"เมธี"ป.ป.ช.บอกกสทช.เสี่ยงผิดกม.รับ"ไอโฟน"ในงานเลี้ยงปีใหม่ ด้าน"วิเชียร"เอไอเอส บอกเป็นเรื่องปกติภาคเอกชน
7 มีนาคม 2555 -นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เป็นช่วงเวลาปกติที่มีหน่วยงานมาสวัสดีปีใหม่ แต่กรณีที่เป็นข่าว อาจเป็นกรณีที่บริษัทมือถือรายหนึ่ง มาสวัสดีปีใหม่ และนำพระแก้วมรกตมามอบให้และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นถุงใส่โทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่นใหม่ ส่วนตัวไม่ได้รับด้วยซ้ำ และแจ้งว่าไม่สามารถรับได้ เพราะขัดกับข้อกฎหมาย ป.ป.ช. และเป็นจุดยืนหรือจริยธรรมส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ค่ายมือถือยังบอกว่า ให้ลองเอาไปใช้ดูก่อน แต่ได้ปฎิเสธไป ซึ่งค่ายมือถือก็นำกลับไป และทีมงานหน้าห้องเห็นชัดเจน จากนั้นก็สวัสดีปีใหม่กันตามปกติ พร้อมให้หนังสือเกี่ยวกับตอนที่ถูกบริษัทชินคอร์ปฟ้องกลับ 400 ล้าบาท เหตุการณ์นี้ก็จบลง ส่วนบริษัทจะไปพบกรรมการคนอื่นด้วยหรือไม่นั้น ไม่ทราบเรื่องนี้
ภาพประกอบ จาก jongblog.com
คนที่นำโทรศัพท์มาให้ เป็นระดับบริหาร มาด้วยกัน 3-4 คน แต่ไม่ใช่ระดับบริหารสูงสุด แต่จำชื่อไม่ได้ ซึ่งการนำของมาให้เป็นสิ่งที่แต่ละบริษัทควรจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าควรจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทรัฐวิสหกิจและเอกชนมาครบทุกรายในช่วงปีใหม่ แต่มีเพียงบริษัทเดียวที่ถือโทรศัพท์มาให้ด้วย
ส่วนประเด็นที่มีการแจกโทรศัพท์ ในงานเลี้้ยงปีใหม่นั้น ที่จัดวันที่ 13 มกราคม ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเพราะดำเนินการโดยสำนักงาน แต่วันนั้นได้ไปร่วมและนำของไปจับสลากด้วย โดยใช้เงินตัวเอง และส่งให้ทีมสำนักงานกสทช.นำไปจับสลาก ส่วนของขวัญที่นำมาไม่ทราบว่ามาจากไหนบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจากกรรมการและผู้บริหารกสทช. แต่ของขวัญจากภายนอกไม่แน่ใจว่าบริษัทออร์แกนไนซ์ ดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของสำนักงานกสทช.
นายเมธี ครองแก้ว กรรมการป.ป.ช.ระบุว่า กฎหมายมาตรการ 103 เขียนว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึงคนที่ได้รับเงินเดือนจากงบประมารแผ่นดิน ซึ่งหากรับจากบริษัทเฉยๆ ไม่ใช่ตัวบุคคล อาจไม่เข้าข่าย แต่โดยเจตนารมย์ กฎหมายป.ป.ช.ต้องการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำประพฤติมิชอบ
ภาพประกอบ จาก isnhotnews.com
นอกจากนี้ ตามประกาศ ป.ป.ช. ข้อ 5(2) เรื่องหลักเกณฑ์ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2543 กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาจากบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ญาติในมูลค่าในการับแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3 พันบาท ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.122 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต
ส่วนกรณีที่เลขากสทช.ระบุว่า เป็นตัวแทนบริษัทนั้นๆ มอบให้ในงานจัดเลี้ยง โดยกสทช.ไม่ได้ร้องขอนั้น
อ่านได้จากลิ้งค์นี้
http://www.twitlonger.com/show/g9ee4h
นายเมธี ระบุว่า หากตั้งไว้ที่ถนนและเจ้าหน้าที่กสทช.เดินผ่าน อย่างนี้ไม่ผิด แต่หากมีบุคคลเดินเข้ามาให้ และรับไว้ ผิดตามมาตรา 103 แน่นอน หากมีคนมาฟ้องร้อง และกรรมการป.ป.ช.จะต้องดูว่ามีเจตนาหรือไม่ ซึ่งการที่กสทช.ที่เป็นหน่วยที่มีผลได้เสียโดยตรงกับบริษัทโทรคมนาคมนั้น นับว่ามีความเสี่ยงมาก แต่คงไม่สามารถวินิจฉัยได้นอกจากกรรมการที่ประชุมป.ป.ช. แต่คิดว่ามีความสุ่มเสี่ยง และวิธีการคิดว่าไม่รับดีกว่าง่ายที่สุด แม้สุดท้ายเลขาธิการกสทช.ระบุว่า จะเป็นความสมัครใจของค่ายบริษัทนั้นๆ ก็ตาม โดยที่ไม่ได้ร้องขอ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้ ป.ป.ช.ยังไม่เคยวินิจฉัยว่ามีความผิดชัดเจน แต่จะมีประโยชน์ในทางป้องป้อมไม่ให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ได้ต้องการออกกฎหมายมาเพื่อฟาดฟันใคร แต่หากมีใครฟ้องร้อง ก็ต้องไต่สวน
"ถ้าเป็นข้าราชการประจำ เช่นผม อย่างเสี่ยงดีกว่าอะไรที่มูลค่าเกิน 3 พันบาทก็อย่ารับดีกว่า หรือตัวอย่างกรรมการคนหนึ่งไปที่ชายทะเล จังหวัดสุราษฎร์ มีคนเอาหอยใส่ถังมาให้ แต่กรรมการคนนั้นก็ไม่ได้รับเลย เพราะไม่อยากเสี่ยง ซึ่งโทรศัพท์ที่มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นบาทก็พูดได้คำเดียวครับว่า มีความเสี่ยงอยู่ หากมีคนหาเรื่องท่านขึ้นมา"
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอไอเอส ให้ความเห็นว่า
"ค่ายมือถือเอกชนให้มือถือกับหน่วยงานที่จัดเลี้ยงว่า การให้เป็นของขวัญเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าวีไอพีก็มีของแบบนี้ให้เหมือนกัน ซึ่งหากกสทช.กำหนดกฎไว้ว่าไม่รับของที่มีมูลค่าเกิน 3 พัน แล้วไม่รับก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
ภาพประกอบ จาก tjinnovation.com
ส่วนการร่วมจับสลากหากเป็นงานปีใหม่ของใครเป็นเรื่องปกติของบริษัท แต่หากจับได้แล้วไม่เอาก็เป็นเรื่องของเค้าเหมือนกัน เหมือนเป็นของชำร่วยจากบริษัทไป
แต่บริษัทไม่เคยมีนโยบายว่าจะให้หรือไม่ให้ใคร ฝ่ายไหนดูแลใครอยู่เป็นคนจัดการกันไป เป็นงบประมาณของแต่ละฝ่ายจัดการ ซึ่งข่าวที่ออกมา คิดว่าไม่น่าใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคุณคิดว่ารับไม่ได้ คุณก็ไม่ต้องไปรับ เราไปวุ่นวายเรื่องอื่นดีกว่าหรือไม่ เรื่อง 3 จี จะเกิดหรือไม่ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่มากกว่า
ไม่ใช่มองแต่ปัญหาจริยธรรมมันไม่ได้มองแต่แค่นี้ แล้วอย่างอื่นที่สื่อมองไม่เห็นอีกมากที่เค้าให้กัน แต่คุณมองไม่เห็น บางทีสื่อก็ต้องดูเหมือนกันเหมือนเป็นเรื่องที่ขุดขึ้นมาให้เป็นประเด็นมากกว่า"
ขณะที่นางสาวสุภิญญา ระบุว่า เรื่องนี้หากถูกตรวจสอบก็จะเป็นเรื่องใหญ่แน่อน ซึ่งในส่วนของสำนักงานในวันนั้นหากพิสูจน์ได้จริงว่าเกี่ยวพันกับค่ายมือถือก็อาจมีความเสี่ยง แต่ต้องให้เลขาธิการชี้แจ้งข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งการประชุมบอร์ดสัปดาห์หน้าอาจได้หารือแนวทางป้องกันในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง และหากมีกระบวนการตรวจสอบใดๆ ขึ้นมา ฝ่ายเกี่ยวข้องก็ต้องชี้แจงกันไป
ส่วนกรณีที่ค่ายมือถือนำของมากำนัลให้กสทช. ซึ่งเป็นฝ่ายที่ดูแลกำกับดูแลโทรคมนาคมโดยตรงนั้น เห็นว่าควรต้องระมัดระวัง เพราะบริษัทเป็นเอกชน ซึ่งอาจต้องทำทุกวิถีทางที่บริษัทจะได้ประโยชน์ แต่เรื่องนี้มันอยู่ที่จริยธรรมส่วนตัวของกสทช. และองค์กร ว่าจะมีธรรมาภิบาลและรักษาจริยธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าการมาอยู่จุดนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงและท้าทาย และส่วนตัวก็พยายามจะโปร่งใสและเปิดเผยได้มากที่สุด และที่ผ่านมาก็มีบททดสอบกันมาเรื่อยๆ และทุกคนหากไม่ระมัดระวังก็จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาได้เช่นกัน เพราะเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีพนักงานมาก ทุกคนอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงได้เช่นกัน
ที่ผ่านมา นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.เคยเสนอแล้วว่ากสทช.ควรทำกรอบจริยธรรมองค์กร บางเรื่องที่ไม่ขัดกรอบกฎหมาย แต่ขัดกรอบจริยธรรม ก็ต้องดูกันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นบทเรียนป้องกันในอนาคต เพื่อรักษาจริยธรรมและภาพลักษณ์ในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับดูแล เพราะอนาคตอาจมีเรื่องให้เกิดข้อสงสัยได้อีก ทั้งการรักษาระยะห่างกับผู้ประกอบการ การเดินทางไปต่างประเทศ งบประมาณที่จะใช้จ่าย รวมถึงการผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
ชิ้นนี้ ออกอากาศข่าวภาคค่ำ ไทยพีบีเอส 7 มีนาคม555
วิเชียร AIS แจงเอกชนแจกมือถือให้กสทช. (Embedding disabled, limit reached)