ประชาชนขอมีสิทธิ! 12 กลุ่มชาวบ้านร้องทบทวน ‘ขุดเจาะสำรวจก๊าซ’ รักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง

ประชาชนขอมีสิทธิ! 12 กลุ่มชาวบ้านร้องทบทวน ‘ขุดเจาะสำรวจก๊าซ’ รักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง

20 ก.ย. 2559 องค์กรภาคประชาชนเครือข่ายวางแผนการจัดการลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มองค์กรประชาชน 12 กลุ่มในอีสาน ร่วมเผยแพร่แถลงการณ์ “ทบทวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซ รักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง” ชี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ หากจะมีการดำเนินการใดๆ ในกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะเกิดผลกระทบขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งต่อ แหล่งน้ำ สภาพอากาศ หรือวิถีชีวิตผู้คน 

พร้อมระบุข้อเรียกร้องต่อกระบวนการขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ อาทิ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ต.เชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอย่างครบถ้วนและรอบด้านก่อนการดำเนินโครงการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ

2.ขอให้เปิดพื้นที่การรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการแก่ประชาชนอย่างจริงใจและเปิดเผย

20162109155819.jpg

ที่มาภาพ: http://www.udonthani.go.th/2014/news.php?id=2131

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้ 

แถลงการณ์
องค์กรภาคประชาชนเครือข่ายวางแผนการจัดการลุ่มน้ำห้วยหลวง
“ทบทวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซ รักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง”

จากสถานการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ต.เชียงพิณ อ.เมือง ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ในเขตพื้นที่ จ.อุดรธานี ในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่ม/องค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหวต่อะบบนิเวศวิทยาอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่สำคัญ คือ “ลุ่มน้ำห้วยหลวง ” ซึ่งมีขนาดของลุ่มน้ำประมาณ 3,427 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 5.99 ของพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาทั้งหมดของลุ่มน้ำโขง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมจังหวัดอุดรธานีเกือบทั้งจังหวัด คิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม กว่าร้อยละ 67 ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด อาทิ พื้นที่การปลูกข้าว ร้อยละ 38 , พื้นที่ปลูกพืชไร่ (อ้อย, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 26 , รวมไปถึงการอุปโภคบริโภคต่างๆ ของชุมลุ่มน้ำห้วยหลวง จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวง มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต ระบบนิเวศทรัพยากร พืชและสัตว์ ได้อาศัยและเกื้อกูลตลอดมา

โดยพื้นที่บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ บ้านหนองโอน ต.เชียงพิณ อ.เมือง เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในเขต “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” และเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ หากจะมีการดำเนินการใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะเกิดผลกระทบขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งต่อ แหล่งน้ำ สภาพอากาศ หรือวิถีชีวิตผู้คน 

จากข้อมูลที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ที่มีกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ พบว่า การเข้าขุดเจาะสำรวจบริเวณบ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก และในอีกหลายๆพื้นที่ เช่น บ้านคำไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ , ต.โนนสะอาด อ.หนองแสง จ.อุดรธานี, บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทำให้เชื่อได้ว่า หากมีการดำเนินโครงการต่อไปจะเกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างแน่นอน นอกเหนือจากความกังวลที่กล่าวมา การใช้สารเคมี และการระเบิดขุดเจาะก๊าซอาจจะส่งกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาเป็นแหล่งอุปโภคบริโภค อีกทั้งความเจ็บไข้ที่จะเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ “ก๊าซไข่เน่า” หากมีความเข้มข้นสูงจะก่อให้เกิดอาการไม่รู้สึกตัวและถึงแก่ชีวิตได้ แต่หากมีปริมาณความเข้มข้นต่ำจะก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ก่ออาการตาแดง สิ่งเหล่านี้คือความกังวลจากกระบวนการขุดเจาะสำรวจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้ง กระบวนการก่อนเข้าดำเนินการขุดเจาะ ในการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชน กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีเพียงการผลักดันเวทีรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งรีบ ไม่ได้เกิดการศึกษา พูดคุย และทำความเข้าใจร่วมกันถึงผลกระทบต่อเนื่องอย่างแท้จริง

พวกเราในนามกลุ่ม/องค์กร ท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงมีข้อเรียกร้อง ต่อกระบวนการขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ อาทิ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ต.เชียงพิณ อ.เมือง ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอย่างครบถ้วนและรอบด้านก่อนการดำเนินโครงการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ

2.ขอให้เปิดพื้นที่การรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการแก่ประชาชนอย่างจริงใจและเปิดเผย

ท้ายสุดนี้ พวกเราหวังว่า ประชาชนจะมีสิทธิและการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งการรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ด้วยความเคารพในมนุษย์และธรรมชาติ
..20 กันยายน 2559..

รายชื่อกลุ่ม/องค์กรแนบท้ายแถลงการณ์
–    กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
–    กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า จ.อุดรธานี
–    กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
–    กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน
–    กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้า ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
–    กลุ่มอนุรักษ์หนองแด
–    กลุ่มเพื่อประชาชนกุดจับ
–    กลุ่มชาวนาบล็อกน้อย (อ่างน้ำพาน)
–    กลุ่มรักษ์นาแอง-ศรีชมชื่น
–    กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
–    กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านไทสวรรค์ ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี
–    กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ