ประเด็นร้อน ‘เถียงให้รู้เรื่อง’ ไทยพีบีเอสแจงกระบวนการผลิตไร้แทรกแซง – รสนาชี้ดีเบตไม่เป็นธรรม

ประเด็นร้อน ‘เถียงให้รู้เรื่อง’ ไทยพีบีเอสแจงกระบวนการผลิตไร้แทรกแซง – รสนาชี้ดีเบตไม่เป็นธรรม

อ่านคำชี้แจง ‘ไทยพีบีเอส’ กระบวนการผลิตรายการเถียงให้รู้เรื่อง ‘สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ?’ ตัดต่อรายการใหม่ เพื่อความสมดุลของข้อมูล ยืนยันไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก หลัง ‘มนู’ ตั้งคำถามมีสิทธิ์อะไรเซนเชอร์ความเห็นนักวิชาการ แทนที่จะให้คนดูเป็นคนตัดสิน ด้าน ‘รสนา’ แจงเป็นฝ่ายถูก 3 รุม 1 ชี้ไม่ควรเบี่ยงประเด็นกล่าวหาว่า NGO ใช้อิทธิพลเซ็นเซอร์

20160806172213.jpg

8 มิ.ย. 2559 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้ออกเอกสาร คำชี้แจงกระบวนการผลิตรายการเถียงให้รู้เรื่อง ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2559 ตอน “สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ?” ซึ่งมีผู้ร่วมรายการคือ รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน และ มนูญ ศิริวรรณ เครือข่ายปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ถกเถียงพูดคุยกันเรื่องการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ ระบุ ตัดต่อรายการใหม่ให้เหลือเพียงผู้นำเสนอหลัก 2 เพื่อความสมดุลของข้อมูล ยืนยันไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก

คำชี้แจงดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก มนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในผู้ร่วมรายการได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Manoon Siriwan เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับแจ้งจากทางไทยพีบีเอสว่า เทปรายการเถียงให้รู้เรื่องที่จะนำออกอากาศในวันนี้ (7 มิ.ย. 2559 ) จำเป็นต้องตัดในส่วนความเห็นของนักวิชาการออกทั้งหมดเพื่อความเป็นกลาง จึงเกิดคำถามว่าความเป็นกลางคืออะไร และประเด็นดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เมื่อมีการนำไปตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ด Pantip 

20160806172302.jpg

ข้อความในโพสต์ของมนูญ เครือข่ายปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ระบุว่า

สถานี TPBS โทรบอกผมว่า เทปรายการ “เถียงกันให้รู้เรื่อง” ที่จะนำออกอากาศในวันนี้ ตอนสี่ทุ่มครึ่ง จำเป็นต้องตัดในส่วนความเห็นของนักวิชาการออกทั้งหมดเพื่อความเป็นกลาง

ผมถามว่าความเป็นกลางคืออะไร ในเมื่อนักวิชาการทั้งสองคน ทางผู้จัดรายการก็เป็นคนเลือกเอง ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว อะไรด้วย และนักวิชาการที่มาร่วมรายการเขาย่อมมีความคิดเป็นของเขาเอง เมื่อเขารับฟังเหตุผลของทั้งสองฝ่ายแล้ว เขาก็เสนอมุมมองของเขา TPBS มีสิทธิ์อะไรไปเซนเชอร์ความเห็นของเขา แทนที่จะให้คนดูเป็นคนตัดสิน

ก่อนหน้านี้ในรายการเดียวกันก็มีการเถียงเรื่องปฏิรูปประเทศ สปท.ท่านหนึ่งที่ไปออกรายการก็โดนนักวิชาการรุมค้านเหมือนกัน ไม่เห็นทาง TPBS ออกมาเดือดร้อนเรื่องความไม่เป็นกลาง หรือสปท.ท่านนั้นไม่ได้เป็นอยู่ในแงดวง NGO เหมือนท่านผอ. เลยไม่มีใครเดือดร้อนแทน

นี่หรือคือสื่อที่ใช้เงินภาษีประชาชนปีละ 2,000 ล้าน!!!

ต่อมานางสาวรสนา โตสิตระกูล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ชี้แจงต่อความคิดเห็นของอีกฝ่าย ระบุว่า

“หมายเหตุความจริงวิวาทะรายการเถียงให้รู้เรื่อง กรณีสัมปทานปิโตเลียม”

รายการเถียงให้รู้เรื่องตอน ” สัมปทานปิโตรเลียม ได้คุ้มเสียจริงหรือ? ” ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่มีผู้ร่วมรายการคือคุณมนูญ ศิริวรรณในฐานะตัวแทนของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) กับ รสนา โตสิตระกูล ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

รายการเถียงให้รู้เรื่องเชิญผู้วิจารณ์2ท่านคือดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ERS ร่วมกับคุณมนูญ ศิริวรรณ และดร.อีกท่านจากจุฬา (จำชื่อไม่ได้) ซึ่งมีแนวคิดอยู่ในแนวทางเดียวกับกลุ่มความคิดของ ERS

ดิฉันไม่ได้รับการบอกล่วงหน้าว่าไปเถียงกันในฐานะตัวแทนคปพ. และไม่ได้รับแจ้งว่ามีใครเป็นผู้วิจารณ์ หากเป็นการเถียงในฐานะตัวแทนกลุ่ม เมื่อกลุ่ม ERS มีคุณมนูญเป็นตัวแทน และมี ดร.พรายพลซึ่งอยู่ในกลุ่มแกนของ ERS เป็นผู้ให้ความเห็นเสริมคุณมนูญ ฝ่ายคปพ.ก็ควรมีทั้งผู้พูดและผู้วิจารณ์ที่มาจากคปพ.เช่นเดียวกัน แต่ในการเชิญคนมาร่วมรายการของไทยพีบีเอส ที่เชิญคนวิจารณ์ที่มีแนวความคิดในสายเดียวกับฝ่าย ERS จะโดยความไม่รู้ หรือเตี๊ยมกันก็ไม่ทราบได้ แต่ทำให้การเถียงกันคราวนี้ไม่เป็นธรรมต่อฝ่าย คปพ.

ในการอัดเทปล่วงหน้าคืนวันที่ 6 มิถุนายน พิธีกรให้โอกาสคุณมนูญได้เป็นทั้งคนเปิดประเด็น และปิดประเด็นโดยพิธีกรกล่าวว่าให้คุณมนูญเป็นผู้กล่าวปิดท้ายแบบปลายเปิดอีกด้วย ทั้งที่การเถียงกัน 2 ฝ่าย ควรจะให้ฝ่ายหนึ่งเปิด และอีกฝ่ายเป็นผู้ปิดท้าย จึงจะยุติธรรม ยิ่งกว่านั้นในระหว่างรายการ พิธีกรจะให้โอกาสคุณมนูญพูดได้มากกว่าทั้งจำนวนครั้งและจำนวนเวลา เมื่อบวกกับผู้วิจารณ์อีก 2 ท่าน เท่ากับตัวแทนฝ่าย  ERS มีโอกาสพูดเสนอแนวคิดได้มากกว่าคปพ.จนผิดสังเกตว่าเป็นรายการเตี๊ยมกันมาก่อนหรือไม่?

ดิฉันได้กล่าวกับพิธีกรหลังเสร็จการอัดเทปว่าจัดแบบนี้ไม่เป็นธรรม เป็นแบบ 3 รุม1

หากจะให้สองฝ่ายที่มีแนวคิดต่างกันมานำเสนอ ควรจะมีจำนวนคนที่เท่ากัน และมีเวลาที่เท่ากันด้วย ยิ่งกว่านั้นไม่ควรเป็นในลักษณะการโต้วาที แต่ควรนำข้อมูล 2 ฝ่ายมาเปรียบเทียบในประเด็นเดียวกันเพื่อเสนอต่อสาธารณชนตามวัตถุประสงค์สื่อสาธารณะ และวัตถุประสงค์ของรายการที่ต้องการสื่อความจริง 2 ด้านเพื่อให้ผู้ชมได้ตัดสินใจเลือก จึงไม่ควรเปิดโอกาสการเตรียมข้อมูลให้ฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกอีกฝ่ายหนึ่ง พิธีกรรู้ล่วงหน้าว่าฝ่ายคุณมนูญมีเอกสารมานำเสนอ แต่พิธีกรเพิ่งมาถามดิฉันตอนจะเข้าสู่รายการว่ามีเอกสารประกอบไหมดิฉันจึงหาภาพมาแสดงตามที่หาได้ในเวลานั้น

วันรุ่งขึ้น ดิฉันโทรหาเจ้าหน้าที่ที่เชิญดิฉันและร้องเรียนว่ารายการนี้จัดแบบเอียงข้างเกินไป และขอให้แก้ไขโดยอัดรายการใหม่และให้มีผู้วิจารณ์ที่เป็นฝ่ายคปพ. มิเช่นนั้นดิฉันไม่เห็นด้วยที่จะให้ออกอากาศเทปรายการนี้

ทางเจ้าหน้าที่จึงนำเรื่องไปหารือกับหัวหน้ารายการกรณีที่ดิฉันร้องเรียน

ทางสถานียินยอมจะอัดเทปรายการใหม่โดยดิฉันเสนอคุณธีรชัย ภูวนาถนรานุบาลมาเป็นผู้วิจารณ์ของฝ่าย คปพ.แต่ภายหลังทราบจากทางสถานีว่าคุณมนูญไม่ยอมมาอัดเทปใหม่

รองผู้อำนวยการของไทยพีบีเอสหลังจากได้ดูเทปรายการนี้แล้ว มีความเห็นว่าสัดส่วนของผู้ร่วมรายการขัดกับหลักความเป็นกลางตามที่ดิฉันทักท้วงเพราะนักวิชาการที่มาร่วมรายการสังกัดอยู่ในกลุ่ม ERS อย่างชัดเจน ท่านจึงเสนอวิธีแก้ไขว่าจะตัดผู้วิจารณ์ออกไป

แม้ดิฉันจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เพราะเห็นว่าควรอัดเทปรายการใหม่โดยมีน้ำหนักของตัวแทนสองฝ่ายเท่ากัน แต่ก็ไม่ประสงค์จะแทรกแซงสื่อซึ่งย่อมมีสำนึกตามจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่ออยู่แล้วว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

การที่คุณมนูญออกมากล่าวหาว่าที่ทางสถานีตัดผู้วิจารณ์ออกไป เป็นเพราะผู้อำนวยการอยู่ในแวดวง NGO นั้น เป็นการกล่าวที่สมควรหรือไม่? เพราะประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ มีความเป็นธรรมหรือไม่ที่ให้ตัวแทนของกลุ่ม ERS มีมากกว่าตัวแทนของกลุ่มคปพ.ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของคุณมนูญและผู้รับเชิญ แต่เป็นความผิดพลาดของเจ้าของรายการเองที่ก่อให้เกิดความลำเอียงจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องแก้ไขเมื่อถูกร้องเรียน

แต่แล้วคุณมนูญกลับไปยกตัวอย่างรายการอื่นที่มีการถูกรุมแบบรายการนี้ ว่าเมื่อไม่มีการแก้ไขรายการนั้น รายการนี้ก็ไม่ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างนั้นหรือ?

ดิฉันเชื่อว่ากรณีรายการที่ยกตัวอย่างนั้น ถ้ามีการทักท้วงจากผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดิฉันเชื่อว่าสื่อที่มีจรรยาบรรณย่อมต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาด้วยจิตสำนึกอิสระอย่างแน่นอน และขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ในเนื้อหารายการ “สัมปทานปิโตรเลียม ได้คุ้มเสียจริงหรือ?” นั้น คุณมนูญก็ได้รับการชงให้พูดอย่างเต็มที่มากกว่าทั้งช่วงเปิดประเด็น และช่วงปิดประเด็น “แบบปลายเปิด” ขนาดนี้แล้วยังไม่พอใจอีกหรือ?

การพูดแบบนี้ อาจทำให้คนเข้าใจได้ว่า ถ้าตัวเองเป็นคนได้เปรียบก็พอใจ บอกให้ประชาชนตัดสินใจเอาเอง? แต่ถ้าท่านเป็นฝ่ายถูก 3 รุม 1 ท่านจะยอมหรือไม่?

จึงไม่ควรเบี่ยงเบนประเด็นด้วยการกล่าวหาว่า NGO ใช้อิทธิพลเข้าไปเซนเซอร์รายการดังกล่าว เพราะคนทำงานภาคประชาสังคมตัวเล็กๆ อย่างดิฉันไม่มีอิทธิพลอะไรนอกจากความยึดมั่นในหลักการอันชอบธรรมและความเท่าเทียม

คนส่วนใหญ่สังคมไทยที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงย่อมรู้ดีว่าผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงนั้นคือใคร ?

“สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ? รายการเถียงให้รู้เรื่อง”

ด้านไทยพีบีเอสชี้แจงกระบวนการผลิตรายการเถียงให้รู้เรื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำชี้แจงกระบวนการผลิตรายการเถียงให้รู้เรื่อง ออกอากาศวันที่ 7 มิถุนายน 2559

สืบเนื่องจากรายการเถียงให้รู้เรื่องตอน “สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ?” ออกอากาศวันที่ 7 มิถุนายน 2559 มีรูปแบบรายการที่แตกต่างจากตอนอื่น ๆ คือ มีการนำเสนอข้อมูลและความเห็นเฉพาะ ผู้นำเสนอหลัก 2 คน คือคุณมนูญ ศิริวรรณ และคุณรสนา โตสิตระกูล แต่ไม่มีนักวิชาการ ทำหน้าที่ commentator ซึ่งเป็นรูปแบบรายการที่กำหนดไว้

ฝ่ายบริหาร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีประเด็นชี้แจงดังนี้

1. รายการเถียงให้รู้เรื่อง ตอนดังกล่าว มีการบันทึกรายการในคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2559 โดยมีผู้นำเสนอข้อมูลและความเห็น 2 คน คือคุณมนูญ ศิริวรรณ และคุณรสนา โตสิตระกูล โดยมีนักวิชาการร่วมรายการในฐานะ commentator 2 คน คือ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านแรงงานและผศ.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินรายการโดยคุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวาณิช

เมื่อบันทึกรายการเสร็จ คุณรสนา ได้ทักท้วงผู้ดำเนินรายการว่า รูปแบบรายการไม่สมดุลคือ commentator ทั้งสองคนมีความคิดในกลุ่มความเห็นเดียวกัน จึงเกิดความไม่เป็นธรรมที่มีผู้อภิปรายไปในกลุ่มความเห็นเดียวกันถึงสามคน ในขณะที่มีเพียงตนคนเดียวในการให้ความเห็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งขัดกับหลักการที่สำคัญของ ส.ส.ท. ที่จะต้องดำรงความเป็นกลางในการนำเสนอความเห็นทั้งสองฝั่งอย่างสมดุล

ต่อมาเมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้พิจารณาเทปบันทึกรายการเถียงให้รู้เรื่องตอนนี้แล้ว เห็นว่ากระบวนการผลิตรายการในการเชิญนักวิชาการอาจไม่มีความหลากหลายและแตกต่างทางความคิด ตามจุดมุ่งหมาย ที่ต้องการให้รายการให้ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง จึงตัดสินใจที่จะปรับปรุงการผลิตรายการตอน ”สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ?” โดยเสนอทางเลือก 2 ทาง คือ บันทึกรายการตอนนี้อีกครั้ง โดยคงผู้นำเสนอข้อมูลและความเห็นหลัก คือ คุณมนูญ ศิริวรรณ และคุณรสนา โตสิตระกูล ส่วน commentator ให้มี ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ และนายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล เพื่อให้มีองค์ประกอบของผู้ให้ความเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย และเกิดความสมดุล แต่ทางเลือกนี้คุณมนูญ ไม่เห็นด้วย

ผู้บริหาร ส.ส.ท.และผู้รับผิดชอบรายการ จึงตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 2 คือ ตัดเทปรายการใหม่ โดยตัดความเห็นของนักวิชาการหรือ commentator ออก และคงไว้เฉพาะการถกเถียงระหว่างคุณมนูญ และคุณรสนา ไว้ทุกคำถามโดยไม่มีการตัดทอน และการตัดสินใจดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการสร้างสมดุลของข้อมูล โดยที่มิได้มีการแทรกแซงจากภายนอกแต่อย่างใด

2. ด้วยความเคารพและให้เกียรติผู้ร่วมรายการทุกคน โปรดิวเซอร์รายการได้โทรศัพท์แจ้งให้ผู้ร่วมรายการทุกคนทราบในค่ำวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ก่อนรายการออกอากาศ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลว่า ต้องการให้รายการให้ความสมดุลในการนำเสนอข้อมูลและความเห็น

3. ส.ส.ท.พร้อมเปิดพื้นที่จัดรายการโทรทัศน์เป็นวาระพิเศษเพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้นำเสนอข้อมูลและความเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่บนหลักการการมีตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ อย่างสมดุล เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ