บทความ เด็กมีเรื่อง “นาปลอดภัย ใจปลอดสาร”
เรื่อง/ภาพ โดย วิชัย จันทวาโร
จะทำนาสักแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว
เด็กๆที่บ้านสันต้นผึ้ง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา จึงลุกขึ้นมาทำนา และความพิเศษของนาที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เพราะมันถูกไถหว่านและลงแรงปักดำจากเด็กๆ เท่านั้น หากแต่นาผืนนี้ ยังเป็นนาปลอดสารเคมีแห่งแรกของชุมชน ที่เด็กๆ ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ข้าวเต็มยุ้งฉางหลังการเก็บเกี่ยว สิ่งที่เขาต้องการมากกว่านั้น คือ การชักชวนให้คนในชุมชนหันกลับมาทำนาปลอดสารเคมี ผ่านการทำให้เห็น
“เด็กๆในหมู่บ้านได้รวมตัวกัน เพื่อเรียนรู้การทำนาว่าเมื่อก่อนกับปัจจุบันต่างกันมากแค่ไหน และเราก็อยากรู้ว่าทำไมต้องใช้สารเคมี เมื่อก่อนไม่ใช้ก็ทำนากันได้ผลดี เดี๋ยวนี้ทำไมต้องใช้ เราอยากเปลี่ยนความคิดนี้” เทิง คชาวุฒิ ไชยวุฒิ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเยาวชนสันต้นผึ้งเล่าเราฟัง ระหว่างที่เขาและเพื่อนๆ กำลังช่วยกันถอนหญ้าที่ขึ้นแซมในแปลงนาอยู่ประปราย
พ่อหลวงขวัญ เตชภัฒน์ มะโนวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านของที่นี่เล่าว่า “เฉพาะชุมชนนี้ปีหนึ่งๆ มีการใช้สารเคมีเป็นหมื่นลิตร เฉพาะยาฆ่าหญ้ายาฆ่าปูฆ่าหอย ยังไม่รวมถึงปุ๋ยเคมีอีกจำนวนมาก ต้นทุนการทำนาถึงสูงขึ้น จนคนในชุมชนมีปัญหาหนี้สิน และยิ่งไปกว่านั้นคือปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า เจ็บป่วยง่ายเพราะการใช้สารเคมี”
การทำนาของเด็กๆที่นี่ ไม่ต่างจากการลงแขกทำนาของวิถีชีวิตแบบเดิมเริ่มตั้งแต่ การไถ การเตรียมดิน มีผู้ใหญ่ ผู้ปกครองมาช่วยเหลือ และเนื่องจากเป็นการทำนาครั้งแรก ในช่วงของการหว่าน ดำ เด็กๆ จึงได้รับการถ่ายทอดวิธีการทำนาจากผู้ปกครอง เป็นภาพของคนสองวัยที่ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และการทำนาปลอดสารไม่ใช่การปล่อยข้าวกล้าในนาไว้ตามยถากรรมไม่มีการดูแลหรือกำจัดศัตรูข้าว แต่เด็กๆ ใช้แรงงานและภูมิปัญญาเก่าก่อนจากการบอกเล่าถามไถ่จากคนรุ่นก่อน ถึงวิธีการดูแลและนำมาปฏิบัติ
หอยเชอร์รีปัญหาที่ชาวนาพบกันมากในปัจจุบันนอกจากการเก็บออกจากแปลงด้วยแรงกายแล้ว ก็สามารถกำจัดได้ด้วยการโรยแกลบหรือฝักลมแล้งลงในนา ฝักลมแล้ง หรือฝักของคูนหรือราชพฤกษ์นั้นมีสารชีวภาพที่หอยเชอร์รีไม่ปรารถนา เด็กๆ เดินเก็บฝักที่หล่นอยู่ใต้ต้นหน้าโรงเรียนในชุมชน หรือข้างถนนที่นิยมปลูกต้นราชพฤกษ์มาทุบให้แตก แล้วเอาไปโรย ไม่มีเสียเงินเสียทองไปซื้อหาเหมือนสารเคมี แต่หากน้ำในนามีปริมาณน้อย เด็กๆ จะเลือกใช้แกลบเพราะเมื่อหอยเดินผ่านแกลบ แกลบจะเข้าไปติดในตัวหอยทำให้ไม่สามารถกินต้นข้าวได้ หอยจะตายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงต้นข้าวในที่สุด
เอกวิทย์ กิจตะวงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำของเด็กๆ พูดถึงหอยเชอร์รี่ระหว่างที่กำลังเด็ดผักบุ้งริมคันนาว่า “หอยในนาปลอดสารก็ต้องปลอดสาร บ่อยครั้งเราก็ไปเก็บหอย เก็บผักบุ้งริมคันนามาทำอาหารกินกัน หอยเชอร์รี่กินได้นะครับ แต่ต้องทำให้ถูกวิธี ต้องเอาเส้นเมาออก เอามาลาบ เอามาก้อยอร่อยอย่าบอกใคร นอกจากเป็นการช่วยกำจัดหอยในนาแล้ว ยังเป็นการลดภาระค่ากับข้าวในบ้านได้อีกด้วยครับ”
นอกจากการทำนาที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว การสร้างชาวนารุ่นใหม่ให้สืบสานอาชีพซึ่งเป็นวิถีที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตย่านนี้มาแสนนานก็เป็นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อีกไม่นานนัก ท้องนาที่เขียวขจีแห่งนี้จะกลายเป็นทุ่งสีทอง รวงข้าวที่สมบูรณ์จะน้อมรวงลงสู่ดิน เมื่อนั้นดอกผลของความพยายามจะสวยงามกว่าแสงสุดท้ายของวัน
วันนี้ข้าวในแปลงนารวมของเด็กๆ สันต้นผึ้ง ยืนยันถึงความสำเร็จของการทำนาปลอดสารแคมี และคนในชุมชนเริ่มตระเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จนมีแนวความคิดที่จะกลับมาทำนาแบบปลอดสารเคมี โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆมีโอกาสสื่อสารกับคนในชุมชนและคนภายนอกผ่านนักข่าวพลเมือง
และวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน นี้ อย่าลืมติดตามเรื่องราวของพวกเขาแบบเต็มอิ่มอีกครั้ง ในรายการเด็กมีเรื่องทาง ThaiPBS เวลา 10.05 น.
http://www.youtube.com/watch?v=GDaoPusPE8I&feature=player_embedded#! (Embedding disabled, limit reached)