กรณีล่าสุด ‘ชุมชนทุ่งทับควาย’ ถูกให้ออกจากพื้นที่สวนป่าบางขัน ภายใน 15 เม.ย.2558 แกนนำชาวบ้านเร่งยื่นหนังสือขอชะลอ ด้าน ‘ชุมชนเพิ่มทรัพย์’ ชาวบ้านถูกกล่าวหาเป็นผู้มีอิทธิพล
30 มี.ค. 2558 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. พ.อ.ทวี เกิดสมบูรณ์ รอง ผบ.จทบ.ส.ฎ. เป็น ผู้แทน ผบ.จทบ.ส.ฎ. เข้าชี้แจงรายละเอียดต่ออธิบดีกรมองค์การต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรณี สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษย์ชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ให้ชี้แจงกรณี การปฏิบัติการของ จนท.บก.ควบคุม.จทบ.ส.ฎ. ต่อชุมชนเพิ่มทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จ.สุราษฎร์ธานี
หน่วยข่าวทหารระบุว่า เกิดการร้องเรียนโดยการบิดเบือนข้อมูลนำไปสู่ความสับสนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนมีการนำข้อมูลยกระดับเป็นปัญหาระดับประเทศ และดึงสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่ใช้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชามาเป็นหนทางในการแสวงหาประโยชน์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงทราบถึงพฤติกรรมของแกนนำคนดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ การประชุมเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. โดยจากการประชุม กระทรวงการต่างประเทศจะสรุปรายละเอียดนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
ด้าน ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า การกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นผู้มีอิทธิพลทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัย เพราะถูกใส่ร้ายทำให้สังคมโดยเฉพาะในภาครัฐเข้าใจผิด และอาจเป็นการคิดกำจัดให้พ้นทางผลประโยชน์ของนายทุนและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่
“การใส่ร้ายป้ายสี การปรักปรำ การบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นกลยุทธ์ ที่ชมชั้นปกครองใช้ทำลายนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมมาทุกยุคทุกสมัยคราวนี้ก็เช่นกัน” ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า การทำลายชื่อเสียง ทำลายความน่าเชื่อถือ หวังผลให้ชาวบ้านสูญเสียความชอบธรรมทางสังคม และจะกระทบกับการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เพียงชุมชนเพิ่มทรัพย์ แต่ยังมีที่อื่นๆ ด้วย
ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ให้ข้อมูลด้วยว่า ล่าสุดชุมชนทุ่งทับควาย อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราชถูกปักป้ายไล่รื้อ และวันนี้ (30 มี.ค. 2558) ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้และแกนนำชาวบ้านได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้ยุติการไล่รื้อชุมชนบ้านทุ่งทับควายไว้ก่อน ทั้งนี้ ชุมชนทับควายอยู่ในพื้นที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่ตั้งชุมชนด้านหน้าติดถนนลาดยาง ห่างที่ว่าการ อ.บางขัน ประมาณ 5-7 กิโลเมตร
สืบเนื่องจาก มีหนังสือลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 20 ม.ค.2558 ซึ่งระบุว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก และให้รื้อถอนสิ่งที่ปลูกสร้าง พืชผลอาสิน ออกไปให้พ้นจากพื้นที่สวนป่าบางขัน ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควายฯ ให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 15 เม.ย.2558
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชี้แจงเหตุผลไว้ในหนังสือที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้
1.กระบวนการตรวจสอบพื้นที่สวนป่าบางขันฯ ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าสิ้นเสร็จครบถ้วน เนื่องจากยังมิได้รายงานผลการตรวจสอบไปยังคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( แต่งตั้งภายใต้ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 15/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สั่งเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2555 โดย นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) ซึ่งการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้หยุดชะงักลงเนื่องจากความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยุติการบริหารราชการแผ่นดิน
2. ต่อมารัฐบาล คสช. โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216/2557 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมอบหมายให้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
3. ต่อมามี คำสั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 1/ 2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (อ้างถึงลำดับที่ 7)
4. ต่อมาหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล จึงได้มี คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ 1/2558 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อ้างถึงลำดับที่ 3)
“กระบวนการตรวจสอบพื้นที่สวนป่าบางขันฯ ควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะสรุปเป็นประการใด และการจะไล่รื้อราษฎรออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควาย หรือไม่ อย่างไร จะต้องผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และต้องผ่านกระบวนการไต่สวนรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน และพิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อราษฎรน้อยที่สุด” จดหมายระบุ
๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนทุ่งทับควาย เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สำเนาถึง ๑. ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ๒. หัวหน้างานสวนป่าอ่าวตง – บางขัน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ๓. นายอำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช อ้างถึง ๑. แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ๒. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๑๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ๓. คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ ๑/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามโดย หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ๔. หนังสือ ที่ นศ ๐๐๑๓.๓/๑๓๔๒ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่องการเข้าอยู่ในพื้นที่สวนป่าทุ่งทับควาย ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ลงนามโดย นายสวัสดิ์ อั้นเต้ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ๕. หนังสือ ที่ นศ ๑๗๑๘/๑๕๓ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง ขอรายงานผลการประชุมคณะทำงานตรวจสอบและรังวัดพื้นที่บริเวณที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควาย ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงนามโดย นายวิรัช แก้วเมือง ปลัดอำเภอบางขัน ๖. ประกาศองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เรื่อง ให้ผู้เข้าอยู่อาศัยในเขตพื้นที่สวนป่าบางขัน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทุ่งทับควาย ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงนามโดย นายปริญญา เกตุแก้ว หัวหน้างานสวนป่าอ่าวตง – บางขัน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ๗. คำสั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑/ ๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สั่ง ณ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ลงนามโดย หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือที่อ้างถึงลำดับที่ ๔ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พิจารณาและลงความเห็นว่าการเข้าอยู่ในพื้นที่สวนป่าทุ่งทับควายของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ชุมชนบ้านทุ่งทับควายเชื่อได้ว่าเป็นการบุกรุกทรัพยากรของรัฐ และในหนังสือดังกล่าวจึงได้สั่งการให้สวนป่าทุ่งทับควายต้องดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่และนำไปสู่การออกประกาศขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตามหนังสือที่อ้างถึงลำดับที่ ๖ ซึ่งมีใจความสำคัญ สองประการ ดังนี้ ๑. คณะทำงานตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควาย ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เสร็จแล้ว ๒. สวนป่าบางขัน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่สวนป่าฯ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควาย ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงขอให้สมาชิกชุมชนบ้านทุ่งทับควาย รื้อถอนสิ่งที่ปลูกสร้าง พืชอาสินหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากเดิม ออกไปให้พ้นจากพื้นที่สวนป่าบางขัน ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควายฯ ให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ ฯลฯ เกี่ยวกับกรณีข้างต้น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มีประเด็นขอเรียนชี้แจง และขอให้ยุติการไล่รื้อชุมชนบ้านทุ่งทับควาย อำเภอบางขัน จังนครศรีธรรมราช ไว้ก่อน ด้วยเหตุผล ดังนี้ ๑. กระบวนการตรวจสอบพื้นที่สวนป่าบางขันฯ ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าสิ้นเสร็จครบถ้วน เนื่องจากยังมิได้รายงานผลการตรวจสอบไปยังคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( แต่งตั้งภายใต้ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๕/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สั่งเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ โดย นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) ซึ่งการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้หยุดชะงักลงเนื่องจากความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยุติการบริหารราชการแผ่นดิน ๒. ต่อมารัฐบาล คสช. โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๑๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (อ้างถึงลำดับที่ ๒) โดยมอบหมายให้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ๓. ต่อมามี คำสั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑/ ๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (อ้างถึงลำดับที่ ๗) ๔. ต่อมาหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล จึงได้มี คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ ๑/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อ้างถึงลำดับที่ ๓) ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบพื้นที่สวนป่าบางขันฯ ควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะสรุปเป็นประการใด และการจะไล่รื้อราษฎรออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทับควาย หรือไม่ อย่างไร จะต้องผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ( อ้างถึงแล้วลำดับที่ ๗ ) และต้องผ่านกระบวนการไต่สวนรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน และ พิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อราษฎรน้อยที่สุด เกิดความเป็นธรรมต่อราษฎรมากที่สุด ทั้งต้องไม่ขัดต่อแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บทที่ ๑ “ข้อ ๑.๓.๑ การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่ง คสช. ที่ ๖๖/๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้….” ด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อมูลและความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามลำดับ เพื่อคณะกรรมการ และคณะทำงาน ดังกล่าวข้างต้นจะได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน จึงเรียนมาเพื่อพิจารณายุติการบังคับไล่รื้อ จนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ชุมชนทุ่งทับควายที่ขาดแคลนหรือไร้ที่ดินทำกินได้แล้วเสร็จ
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
|