เรียบเรียงโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
ลำดับช่วงชีวิตของ นายเด่น คำแหล้ แกนนำการนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว ในเหตุการณ์สำคัญหลังรัฐประหาร คสช. กระทั่ง เมื่อวันที่ 16 เม.ย.59 ประมาณ 09.00 น.นายเด่น ในวัย 65 ปี ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินทางเข้าป่าบริเวณสวนป่าโคกยาวรอยต่อระหว่างป่าสงวนหางชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อหาเก็บหน่อไม้ไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลายในช่วงตอนเย็นของทุกวันตามปกติ
ถึงวันนี้ นายเด่น ยังไม่ได้เดินทางกลับเข้าที่พัก ญาติพี่น้อง และสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) อาทิ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และสมาชิก คปอ. ที่มาจากต่างจังหวัด เช่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ยโสธร ขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ระดมกำลังร่วมค้นหาอย่างต่อเนื่องนับแต่วันที่ 17 เม.ย.59 เป็นเวลา 18 วันแล้ว ที่ยังไม่พบตัวนายเด่น แต่อย่างใด
ปมพิพาทสวนป่าโคกยาว
ชุมชนโคกยาวได้รับผลกระทบความเดือดร้อนหลายครั้ง นับแต่ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 กระทั่งช่วงปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชย.4 มีคำสั่งให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่ป่าโคกยาว เก็บเกี่ยวสิ่งของผลผลิตทางการเกษตรแล้วให้อพยพออกจากพื้นที่ เพื่อนำพื้นที่ป่าโคกยาวไปปลูกป่ายูคาลิปตัส ตามแนวนโยบายของป่าไม้ พร้อมรับปากว่าจะหาที่ดินทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าพื้นที่ที่จัดสรรให้มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้เดือดร้อนกว่า 30 ครอบครัว ตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ ไม่มีที่ดินทำกิน
นายเด่น ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินมานับแต่นั้น กระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่โดยมีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป
ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงตรวจสอบพื้นที่และได้รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้เดือดร้อน และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน
ต่อมาพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ตามมติ ครม.ปี 2553 และให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง หรือดำเนินคดีใดใดในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา
แต่แนวทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน กล่าวคือ วันที่ 1 ก.ค. 2554 ประมาณ 05.30 น. นายอำเภอคอนสาร พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ สนธิกำลังเข้ามา กว่า 200 นาย บุกรวบตัวชาวบ้านชุมชนโคกยาว ไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง และสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ต่อมาแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 10 ราย แยกเป็น 4 คดี นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในชั้นศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีอยู่ในชั้นกีฎา
ลำดับการต่อสู้หลังรัฐประหาร คสช.
หลังรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. หลังจากมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และนโยบายตามแผนแม่บทป่าไม้ฯ ชุมชนโคกยาวถือเป็นพื้นที่แห่งแรก ที่ถูกแผนนโยบายดังกล่าวพยายามไล่ออกจากพื้นที่ แต่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในชุมชนโคกยาว มีนายเด่น เป็นแกนนำหลักที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินให้ชุมชนโคกยาวสามารถอยู่ในพื้นที่ได้มาตราบทุกวันนี้ ดังตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่นำเสนอ ดังนี้
วันที่ 25 ส.ค. 2557 เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2557 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 15 วันนับแต่วันปิดประกาศ หากพ้นกำหนดเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนเอง พร้อมทั้งจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด
วันที่ 28 ส.ค. 2557 ชาวบ้านเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ
2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป
ทาง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย รับทราบปัญหา พร้อมกล่าวว่าจะนัดหมายให้ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมกันในวันนี้ 1 ก.ย. 2557
วันที่ 29 ส.ค. 2557 เดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 1 ก.ย. 2557 เข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมประชุมด้วย ดังนี้ เลขานุการผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) หัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ศาลอุธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรชัยภูมิ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
วันที่ 10 ก.ย. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ในวันที่ 8 ก.ย. 2557 ออกไปก่อน
วันที่ 1 ต.ค. 2557 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้าย “ยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม”
วันที่ 2 ต.ค. 2557 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0105.04 / 5542 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ อ้างถึงหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นร 0105.04 / 4927 ลงวันที่ 4 ก.ย. 2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่าปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งจะได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของพีมูฟ ในวันที่ 7 ต.ค. 2557
วันที่ 7 ตุลาคม 2557 เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น ๑ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรณีชุมชนโคกยาว มติที่ประชุม มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรต่อไป
วันที่ 8 ต.ค. 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง
วันที่ 24 ต.ค. 2557 เดินทางเข้าพบนายอำเภอคอนสาร (นายเจนเจตน์ เจนนาวิน) เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2557 โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน
วันที่ 13 พ.ย. 2557 นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมหารือ และติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในพีมูฟ โดยในการประชุมหารือดังกล่าวหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้แจ้งว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะลงมาพบกับภาคประชาชนในวันที่ 17 พ.ย. 2557
วันที่ 17 พ.ย. 2557 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินและป่าไม้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวาระการประชุมที่ 3.2 พิจารณาการทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลาย ทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และที่ประชุมมีมติทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้
วันที่ 20 พ.ย. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216 / 2557 เพื่อเป็นกลไกในการกำกับเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหาโดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพีมูฟร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวน 25 คน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่ ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของพีมูฟ เพื่ออำนวยการเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
วันที่ 23 ม.ค. 2558 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลโดยผลการประชุมดังนี้
วาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่
ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย
วันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2558 เรื่อง ให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง อนึ่ง ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
วันที่ 16 ก.พ. 2558 เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ (ศูนย์ดำรงธรรม) เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผบ.กกล.รส.จว.ชย โดยทาง พ.ต.สุรขัย ชอบยิ่ง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมแจ้งว่าจะนำยื่นต่อผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้รับทราบปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ได้เดินทางไปถึงนครราชสีมา เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 โดยทางเลขาฯกองอำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 8 เป็นตัวแทนรับหนังสือ
วันที่ 17 ก.พ. 2558 ประมาณ 09.30 น.เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งไล่รื้อชุมชนโคกยาว โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้
1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง สั่งการมายังผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ทุเลาคำสั่งบังคับให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด
2. ให้พิจารณารับรองแผนงานโครงการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน กรณีชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จจ.ชัยภูมิ
โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับหนังสือ
ประมาณ 11.30 น.เดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยคุณ ยู คาโนะสุเอะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน เป็นตัวแทนรับหนังสือ และได้ร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมรับทราบปัญหา โดยแจ้งว่า ผู้แทนสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำหนังสือระบุถึงข้อกังวลกรณีขับไล่ชุมชนโคกยาว ไปยัง ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีองค์การระหว่างประเทศแล้ว ทั้งนี้ คุณ ยู คาโนะสุเอะ แจ้งว่าจะมีการประชุมร่วมกันกับนานาชาติ เพื่อให้ต่างประเทศได้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ เพื่อให้มีการแก้ไขกรณีปัญหาที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม โดยจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนในเร็วๆ นี้
ประมาณ 13.00 น. เดินทางไปยังศูนย์ราชการใหม่ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเข้ายื่นหนังสือ นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยได้รับความคืบหน้าว่า ทางทีมงาน กสม.จะลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ในวันที่ 24 ก.พ.58
ประมาณ 14.30 น. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อยังกระทรวงทรัพยากรฯ โดย นายเกรียงไกร นวนมะณี เลขาฯ สำนักงานรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯ (สร.ทส.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ แจ้งว่าจะนำไปยื่นต่อท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ มีหนังสือไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสิมา) เป็นการต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่า หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังเข้าไปกระทำการข่มขู่ คุกคาม หรือเข้าไปปิดป้ายคำสั่งไล่รื้ออีก สามารถให้นำเลขลับของหนังสือที่ได้ประทับการยื่นไปแล้วให้เจ้าหน้าที่ดู เพื่อยืนยันว่าผู้เดือดร้อนได้มายื่นหนังสือ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่
วันที่ 24 ก.พ. 2558 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อรับฟังและตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมร่วมแลกเปลี่ยน หาแนวทางสู่การแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม
วันที่ 19 ส.ค. 2558 ตัวแทนสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอำเภอคอนสาร และหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า (ชย.4 คอนสาร) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เตรียมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตามที่ภาคประชาชนร่วมร้องเรียนจากผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ
เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถหกล้อ รถปิกอัพ รวม 8 คัน ขนเจ้าหน้าที่เข้ามาจำนวนกว่า 40 นาย วิ่งฝ่าเรียงแถวเป็นทางยาวเข้ามาในพื้นที่ชุมชนโคกยาว
ขณะเดียวกัน นายเจนวิทย์ คำนึงผล หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) ลดกระจกลงมาทักทายนายเด่น ว่าจะลงไปตรวจดูพื้นที่ข้างล่างเพื่อนำใบปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ที่บุกรุกป่ารายอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีของสมาชิกชุมชนโคกยาวบนพื้นที่โฉนดชุมชน 830 ไร่ แต่อย่างใด
ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านเข้าไปดูกลับพบแผ่นป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่เขียนว่า “ยุทธการพลิกฟื้นผืนป่า แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฏหมายต่อพื้นที่บุกรุกปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จังหวัดชัยภูมิ” และมีแผ่นกระดาษเย็บติดกับแผ่นป้ายโปสเตอร์ ซึ่งเป็นหมายบังคับคดีลงวันที่ 10 มี.ค. 2559 ให้สมาชิกชุมชนโคกยาว จำนวน 1 ราย โดยระบุว่า สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว กรมบังคับคดี ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ศาลจังหวัดภูเขียว ได้มีหมายบังคับคดีขับไล่จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ป่าโคกยาว หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
จึงประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นบริวารของจำเลย และเจ้าพนักงานจะดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่าไม่ไปแสดงตน เพราะอย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่มักหาเหตุมาอ้างให้ชุมชนออกจากพื้นที่โดยเสมอ ครั้งนี้อาจเพียงนำหมายบังคดีให้ออกเพียงรายเดียว วันต่อมาอาจออกหมายเพิ่มอีกทีละคน
วันที่ 16 เม.ย. 2559 วันที่นายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน กลับสูญหายไปในราวป่า ในช่วงระหว่างการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปมพิพาทในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การทวงคืนผืนป่าฯ อย่างเข้มข้น
อะไรคือสาเหตุของการถูกทำให้สูญหาย? กว่า 18 วันแล้ว นอกจากปมปริศนาที่ทิ้งไว้ให้สังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาชิกเครือข่ายฯ ต้องแกะรอย ควานหาผู้ที่มีส่วนได้เสีย เพื่อมิให้แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินคนสำคัญของสามัญชนอันทรงคุณค่าหายตัวไปอย่างสูญเปล่า