ปลุกผีสารพัดเขื่อนเหนือรับแผนกู้เงิน 3.5 แสนล้านอ้างแก้น้ำท่วม

ปลุกผีสารพัดเขื่อนเหนือรับแผนกู้เงิน 3.5 แสนล้านอ้างแก้น้ำท่วม

ปลุกผีสารพัดเขื่อนเหนือรับแผนกู้เงิน 3.5 แสนล้านอ้างแก้น้ำท่วม
ภาคประชาชนชี้ “จะจัดการน้ำประเทศไทยต้อง ปลอดนักการเมืองขยะ

ปลุกผีสารพัดเขื่อนภาคเหนือรับแผนกู้เงิน 3.5 แสนล้านอ้างแก้น้ำท่วมประเทศ ภาคประชาชนแฉระดมโครงการเก่ามาเสียบให้สร้าง  แนะทางออกอยู่ที่กึ๋นการบริหารจัดการน้ำ  เตรียมเวทีตั้งคำถาม-วิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบ ขณะที่เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานออกแถลงการณ์ “จะจัดการน้ำประเทศไทยต้อง ปลอดนักการเมืองขยะ

กรณีรัฐบาลกู้เงิน  3.5 แสนล้านโดยระบุว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมประเทศ  โดยจะต้องดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี และเร่งลงนามเซ็นสัญญาผู้รับดำเนินโครงการต่างๆ ให้ทันในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกันอย่างแพร่หลายนั้น

เมื่อเร็วๆนี้   กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือได้ระดมความคิดเห็นข้อมูลและสถานการณ์ในพิ้นที่พบว่า  รายละเอียดโครงการที่กำหนดใน TOR มีรากมานานจากแผนการศึกษาการจัดการลุ่มน้ำหลายฉบับ และมีทั้งโครงการที่กำหนดอยู่ในงบประมาณของกรมชลประทานเดิม  และที่กำหนดขึ้นใหม่  โดยในส่วนของภาคเหนือกำหนดงบประมาณดำเนินการไว้ 50,000 ล้านบาท ทำโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้กักเก็บน้ำไว้ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อตัดยอดปริมาณน้ำที่จะผ่านนครสวรรค์ไปยังกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ตามร่าง TOR ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีเป็นโครงการเดิมและเงียบหายไปแล้วหลายโครงการ  แต่กลับมาใหม่ภายใต้โครการนี้  เช่น เขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ,เขื่อนแม่ขาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ,อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำยม,เขื่อนห้วยตั้ง อ.ลี้ จ.ลำพูน ,เขื่อนสมุน จ.น่าน  เป็นต้น

–   กรณีเขื่อนแม่แจ่ม ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เงียบหายไป 23 ปี กลับฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง    โดยพื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงส่วนที่ 3 ลำน้ำแม่แจ่ม คาดว่ามีความจุประมาณ134.694 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำท่ารายปี 190 ลบ.ม. โดยมีบริษัทวอเตอร์รีซอสเซสคอร์ปอเรชั่น (K Water) ประเทศเกาหลีใต้ รับเหมาก่อสร้าง ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 1,400 ล้านบาท อ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทานประมาณ71,836 ไร่ เป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติ และรักษาความสมดุลระบบนิเวศ   

–   กรณีเขื่อนแม่ขาน บ้านห้วยโท้ง ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  ความจุอ่าง  74.84 ล้าน ลบ.เมตร   พื้นที่อ่าง 1,873 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน  ค่าก่อสร้าง 1,893.22 ล้านบาท (เมื่อปี  2540)  มีหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบคือน้ำท่วมหมู่บ้าน คือบ้านแม่ขนินใต้ ที่ ต.น้ำแพร่  อ.หางดง ที่จะต้องย้ายหมู่บ้าน ที่มีชาวบ้านอยู่ 64 หลังคาเรือนออกไป แต่พื้นที่รองรับ ตอนนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีการจับจองไปแล้ว    มีการทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2545  แต่ไม่ผ่าน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (คชก.)

–   กรณีเขื่อนสมุน  ที่ตั้งคือบ้านกาใส ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน  ความจุ 10.21 ล้านลบม. พื้นที่อ่าง 1.2  ตรกม หมู่บ้านที่จะจมในอ่างคือ บ้านกาใส ต.สะเนียน ค่าก่อสร้าง 497.26 ล้านบาท (เมื่อปี 2542)   พื้นที่นี้ ทำEIA แล้ว แต่ไม่ผ่าน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (คชก.)  เป็นต้น

เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือได้มองถึงการบริหารจัดการน้ำมากกว่าการสร้างใหม่ โดยพูดถึงปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ว่าด้วยเรื่อง ระดับน้ำตาย ที่อยู่บนทั้ง 2เขื่อนนี้ ว่าปัจจุบัน เก็บกักน้ำตายในปริมาณที่สูง หากมีระบบวิศวกรรมที่ทำให้ลดปริมาณน้ำตายที่กักเก็บน้ำลงในช่วงเวลาที่จะมีน้ำมากน่าจะเป็นทางออกของการบริหารจัดการที่ไม่ต้องกู้เงินสร้างเขื่อนและชาวบ้านเดือดร้อน   ซึ่งสอดคล้องกับ  "แผนการบริหารจัดการน้ำท่วมสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราชอาณาจักรไทย" ซึ่งศึกษาโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน ที่ระบุไว้ว่า การแก้ปัญหาอุทกภัยไม่จำเป็นต้องใช้งบตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของไทย ซึ่งมีการเสนอให้รัฐบาลทบทวนการสร้างเขื่อนเพิ่มอีกครั้ง และบริหารอ่างเก็บน้ำและพัฒนาคูคลองเดิมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึงร้อยละ 70    แต่รัฐบาลโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ปฏิเสธข้อเสนอนี้   

เครือข่ายภาคเหนือ ได้เสนอ วิธีการใช้กาลักน้ำ เนื่องจาก เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ฉะนั้นน้ำตายที่จะให้ไหลลงท่อที่จะผลิตไฟจึงอยู่ที่ระดับ 3800 ลบม.  ฉะนั้น หากสามารถลดระดับน้ำตายลงตามรูปแบบของ JICA  โดยลดตามปริมาณที่ต้องการกักเก็บตาม ข้อเสนอของภาครัฐ คือ 1,300 ลบม.เมตร ก็คือ ตัดจากน้ำตายในหน้าแล้งของเขื่อนภูมิพลลง จาก 3,800 ลบม. ลงอีก 1,300 ลบม. เหลือ 2500 ลบม. แบบนี้ก็ไม่ต้องเสียเงินสร้างเขื่อน   ในหน้าแล้งที่จะใช้ได้ก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการคือ1,300 ลบม. และสามารถเพื่อพื้นที่ ในการกักน้ำในหน้าน้ำอีก 1,300 ลบม. แต่ เขื่อนภูมิพล มีประตูระบายน้ำที่สร้างยึดติดกับเขื่อน แล้วสร้างไว้ต่ำสุดอยู่ที่ระดับน้ำ 3,800 ลบม. แต่เชื่อว่า ไม่เกินหน้าที่ของวิศวกร อยู่แล้ว ทั้งใช้ต้นทุนต่ำกว่า เลยยกตัวอย่างเช่น กาลักน้ำ ที่เคยใช้ในเขื่อนอื่นๆ ก่อนหน้านี้

ข้อมูลเพิ่มเติมข้อเสนอของไจก้าhttp://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1030:-jica-&catid=35:2009-11-03-07-05-07&Itemid=34

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ  ตั้งข้อสังเกตว่า TOR  ที่รัฐบาลใช้เป็นตัวกำหนดผู้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆนั้นว่า   

1.) พื้นที่ดำเนินการเปิดไว้ ถ้าไม่ได้ที่หนึ่งก็ย้ายไปทำอีกที่หนึ่ง
2.) การศึกษาความเหมาะสม พื้นที่ใดมี EIA มาก่อน ไม่สนใจว่าจะทำมานานเท่าไหร่ ให้เอามาปัดฝุ่นใช้ต่อไปได้ โดยไม่ต้องศึกษาใหม่3.) มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับบริษัทต่างชาติในการจัดหาที่ดินเอง
4.) ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทผู้ว่าจ้าง ชุมชนเข้าไปทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต
5.) ขาดการมีส่วนของภาคประชาชน

ดังนั้นจึงกำหนดที่จะจัด เวทีภาคประชาชน “การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า”  ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป (กำหนดการ) http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php?topic=3420.0 โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากแก่งเสือเต้น  แม่ขาน  แม่แจ่ม โป่งอ่าง  โขง สาละวิน มาร่วมแถลงที่จังหวัดเชียงใหม่  และในกลางเดือนมิถุนายน  จะเตรียมจัดเวทีร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำมาแลกเปลี่ยนในเวที “โครงการจัดการน้ำ วิเคราะห์ และประโยชน์และผลกระทบ” เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศอีกครั้ง   

ขณะที่วันนี้ (15 พ.ค.2556) เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ได้ออกแถลงการณ์  “จะจัดการน้ำประเทศไทยต้อง ปลอดนักการเมืองขยะ”  โดยเนื้อหาระบุถึงตามที่นาย ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 พ.ค.56 ดังที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าประชาชนที่จะมาแสดงออกความคิดเห็นในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้นเป็น “พวกขยะ”    เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำต่างๆทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเครือข่ายประชาชนด้านอื่นๆ อันประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆรู้สึกหดหู่อย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทยที่มี “นักการเมืองขยะ” บริหารประเทศ นักการเมืองที่ดูถูกประชาชนอย่างนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากเศษขยะทางสังคม    และรู้สึกตกใจอย่างยิ่งที่รู้ว่ามีความคิดอย่างนี้อยู่ในหัวสมองของผู้ทำหน้าที่นำพาประเทศชาติ เพราะเราคิดอยู่เสมอว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ยกระดับสังคมและการเมืองไทยพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น “ความคิดขยะ” เช่นนี้น่าจะหมดไปจากสังคมไทยแล้ว

กรณีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ "ความมั่นคงด้านน้ำ: ภาวะผู้นำและพันธะผูกพัน" โดยมีเป้าหมายให้ผู้นำของแต่ละประเทศมาพบปะกันเพื่อส่งเสริมการเจรจา และสร้างความร่วมมือในภูมิภาคนั้น ทางภาคประชาชนรู้สึกดีใจที่ผู้นำเห็นความสำคัญต่อการจัดการน้ำ    เพราะความสูญเสียมหาศาลจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ได้แลกมาด้วยข้อสรุปอันมีค่าอย่างหนึ่งของสังคมว่า “รัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน”
แต่พฤติกรรมของนักการเมืองที่เป็นผู้นำในการจัดการน้ำของประเทศไทยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างชัดเจนของการจัดการน้ำที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   นอกจากนี้มันยังชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่าอยู่ที่ผู้นำ คำพูดที่ออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดภาวะของผู้ที่จะนำใครๆได้ นอกจากดูถูกแล้วยังมีการข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นหากออกมาจะจับขังคุกให้หมด    ที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมลบหลู่เหยียบย่ำสิ่งเคารพบูชาของคนล้านนาโดยการจะแสดงละครเป็นพญามังรายท้ารบกับเทวดาที่เวียงกุมกาม ทั้งยังขัดต่อภูมิปัญญาและจารีตประเพณีเพราะแม้แต่ “ผี” ประจำเหมืองฝายและแม่น้ำ ชาวบ้านก็ยังกราบไหว้และเลี้ยงผีฝายอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เห็นผู้นำในรัฐบาลหลายคนออกมาให้ข่าวอย่างใหญ่โตว่าจะมีการมาประท้วงในช่วงการประชุมดังกล่าว ทั้งที่ตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ในพื้นที่ต่างๆที่ลงหาข่าวกันอย่างมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงนี้ ต่างได้รับคำตอบที่ชัดเจนตรงกันว่าพวกเราไม่ได้มีแผนที่จะทำการประท้วงใดๆ  ไม่รู้ว่านี่เป็นการเต้าข่าวเพื่อเป็นข้ออ้างในการผลาญเงินงบประมาณประเทศร้อยกว่าล้านเพื่อรักษาความปลอดภัยในการประชุมครั้งนี้หรือเปล่า

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานตามรายชื่อลงนามแนบท้ายขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ   1) ออกมาขอโทษต่อประชาชนโดยเร็ว   2) ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ทันที เพราะพฤติกรรมลุแก่อำนาจเช่นนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการจัดการน้ำของบ้านเมือง   และ 3) หยุดการแสดงละครเป็นพญาเม็งราย อันเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนาโดยเด็ดขาด

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์
1.   สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
2.   เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
3.   เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
4.   เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
5.   ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
6.   คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
7.   เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
8.   ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
9.   ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
10.   กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
11.   คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
12.   กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
13.   กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
14.   กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
15.   มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม
16.   เครือข่าย 19 เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม
17.   สถาบันอ้อพญา
18.   คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
19.   กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
20.   กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
21.   กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
22.   เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
23.   เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
24.   สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
25.   สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
26.   สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
27.   เครือข่ายสลัม 4 ภาค
28.   เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
29.   เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
30.   เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
31.   เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
32.   เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล
33.   กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
34.   ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
35.   กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
36.   โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
37.   เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
38.   กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
39.   กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ