บริษัทคอส์ทโค-ซีพี เจอคดีถูกกล่าวหาใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้ง

บริษัทคอส์ทโค-ซีพี เจอคดีถูกกล่าวหาใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้ง

ร้องศาลแคลิฟอร์เนียไม่ให้ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ รับซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกุ้งจากผู้ผลิตไทย นอกเสียจากจะได้ฉลากผลิตภัณฑ์ระบุว่าปราศจากการใช้แรงงานทาส

20152108202652.jpg

ที่มาภาพ: แฟ้มภาพ ThaiPBS

21 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุ บริษัทกฎหมายในแคลิฟอร์เนีย 3 บริษัทพยายามให้ทางการออกคำสั่งให้บริษัทค้าปลีกคอส์ทโคในสหรัฐฯ หยุดขายกุ้ง นอกเสียจากจะได้ฉลากผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการใช้แรงงานทาส

บริษัทกฎหมายเหล่านี้ได้ยื่นฟ้องบริษัทคอส์ทโค และผู้ผลิตในไทย ในข้อหาที่ว่าบริษัทคอส์ทโคขายผลิตภัณฑ์จากกุ้ง ขณะที่รู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งนั้นมีการใช้แรงงานทาส

ข้อความที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางซานฟรานซิสโกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา อ้างว่าบริษัทคอส์ทโคทั้งซื้อและขายกุ้งจากฟาร์มของบริษัทชั้นนำของไทยอย่างซีพี รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่มีแหล่งวัตถุดิบมาจากการใช้แรงงานทาสบนเรือ

กลุ่มบุคคลได้แก่ California resident และ Monica Sud ซึ่งเป็นผู้ซื้อกุ้งจากสมาชิกร้านขายส่ง เป็นโจทก์การฟ้องร้องคดี แต่การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าหลายล้านคนในแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด

ตามการสืบสวนของเดอะการ์เดียน ในปี 2557 องค์การสหประชาชาติ กลุ่ม NGOs และมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation –EJF) มีการรายงานการติดตามความซับซ้อนของวงจรอุตสาหกรรมการผลิต “ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกุ้ง” ที่มีการใช้แรงงานทาสอยู่เป็นประจำในภาคการประมงของไทย

การสืบสวนสอบสวนเกิดหลังพบข้อมูลว่ามีผู้คนถูกซื้อขายและบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง และประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากฟาร์มกุ้งทั้งหมดให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วโลก รวมทั้ง 4 บริษัทค้าปลีกชั้นนำอย่าง วอล์มาร์ท, คาร์ฟูร์, คอส์ทโค และเทสโก้

จากการสืบสวนพบว่า ผู้ทำนากุ้งรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างซีพี ได้ซื้อปลาสำหรับเป็นอาหารในนากุ้งจากผู้แทนจำหน่ายบางส่วนที่ซื้อปลามาจากเรือประมง หรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มีการใช้แรงงานทาส

กลุ่มคนที่หนีมาจากเรือซึ่งส่งสินค้าให้กับซีพีและบริษัทอื่นๆ พวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย อย่างการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ถูกซ้อม ถูกทรมาน และถูกสังหารด้วยวิธีต่างๆ บางคนอยู่กลางทะเลมาหลายปี และบางคนก็ต้องทนเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกสังหารตายไปต่อหน้าต่อตา

หัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายของแคลิฟอร์เนียอ้างว่า Derek Howard  จากบริษัทกฎหมายโฮวาร์ด ย่าน Mill Valley อธิบายว่า “การยื่นฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ชาวแคลิฟอร์เนียได้มั่นใจว่า พวกเขาไม่ได้ทานอาหารที่มาจากการกดขี่ใช้แรงงานทาส การใช้แรงงานทาสเป็นปัญหาใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งบริษัทคอส์ทโคก็มีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขต่อผู้จัดจำหน่าย และสามารถบังคับใช้นโยบายต่อต้านการใช้แรงงานทาสได้”

จำเลยมีเวลา 30 วันในการยื่นคำให้การ เดอะการ์เดียนได้สอบถามทั้งคอส์ทโค และซีพีถึงความคิดเห็นในการดำเนินการทางกฎหมาย

คอส์ทโคกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยนั้นถูกเผยแพร่มากว่า 1 ปี บริษัทค้าส่งคอส์ทโคก็ได้ทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน (รวมถึงรัฐบาลไทย, ผู้ค้ารายอื่นๆ และอุตสาหกรรมไทย) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

“เวลานี้กลุ่มลูกค้าทั้งหมดของเราทราบดีว่า ถ้าพวกเขาไม่พอใจในสินค้าของเราก็สามารถส่งคืนสินค้าพร้อมรับเงินคืนเต็มจำนวน” คอส์ทโคระบุ

เดอะการ์เดียน ระบุด้วยว่า จากการสืบสวนเมื่อปี 2557 คอส์ทโคกล่าวว่า “ผู้จัดจำหน่ายกุ้งไทยมีการดำเนินงานแก้ไขเพื่อควบคุมแหล่งที่มาของวัตถุดิบ” นัยว่าไม่ได้มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นในวงจรอุตสาหกรรมผลิตเกี่ยวกับกุ้ง

ด้านซีพีฟู้ดกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า ได้ประณามการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานทาสทั้งหมด

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานและผู้บริหารสูงสุดของซีพีกรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของซีพีฟู้ด กล่าวไว้เมื่อปี 2557 ว่า “แม้ว่าสิ่งเดียวที่เราเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงคือการซื้อปลาเพื่อมาเป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง แต่ซีพีเอฟจะให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานทาสในวงจรอุตสาหกรรมอาหารปลา ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ซีพีเอฟขอสัญญาว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ”

เดอะการ์เดียน ระบุในตอนท้ายว่า ผู้ค้ารายอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในวงจรอุตสาหกรรมนี้บอกกับเราด้วยว่า พวกเขาขอประณามการใช้แรงงานทาสทุกอย่าง และขอเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาคประมงไทย

แถลงการณ์ของซีพีฟู้ดกล่าวว่า “ซีพีฟู้ดให้ข้อมูลว่า บริษัทเพิ่งได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจกุ้งหลายฉบับในแคลิฟอร์เนีย ซีพีเอฟเชื่อว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ ข้อร้องเรียนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาไม่ควรจะได้รับ”

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้แปลจากเดอะการ์เดียนเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2558 ต่อมาต้นฉบับมีการเปลี่ยนแปลง โดยเปลี่ยนเนื้อหาในตอนท้ายที่ว่า “ด้านซีพีฟู้ดกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า ได้ประณามการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานทาสทั้งหมด

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานและผู้บริหารสูงสุดของซีพีกรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของซีพีฟู้ด กล่าวไว้เมื่อปี 2557 ว่า “แม้ว่าสิ่งเดียวที่เราเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงคือการซื้อปลาเพื่อมาเป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง แต่ซีพีเอฟจะให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานทาสในวงจรอุตสาหกรรมอาหารปลา ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ซีพีเอฟขอสัญญาว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ”

เดอะการ์เดียน ระบุในตอนท้ายว่า ผู้ค้ารายอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในวงจรอุตสาหกรรมนี้บอกกับเราด้วยว่า พวกเขาขอประณามการใช้แรงงานทาสทุกอย่าง และขอเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาคประมงไทยออก

ที่มา: http://www.theguardian.com/global-development/2015/aug/19/costco-cp-foods-lawsuit-alleged-slavery-prawn-supply-chain

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ