เครือข่ายประมงพื้นบ้านเรียกร้องสหภาพยุโรปให้ตรวจสอบมาตรการต่อต้านประมงผิดกฎหมาย ของไทยให้รอบด้าน โปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งเดินหน้ายื่นหนังสือถึงประธานบอร์ดเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรียกร้องให้หยุดการสนับสนุนประมงอวนลากตาถี่จับปลาเล็กเพื่อป้อนให้ธุรกิจปลาป่น
ภาพ : ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์
29 พ.ค. 2558 สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นำเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกให้แก่ผู้บริหารบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมแจงข้อมูลว่าประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเรือประมงขนาดใหญ่ที่ใช้อวนลาก อวนรุนและเรือปั่นไฟ ทำให้ทรัพยากรในทะเลลดน้อยลงมาก
พร้อมกันนี้ ตัวแทนพื้นบ้านได้นำปลาขนาดใหญ่จำนวน 2 ลัง มาฝากนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย
เครือข่ายประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้บริษัทซีพียุติการรับซื้อปลาจากธุรกิจประมงอวนลาก อวนรุน และรับซื้อจากบริษัทที่ผลิตปลาป่นอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องไม่ให้ซีพีใช้อำนาจเหนือตลาดเข้าไปช่วยให้เรือประมงที่ผิดกฎหมายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ด้านนายนายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ กล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทฯ ไม่มีโรงงานผลิตปลาป่น และได้รับซื้อปลาป่นมาอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (IUU Fishing) และมีแรงงานที่ถูกต้อง ซึ่งขอให้ชาวประมงเชื่อมั่นว่าทางซีพี จะทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้าน
คุณพงศ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการCPFลงมารับปลาที่พวกเราเอามาฝากเจ้าสัว และสัญญาต่อหน้าสื่อมวลชนว่าจะทำตามคำเสนอข…
Posted by บรรจง นะแส on Thursday, May 28, 2015
ในช่วงเช้าวันเดียวกัน (29 พ.ค. 2558) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงคราม สงขลา และเครือข่ายภาคประชาสังคมซึ่งประกอบด้วย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ที่สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ ให้ตรวจสอบมาตรการต่อต้านประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเรื่องของการนิรโทษกรรมเรือประมงผิดกฎหมาย
ภาพ: greenpeace
ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (28 พ.ค.2558) กลุ่มประมงพื้นบ้านได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้หยุดการนิรโทษกรรม (คลิกอ่านข่าว)
จดหมายต่อผู้แทนคณะกรรมการสหภาพยุโรป ระบุข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบมาตรการต่อต้านประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐบาลไทยให้รอบด้าน โดยมาตรการของไทยดังกล่าวควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและภาคประชาชน และคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในระยะยาว
ในวันที่ 21 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป (EU) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการ
ต่อมากรมประมงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing โดยตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด ขณะเดียวกันก็มีแผนการที่จะ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน” (Illegal Fishing) จำนวน 3,199 ลำ โดยจะออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายเหล่านี้
“การใช้ใบเหลืองอียูเป็นข้ออ้างในการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนของกรมประมงนี้ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการออกมาตรการ IUU Fishing เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และยังจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการบริหารจัดการประมงและทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยอย่างมหาศาล ตลอดจนสร้างความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรประมงของประชาชนในประเทศเป็นวงกว้างอีกด้วย” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงครามและสงขลาและเครือข่ายภาคประชาสังคม มีข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมธิการยุโรปดังนี้
1. ให้คณะกรรมธิการยุโรปตรวจสอบมาตรการที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในการปลดล็อคใบเหลือง เช่น การจดทะเบียนเรือ และออกอาชญาบัตรให้กับเรือประมงไทย เนื้อหาพรบ. ประมง พ.ศ. 2558 และแผนการแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ ว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอียูต่อเป้าหมายในการมุ่งรักษาแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติในทะเลและสร้างมาตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ยั่งยืน
2. ให้คณะกรรมธิการยุโรปตรวจสอบเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดมาตรการปลดล็อคใบเหลืองประมงของรัฐบาลไทยเพื่อป้องกันความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ และป้องกันการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรประมงของชาวประมงขนาดเล็กซึ่งเป็นผู้มีความเปราะบางมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย
3. ให้คณะกรรมธิการยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรการจากหลายภาคส่วนในแต่ละพื้นที่อย่างน้อยในเขต 22 จังหวัดที่มีท่าเรือและการทำการประมงอย่างเข้มข้นเพื่อตรวจสอบมาตรการที่ถูกกำหนดว่าได้มีการปฏิบัติจริงมากน้อยเพียงใด
4. ก่อนที่คณะกรรมธิการยุโรปจะออกมาตรการไม่ว่าการปลดใบเหลืองหรือการให้ใบแดง ให้คณะกรรมธิการยุโรปจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและภาคประชาชน
5. เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่า หากคณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับมาตรการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐบาลไทยซึ่งมุ่งเพียงผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่โดยแลกกับความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน
คณะกรรมาธิการยุโรปต้องตระหนักว่า แทนที่จะเป็นแนวทางออก กลับสร้างปัญหาที่เลวร้ายกว่าเดิมและจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย ความมั่นคงทางอาหาร วิถีการทำประมงและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงชายฝั่ง รวมถึงผู้บริโภคและสังคมไทยโดยรวมในที่สุด