙) มีหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และการส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ในกิจการบริการชุมชนด้านกิจการกระจายเสียง ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการภายใน ๒ ปี
 ๑๐) มีหลักเกณฑ์การให้ใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และการส่งเสริมการเข้าใช้คลื่นความถี่ในกิจการบริการชุมชนด้านกิจการโทรทัศน์ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการภายใน ๓ ปี
 ๑๑) มีหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน
 ๑๒) มีแผนสนับสนุนด้านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะสําหรับผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน

วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
1.  ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ตามมาตรา ๕๑
            2.  ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
            3.  ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลาการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
            4.  สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
            5.  สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
            6.  ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุน เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

แหล่งที่มาของเงินของกองทุน

 
 แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕)
เป้าหมายของการบริหารคลื่นความถี่
๗.๖ มีการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากําไรทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ยุทธศาสตร์ของการบริหารคลื่นความถี่
๘.๖ ยุทธศาสตร์การจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 ส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ที่กําหนดให้ใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีแนวทางดังนี้
 ๘.๖.๑ ให้มีประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ภาคประชาชนใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภายใน ๔ ปีนับแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับ
 ๘.๖.๒ จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้ในกิจการโทรทัศน์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ประกาศให้ใช้ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเฉพาะในพื้นที่ที่มีคลื่นความถี่เพียงพอที่จะดําเนินการจัดสรร

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ