โดย ประยงค์ ดอกลำไย / ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน.
ภายหลังจากที่คสช.ได้ดำเนินนโยบายยึดคืนพื้นที่ป่า ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และผนวกด้วยการประกาศแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ
ก็ได้มีภาพข่าวที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สนธิกำลังกันไปยึดคืนพื้นที่ป่า คืนจากนายทุนและชาวบ้าน ถูกนำเสนอทางหน้าจอโทรทัศน์ และหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
การวางเป้าหมายให้ประเทศไทยกลับมามีพื้นที่ป่าถึง 40 % ของเนื้อที่ประเทศทั้งหมด (ปัจจุบันมี 25.6 %) ตามนโยบายรัฐบาล อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างพึ่งพิงกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่ประชาชนกลุ่มนี้ถูกสร้างวาทกรรมให้เป็นผู้ทำลายป่าจากรัฐไทยตลอดมา ทั้งที่เขาไม่ใช่ผู้ทำลายป่าที่แท้จริง
วันนี้ผมขอบอกเล่า 7 เรื่องราวเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินไทยที่คุณอาจยังไม่รู้ !
1. กรมป่าไม้ก่อตั้งเมื่อปี 2439 พรบ.ป่าไม้ฯ ถูกประกาศใช้ปี 2484 เป็นกฎหมายเพื่อการทำไม้และการขอใบอนุญาตสัมปทานป่าไม้ ประเทศไทยซึ่งเคยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 160 ล้านไร่ ก่อนการก่อตั้งกรมป่าไม้ แต่ในปัจจุปัน พื้นที่ป่าลดเหลือเพียง 82 ล้านไร่เท่านั้น (พื้นที่ป่าตามกฎหมาย 107 ล้านไร่ แต่มีสภาพป่าเพียง 82 ล้านไร่)
2. อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกเป็นคนอังกฤษชื่อ มร.เอช. เอ. เสลด (H. A. SLADE) อันที่จริง อธิบดีกรมป่าไม้ 3 คนแรก ก็เป็นคนอังกฤษ
3. ทางรถไฟสายเหนือมีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้าง เพื่อรองรับการทำไม้เชิงพาณิชย์ในภาคเหนือ
4. เรือเดินสมุทรลำแรกที่ขนไม้สักจากภาคเหนือของไทยส่งไปขายอังกฤษ เมื่อพ.ศ. 2429 โดยกับตันแอช เอ็น แอน เดอร์กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก โดยเมื่อจอดที่ท่าเทียบเรือเมืองลิเวอร์พูล ว่ากันว่าไม้สักเหล่านั้น ถูกขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว (กรอบประตูไม้ที่สนามแอนฟิลด์อาจมาจากไม้สักในจังหวัดเชียงใหม่-ผู้เขียน)
5. มาตรา ๔ (๑) ในพรบ.ป่าไม้ฯ ปี 2484 “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน นั่นหมายความว่าแม้ที่ดินผืนนั้นจะไม่มีต้นไม้สักต้นก็นับเป็นพื้นที่ป่า ในปัจจุบันเนื้อที่ประเทศไทยมีทั้งหมด 320 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ป่าตามกฎหมายราว 107 ล้านไร่ แต่มีสภาพป่าปกคลุมเพียง 82 ล้านไร่
6. ปี 2528 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม นโยบายป่าไม้แห่งชาติ 2528 กำหนดพื้นที่ป่าในประเทศ 40% (ป่าอนุรักษ์25% ป่าเศรษฐกิจ15%) เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ป่า
7. มีคนไทยจำนวนมาก อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าไม้ เขตอุทยานแห่งชาติ หรือที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ
จะเห็นได้ว่ารัฐและนโยบายของรัฐเองต่างหาก ที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่าจำนวนมาก ในห้วงเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา แต่การพยายามทวงคืนผืนป่าของผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังทำร้ายประชาชนบางกลุ่มที่ตั้งรกรากมาก่อนเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตอุทยานอย่างไม่เป็นธรรม
แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ จึงเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดและรัฐบาลสมควรทบทวนนโยบายดังกล่าว ก่อนที่จะสายเกินไป