ประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ! เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานชี้ กม.รวบหัวรวบหางประชาชน

ประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ! เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานชี้ กม.รวบหัวรวบหางประชาชน

20162602032031.jpg

รายงานโดย: ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง

25 ก.พ. 2559 จากกรณีที่ทางกรมทรัพยากรน้ำจะเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปรับปรุง พัฒนาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ในวันที่ 29 ก.พ. 2559 ในส่วนกลาง เพื่อพิจารณากลั่นกรองตรวจสอบร่างกฎหมายให้เกิดความรอบคอบ อันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน และลดข้อขัดแย้งในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมาย

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการติดตามกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้เห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมทรัพยากรน้ำในวันที่ 29 ก.พ.นี้ เป็นการจัดเวทีที่จะรวบหัวรวบหางประชาชน โดยให้กลุ่มคนไม่กี่ร้อยคนให้ความเห็นและตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งหลักการของเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำอยู่ที่รัฐ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่คนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำนั้นๆ ได้ 

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ได้แจกแจงถึงปัญหาในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ ว่า 1.ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ไม่ได้ยึดโยงอำนาจประชาชนคนลุ่มน้ำผ่านการกระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะดูได้จากการจัดเวทีในครั้งนี้ 

2.สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะมีแต่ตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้เลย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ใน ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์การภาคประชาชนให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพ 

3.การกำหนดนโยบาย และแผนงานเป็นการกำหนดจากข้างบนลงมาล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อประชาชนลุ่มน้ำ ที่ควรให้อำนาจประชาชนลุ่มน้ำร่วมกันกำหนดจากข้างล่างขึ้นไปบน 

4.ในประเด็นการให้ข้อเสนอแนะที่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ประจักษ์ในด้านเทคนิควิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำนั้น จะอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตามร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้คงไม่พอ เพราะผู้เชี่ยวชาญใช่ว่าจะเข้าใจสภาพภูมินิเวศในแหล่งน้ำที่มีรูปแบบการจัดการในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน 

และ 5.ในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการบูรณาการ ในการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญในการเชื่อมโยงกัน แต่ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะดูองค์รวมของ ดิน น้ำ ป่า

“เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานขอประกาศ คว่ำ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ฉบับรวบหัวรวบหางประชาชน เพราะขาดความชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย” สิริศักดิ์กล่าว

ด้านประดิษฐ์ โกศล อุปนายกสมาคมคนทาม กล่าวว่าในส่วนของตนมองว่าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องเพราะภาคประชาชนหรือภาคเกษตรกรในระดับพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเลย และร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ให้อำนาจรัฐมากว่า เสมือนน้ำเป็นของรัฐ ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการกำหนดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะรัฐเป็นผู้ควบคุมจัดสรร

“ผมไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และผมมีข้อเสนอว่ารัฐจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.น้ำ ถ้ากระบวนการยังเป็นแบบนี้อยู่เราก็คงไม่เข้าร่วมและจะค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ต่อไป” ประดิษฐ์กล่าว

ด้านสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.น้ำ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราจะต้องมาดูเจตจำนงของว่า ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้มีเพื่ออะไร ควรที่จะบอกให้ชัดว่าจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งหน่วยงานรัฐแทบจะไม่คำนึงถึงในจุดนี้ จึงน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ โดยแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำควรเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่หน่วยงานรัฐปักธงไว้แล้ว และมาบอกว่ารับฟังความคิดเห็นแต่มิได้ครอบคลุ่มประชาชนส่วนใหญ่

“กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่าง พ.ร.บ.น้ำในครั้งนี้ รัฐมีธงไว้ชัดเจนแล้ว แต่จัดให้เป็นพิธีกรรม ผมมองว่าไม่มีประโยชน์ ถ้าจะให้มีประโยชน์จริงควรที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมใน ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ตั้งแต่ต้น” สันติภาพกล่าว

สันติภาพ ยังกล่าวต่อมาว่า การรับฟังความคิดในเรื่องร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะเกิดขึ้นนี้จะมีปัญหาตามมาเหมือนเดิม เพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญในหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาชนในหลายด้าน เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ กลุ่มหาปลา เป็นต้น และปัญหาที่จะกล่าวถึงก็คือ เกิดการอนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่มีอยู่เดิม นำมาเสนอในยุคนี้ เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางระบบนิเวศ ความไม่คุ้มค่าการลงทุน ประชาชนไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นี้คือปัญหาที่จะตามมา 

“มันจะนำไปสู่กระบวนการของการแปรรูปน้ำหรือไม่ เพราะเป็นการนำน้ำไปตอบสนองภาคเศรษฐกิจ จะเป็นการให้เอกชนเข้ามาซื้อเพื่อสัมปทานน้ำ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่กำลังจะผุดขึ้นในหลายพื้นที่ ฉะนั้นถ้าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ไม่มีเจตจำนงที่จะให้ความสำคัญกับประชาชนก็เท่ากับเป็นการมองข้ามความสำคัญของคนลุ่มน้ำอย่างแน่นอน เพราะรัฐไม่มีแนวคิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ” สันติภาพกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ