นายกฯ ลงอุดรฯ เจ้าหน้าที่ประกบแจกลุ่มอนุรักษ์ฯ หวั่นจี้ยุติเหมืองโปแตช

นายกฯ ลงอุดรฯ เจ้าหน้าที่ประกบแจกลุ่มอนุรักษ์ฯ หวั่นจี้ยุติเหมืองโปแตช

20161903204921.jpg

รายงานโดย: เดชา คำเบ้าเมือง
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

19 มี.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วานนี้ (18 มี.ค. 2559) ที่อาคารหอประชุมหลังใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมด้วยสมาชิกจำนวนกว่า 10 คน สวมเสื้อเขียวเพื่อแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์อย่างพร้อมเพรียง เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ซึ่งเดินทางมาราชการที่ จ.อุดรธานี โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งโต๊ะไว้คอยให้บริการรับหนังสือร้องเรียนของประชาชนกลุ่มต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตอนเช้าก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะออกเดินทางไปยื่นหนังสือได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.ประจักษ์ศิลปาคม และทหารจาก มทบ.24 รวม 5 นาย เดินทางไปที่บ้านของนางมณี เพื่อสอบถามรายละเอียดของการยื่นหนังสือ และยังถามด้วยว่าจะมีชาวบ้านกลุ่มอื่น หรือกลุ่มนักศึกษามาเคลื่อนไหวด้วยหรือไม่ ซึ่งนางมณีก็ตอบว่าตนไม่ทราบ แต่หากว่าจะมีก็เป็นสิทธิของเขา

นอกจากนี้เมื่อคืนก่อนในหมู่บ้านได้มีการโปรยใบปลิวหลายจุด โดยมีเนื้อหาสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี พร้อมเชิญชวนให้คนอุดรฯ ออกมาแสดงพลังให้นายกฯ เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำเหมือง เจ้าหน้าที่จึงอ้างว่ามาเพื่อดูแลความปลอดภัย โดยจะนำทางพากลุ่มชาวบ้านไปยื่นหนังสือ และส่งกลับบ้านด้วยตนเอง

เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ เดินทางมาถึงอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 มาให้การต้อนรับและพาไปยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่

20161903205132.jpg

มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ ทำดีกับชาวบ้านมากจนน่าตกใจ โดยไปหาถึงที่บ้านแต่เช้า พาไปยื่นหนังสือ และส่งกลับบ้าน ซึ่งมันต่างจากบรรยากาศเมื่อปีที่แล้วที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการฯ ในค่ายทหารและประชุมสภาอบต. ที่มีการคุ้มกันเวทีอย่างเข้มงวด ตรวจค้นชาวบ้าน และกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง (ประชุมสภา อบต.) มองชาวบ้านเหมือนเป็นคนร้ายเลย

“เจ้าหน้าที่เขาคงกลัวว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกฯ ซึ่งขณะนี้กำลังปฏิบัติราชการอยู่ที่อำเภอเพ็ญ จึงบริการอย่างเต็มที่ และคอยประกบให้อยู่ในการควบคุมดูแล” มณีตั้งข้อสังเกต

มณี กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นหนังสือที่ยื่นในวันนี้ ทางกลุ่มได้ยื่นคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช และมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ยุติกระบวนการขออนุญาตประทานบัตร จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองถึงที่สุด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 57 และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี

“อยากให้นายกฯ ยุติกระบวนการประทานบัตร ในขั้นตอนที่เหลืออยู่ คือ การทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 88/7 แห่งพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2545 เพราะจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงในพื้นที่ เหมือนเช่นอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้ว” มณีกล่าว

นอกจากนี้ได้มีแหล่งข่าวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงบ่าย ของวันเดียวกัน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เดินทางมาประชุมกับส่วนราชการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่โรงแรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี จึงเป็นที่หน้าจับตาว่าจะมีการผลักดัน หรือชงเรื่องประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ให้กับคณะนายกฯ ที่ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จ.อุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู) ซึ่งจะมีการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ในวันนี้ด้วยหรือไม่

ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในยุคนี้ถ้าจะทุบโต๊ะอนุมัติโครงการอะไรง่ายมากขอแค่ใครให้ผลประโยชน์สูงก็ทำได้ เพราะมีอำนาจอยู่ล้นมือ แต่การใช้อำนาจถ้าไม่ฟังประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจจะพังได้ และในยุคนี้คือการสะสมปัญหาของประชาชนไว้ในอนาคต

“อย่ามองว่ามีเหมืองแร่โปแตชแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ มันคือปลายเหตุ อย่างที่เรารู้กันอยู่ในสองปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ดีอย่างที่พูดๆ กันมันมีสาเหตุจากความไม่เชื่อมั่นและต้นเหตุมันมาจากความเหลือมล้ำทางสังคม” นายสุวิทย์กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ