ประณามหน่วยงานรัฐใต้ คสช. “ใช้อำนาจกดขี่ทำร้ายคนจน อุ้มคนรวย ช่วยเหลือพวกพ้อง”

ประณามหน่วยงานรัฐใต้ คสช. “ใช้อำนาจกดขี่ทำร้ายคนจน อุ้มคนรวย ช่วยเหลือพวกพ้อง”

สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์ประณามการทำร้ายคนจนของหน่วยงานรัฐภายใต้ คสช. ใช้กฎอัยการศึกและคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 เรียกร้องสหประชาชาติ องค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้าสังเกตการณ์ในพื้นที่

19 มี.ค. 2558 สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์วานนี้ (18 มี.ค.) ประณามการทำร้ายคนจนของหน่วยงานรัฐภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยใช้กฎอัยการศึกและคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นเครื่องมือขับไล่จับชาวบ้าน ผลักดันให้ออกจากผืนดินที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง โดย คสช.ไม่ได้สนใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความห่วงใยจากทั้งในและนอกประเทศ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สมัชชาคนจน ยกกรณีที่กองทัพเรือต้องการใช้พื้นที่ของชาวบ้านคลองชัน หมู่ 7 ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ในการซ้อมรบ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม กองทัพเรือจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว กระทั่งถูกบังคับคดีให้รื้อถอนบ้านเรือนออกจากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีที่ไป 

กรณีนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลช้างทอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ขับไล่ชาวบ้านออกที่สาธารณประโยชน์ของตำบลช้างทอง โดยมีสาเหตุมากจากชาวบ้านคนดังกล่าว คัดค้านการบุกรุกดูดทรายในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำมูนในท้องที่ตำบลช้างทองของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง 

และกรณีอุทยานแห่งชาติตาดโตนประกาศทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินบ้านคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ซึ่งบ้านดงคำน้อย ประกาศให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 ต่อมาปี 2523 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านดงคำน้อย และไม่มีการเพิกถอนจนถึงปัจจุบัน ในปี 2552 หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนร่วมกับชาวบ้านดงคำน้อยทำแนวเขตที่มีการผ่อนผันให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกิน แต่หลังจากมีคำสั่ง คสช. เจ้าหน้าที่อุทยาน และทหาร ก็เร่งรีบดำเนินนโยบายทวงคืนพื้นที่ป่า ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จำนวน 10 นาย ทหาร 4 นาย และตำรวจ 3 นาย เข้าไปยังพื้นที่ไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน โดยบังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ 

20151903161811.jpg

ภาพจาก: สมัชชาคนจน

“สมัชชาคนจนขอประณามการกระทำดังกล่าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และขอเรียกร้องให้สหประชาชาติ และองค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์เหตุการณ์ที่กำลังขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งแสดงปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยจากเงื้อมมือเผด็จการทหาร คสช.” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์สมัชชาคนจน
ขอประณามการทำร้ายคนจน

นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้กฎอัยการศึก และทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมทั้งมีการออกประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไม่สนใจ เร่งรัดดำเนินการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ไปไล่จับชาวบ้าน ผลักดันให้ออกจากผืนดินที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง เช่น 

กรณีที่กองทัพเรือต้องการใช้พื้นที่ของชาวบ้านคลองชัน หมู่ 7 ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ในการซ้อมรบ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม กองทัพเรือจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว กระทั่งถูกบังคับคดีให้รื้อถอนบ้านเรือนออกจากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีที่ไป 

กรณีนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลช้างทอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ขับไล่ชาวบ้านออกที่สาธารณประโยชน์ของตำบลช้างทอง โดยมีสาเหตุมากจากชาวบ้านคนดังกล่าว คัดค้านการบุกรุกดูดทรายในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำมูนในท้องที่ตำบลช้างทองของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง 

และกรณีอุทยานแห่งชาติตาดโตนประกาศทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินบ้านคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ซึ่งบ้านดงคำน้อย ประกาศให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 ต่อมาปี 2523 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านดงคำน้อย และไม่มีการเพิกถอนจนถึงปัจจุบัน ในปี 2552 หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนร่วมกับชาวบ้านดงคำน้อยทำแนวเขตที่มีการผ่อนผันให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกิน 

แต่หลังจากมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เจ้าหน้าที่อุทยาน และทหาร ก็เร่งรีบดำเนินนโยบายทวงคืนพื้นที่ป่า ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จำนวน 10 นาย ทหาร 4 นาย และตำรวจ 3 นาย เข้าไปยังพื้นที่ไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน โดยบังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ 

สมัชชาคนจนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ใช้กฎหมายการกดขี่ทำร้าย โดยที่ไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริง หรือแม้แต่ความคิดความเห็นของคนจน การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการใช้อำนาจกดขี่ทำร้ายคนจน อุ้มคนรวย ช่วยเหลือพวกพ้องของตน 

สมัชชาคนจนขอประณามการกระทำดังกล่าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และขอเรียกร้องให้สหประชาชาติ และองค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์เหตุการณ์ที่กำลังขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งแสดงปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยจากเงื้อมมือเผด็จการทหาร คสช.

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
18 มีนาคม 2558

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ