ประมงพื้นบ้าน ค้าน ม.34 ‘ห้ามเรือเล็กออกนอกเขตชายฝั่ง’ เตรียมเสนอรัฐฯ 18 ม.ค.นี้

ประมงพื้นบ้าน ค้าน ม.34 ‘ห้ามเรือเล็กออกนอกเขตชายฝั่ง’ เตรียมเสนอรัฐฯ 18 ม.ค.นี้

20160901160906.jpg

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก บรรจง นะแส

8 ม.ค. 2559 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 34 ของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งระบุ “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ออกทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” และขอประกาศให้ประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลทั้งประเทศไทย หากต้องการยกเลิกมาตรา 34 ดังกล่าว ขอให้เข้าร่วมเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ในวันที่ 18 ม.ค. 2558 ณ ศาลากลางจังหวัดชายฝั่งทะเลไทย ทุกจังหวัด 

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 แทน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ด้วยความเร่งรีบ ไม่มีการรับฟังข้อเท็จจริง ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมงรายย่อย หรือประมงพื้นบ้านหลายประเด็น และที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ กรณีมาตรา 34 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวที่ห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกทำการประมงนอกเขตประมงชายฝั่งเด็ดขาด พร้อมกำหนดโทษหนัก

ชาวประมงพื้นบ้าน (เรือเล็กกว่า 10 ตันกรอส) แม้เป็นเรือขนาดเล็ก แต่สามารถออกทำประมงนอกเขตชายฝั่งได้โดยไม่ได้มีปัญหาเกิดผลกระทบต่อทรัพยากร หรือทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งชาวประมงพื้นบ้านที่ปฏิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่เข้าข่ายเป็นประมงแบบ IUU (การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ Illegal, Unregulated and Unreported (IUU) Fishing ของสหภาพยุโรป) อยู่แล้ว เมื่อถูกห้ามออกนอกชายฝั่งเท่ากับตัดสิทธิการประกอบสัมมาอาชีพที่เคยมีไป 

“สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเห็นว่า บทกำหนดดังกล่าวเกินความจำเป็น และจะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อน เห็นควรนำเสนอให้รัฐบาล ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมงใหม่ ด้วยการยกเลิกมาตรา 34 ดังกล่าวออกเสีย” แถลงการณ์ระบุ

ด้าน กรมประมงเชื่อว่าพระราชกำหนดการประมง สามารถช่วยการจัดการทรัพยากรประมงมีประสิทธิภาพ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2559 ว่า นายประเทศ ซอรักษ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมประมง เปิดเผยถึงสาระสำคัญของ พ.ร.ก.การประมง ฉบับใหม่ว่า ได้มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรประมง ซึ่งมีอยู่จำนวนจำกัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยกำหนดขอบเขตสำหรับทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน 

ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถขยายเขตการทำประมงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยการหารือร่วมกันระหว่างชาวประมงและคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดของแต่ละพื้นที่ ให้สามารถจัดสรรทรัพยากรให้มีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้ประโยชน์ ขณะที่มาตรการการปกครอง และบทลงโทษตามพระราชกำหนดการประมงฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อ  28 เม.ย. 2558 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/034/1.PDF) ออกมายังไม่ถึง 6 เดือน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 พ.ย. 2558 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/108/1.PDF) ให้ยกเลิกพ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 โดยใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้อง 

กับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว เพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้

 

แถลงการณ์ 
ขอให้ยกเลิก (ม.34) “การห้ามเรือเล็กออกนอกเขตชายฝั่ง” 

จากกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเตือน ประเทศไทยว่ายังมีการทำประมง แบบ IUU (ทำประมงผิดกฎหมาย, ไม่มีระบบการรายงาน, ไม่มีมาตรการควบคุม) หากประเทศไทยไม่สามารถ แก้ปัญหาได้ ทางสหภาพยุโรปจะใบแดง คือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะไม่รับซื้อสินค้าสัตว์น้ำไทย ทุกชนิด เพื่อแก้ไขปัญหาป้องกันการโดนใบแดง รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินมาตรการ ต่างๆ จำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหา การประมงแบบ IUU ให้ได้ 

หลายมาตรการส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหา แต่ล่าสุดได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 แทนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 (เพิ่งออกใหม่ต้นปี) ด้วยความเร่งรีบออก กฎหมาย ไม่มีการรับฟังข้อเท็จจริง ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมงรายย่อย หรือประมงพื้นบ้านหลายประเด็น และที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ กรณี “มาตรา 34 ของพระราชกำหนดฯ ให้ห้ามชาวประมงพื้นบ้าน ออกทำการประมงนอกเขตประมงชายฝั่ง เด็ดขาด” พร้อมกำหนดโทษหนัก

ชาวประมงพื้นบ้าน (เรือเล็กกว่า 10 ตันกรอส) แม้เป็นเรือขนาดเล็ก แต่สามารถออกทำประมงนอก เขตชายฝั่งได้โดยไม่ได้มีปัญหาเกิดผลกระทบต่อทรัพยากร หรือทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งชาวประมงพื้นบ้านที่ปฏิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่เข้าข่ายเป็นประมงแบบ IUU อยู่แล้ว เมื่อถูกห้ามออกนอกชายฝั่งเท่ากับตัดสิทธิการประกอบสัมมาอาชีพ ที่เคยมีไป 

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเห็นว่า บทกำหนดดังกล่าวเกินความจำเป็น และจะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อน เห็นควรนำเสนอให้รัฐบาล ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมงใหม่ ด้วยการยกเลิกมาตรา 34 ดังกล่าวออกเสีย

ในการนี้สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยขอประกาศมาถึงพี่น้องสมาชิกชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลทั้งประเทศไทย หากท่านทั้งหลายขานรับและเห็นด้วยให้รัฐบาล ยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ขอให้เข้าร่วมเสนอความเห็นต่อรัฐบาลโดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 18 มกราคม 2558 ณ ศาลากลางจังหวัดชายฝั่งทะเลไทย ทุกจังหวัด 

รายละเอียดอื่นจะได้แถลงให้ทราบในโอกาสต่อไป 

ขอแสดงความนับถือ
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 
8 มกราคม 2558

 

20160901161135.jpg

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ