คำสั่งหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สั่งเลิกกระบวนการสรรหา-คัดเลือก คปก. เหตุอยู่ระหว่างร่างรับธรรมนูญ-ปฏิรูปกฎหมายใหม่ ให้ คปก.ชุดรักษาการแทนพ้นเก้าอี้ทันที ส่วนสำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาแทน
15 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 20/2558 เรื่องระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดใหม่ และระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
คำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็น คปก. แทน คปก. ชุดเดิม ซึ่งได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 นั้น
เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศและมีหลักการสำคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจมีการวางหลักเกณฑ์หรือกำหนดกลไกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายไว้แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็ได้มีองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อ คปก. ชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งจบครบวาระไปแล้ว จึงสมควรระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือก คปก. ชุดใหม่ไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายของประเทศมีความเป็นเอกภาพและสอดคล้องกับหลักการที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
1.ให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็น คปก. ตาม พ.ร.บ.คปก. พ.ศ.2553 ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
2.ให้ คปก. ที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระไปแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คปก. พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ
3.ในระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
4.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ด้านสุนี ไชยรส รักษาการ คปก. โพสต์รูปและข้อความลงใจเฟซบุ๊คส่วนตัว สุนี ไชยรส ระบุ “คสช.มาอย่างเงียบเชียบ ให้ คปก.พ้นงานทันทีวันนี้ เสียดายที่ ประชุม คปก.ทั้งวัน วันนี้15 ก.ค. 58 ถึงเกือบ 17 น. เรื่อง กม.ท้องถิ่น 2 ฉบับ กม.ผังเมือง กม.ปิโตรเลียม ออกไม่ทันเสียแล้ว พรุ่งนี้จัดเวที กม. แรงงานสัมพันธ์ เชิญทุกฝ่ายมา ขอรับทราบว่า งดแล้วค่ะ ขออภัยทุกท่าน”
เมื่อมีผู้สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น สุนีตอบว่า ไม่รู้เหมือนกัน หลังประชุมเสร็จค่อยรู้เหมือนกัน เสียดายกม.หลายฉบับขาดแก้ไม่กี่วันก็จบกระบวนได้เสนอในนาม คปก.
คสช.มาอย่างเงียบเชียบ ให้คปกพ้นงานทันทีวันนี้ เสียดายที่ ประชุมคปกทั้งวันวันนี้15 กค58 ถึงเกือบ17น. เรื่องกม.กระจายอำนา…
Posted by สุนี ไชยรส on Wednesday, July 15, 2015
ส่วนเว็บไซต์ คปก.เอง ก็มีการนำประกาศหัวหน้า คสช. มาขึ้นหน้าเว็บ ทั้งนี้ ปัจจุบันกระบวนการสรรหา คปก. ชุดใหม่ อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีผู้เข้ารอบการคัดเลือกจำนวน 22 คน และในวันที่ 19 ก.ค. 2558 จะมีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 11 คน ประกอบด้วย
ผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(ประเภทเต็มเวลา) จำนวน 12 คน ได้แก่
1.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ
2.ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิชัย โถสุวรรณจินดา
4.นายพานิชย์ เจริญเผ่า
5.นายวินัย ลู่วิโรจน์
6.ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
7.นายวสันต์ พานิช
8.นายอรรณพ ลิขิตจิตถะ
9.นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
10.นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
11.นางสุนี ไชยรส
12.นายไพโรจน์ พลเพชร
ผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายประเภท(ไม่เต็มเวลา) จำนวน 10 คน ได้แก่
1.ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์
2.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
3.นายอนุรักษ์ นิยมเวช
4.นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
5.ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ
6.ศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล
7.นางสาว สุภัทรา นาคะผิว
8.นายคมสัน โพธิ์คง
9.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด
10.นายแพทย์เมธี วงศ์ศิริวรรณ
สำหรับ คปก. ชุดปัจจุบันที่รักษาการแทน
ประกอบด้วย
1.ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
2.นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
3.นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
4.นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
5.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
6.ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
7.ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
8.นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
9.ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
10.นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
11.รองศาสตราจารย์ วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)