นักวิชาการชี้ผันน้ำโขงไม่คุ้ม อบต.จ่ายค่าไฟสูบน้ำเข้านาเดือนละล้าน-เครือข่ายอีสานจวก 40 ปีรัฐจัดการน้ำ อีสานระบบนิเวศพัง

นักวิชาการชี้ผันน้ำโขงไม่คุ้ม อบต.จ่ายค่าไฟสูบน้ำเข้านาเดือนละล้าน-เครือข่ายอีสานจวก 40 ปีรัฐจัดการน้ำ อีสานระบบนิเวศพัง

นักวิชาการชี้ผันน้ำโขงไม่คุ้ม อบต.อ่วมจ่ายค่าไฟสูบน้ำเข้านาเดือนละล้าน ‘หาญณรงค์ เยาวเลิศ’ ข้องใจตัวเลขชลประทาน ‘แสนไร่’ เครือข่ายอีสานแถลง 40 ปีรัฐจัดการน้ำอีสานระบบนิเวศพัง ด้านรัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ตอนล่าง และติดตามโครงการใช้น้ำลุ่มน้ำโขง 

20161401151309.jpg

14 ม.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 หารือผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ และการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติหลักการผันน้ำเข้าลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อดูแลบริหารจัดการให้เพียงพอ โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมฯ

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบแนวทางการผันน้ำจากลุ่มน้ำโขงและสาละวินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งระบุว่าจะเริ่มดำเนินการทันทีที่พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 4 เดือน และมีโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการพัฒนาการใช้น้ำโขง-ห้วยหลวง-ลุ่มน้ำสงครามนั้น ตนมีความเห็นว่าสำหรับในฤดูแล้ง โดยสภาพปัจจุบันน้ำในลำห้วยมีปริมาณน้อยแทบไม่มีอยู่แล้ว และยังมีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกหลายจุด ที่จะสูบน้ำเพื่อทำนาปรังตลอดลำห้วยหลวง ทั้งโครงการเดิม และโครงการใหม่ที่ถ่ายโอนมาให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ปัญหาในพื้นที่คือในลำห้วยไม่มีน้ำให้สูบ อบต.ก็สูบไม่ได้ เพราะมีการบุกรุกพื้นที่ชุมน้ำป่าบุ่งป่าทามเพื่อทำนาปรังกันแทบหมดแล้ว สภาพแบบนี้แทบทุกที่ รวมทั้งที่ลุ่มน้ำสงครามก็เช่นกัน 

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือบรรดา อบต.กำลังตกที่นั่งลำบากเนื่องจาก อบต.ต้องจ่ายเงินประมาณ 40-60 เปอร์เซนต์ของค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ ที่เหลือชาวบ้านจ่าย และต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาด้วย ที่อบต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีสถานีสูบน้ำ 3 แห่ง ซึ่งโอนมาจากกรมชลประทาน มีการสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 จนถึงเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะได้พื้นที่นาปรัง 3,000ไร่ แต่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละ 1 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาระบบ เฉลี่ยแล้วต้นทุนค่าน้ำต่อไร่ คือ 1,666 บาท” สันติภาพ ให้ข้อมูล

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกล่าว กล่าวว่า ในส่วนนี้ หากแปลงเป็นเอกชนดำเนินการแทนและชาวบ้านต้องจ่ายทั้งหมด ต้นทุนค่าน้ำน่าจะแพงกว่านี้แน่นอน เนื่องจากเอกชนต้องคิดต้นทุนจากค่าไฟฟ้า ค่าดูแลรักษา ค่าก่อสร้าง และกำไร ซึ่งอาจทำให้ค่าน้ำแพงมากกว่าเท่าตัว ในกรณีปัจจุบันเป็นน้ำในลำห้วยที่ ไม่ได้เสียค่าไฟสูบขึ้นมาจากน้ำโขง แต่หากในอนาคตต้องรวมค่าไฟฟ้าที่สูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำโขงอีก และสูบข้ามฝายต่างๆ มาเป็นช่วงๆ อีกตามแผนที่มีการศึกษาไว้นั้น จะยิ่งทำให้ค่าน้ำแพงเข้าไปใหญ่ ยิ่งอยู่ไกลก็ยิ่งแพง

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขเดิม ความคุ้มค่าอยู่ที่ 5.60 บาท/ลูกบาศก์เมตร ที่ไจก้า (JICA- องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น) ได้มาดูและศึกษาเมื่อปี 2553 แล้วบอกว่ามันไม่คุ้ม 

“ไจก้าเลยไม่ให้เงินกู้ มันแพงและไม่คุ้มทุน แม้ว่าจะทำให้ค่าน้ำลดลงมาเหลือ 3 บาท ก็คิดว่ายังแพงอยู่ เพราะใช้น้ำ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ดังนั้นค่าน้ำในการทำนาจะอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท/ไร่ คำถามคือ ปลูกข้าวไร่หนึ่งมีกำไรสูงถึง 4.5 พันบาทหรือไม่ หากทำแบบนี้ชาวบ้านเจ๊งแน่ แต่ถ้ารัฐและอบต.ช่วยอุดหนุนให้ในช่วงแรก เพื่อให้ชาวบ้านสนับสนุนโครงการ แต่เมื่อทำไปสักระยะจึงโอนให้เอกชนมาบริหาร คราวนี้ บรรลัยแน่ ไม่มีปัญญาซื้อน้ำทำนาแน่นอน” สันติภาพ กล่าว

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกล่าวเพิ่มเติมว่าตอนนี้อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงมี พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเท่ากับ 0 ไร่

“เวลานี้มีน้ำเพียงพอที่จะทำประปาถึงเดือนพฤษภาคมหรือเปล่ายังต้องลุ้น เป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ไม่เคยเกิน 60 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่โครงการเลย ในรอบ 5 ปีมานี้ มีพื้นที่ชลประทาน 0 เปอร์เซนต์มา 2 ปีแล้ว”

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงข้อสังเกตุ ดังนี้ 1.โครงการเป็นการสูบน้ำและประตูระบายน้ำ 4-5 แห่ง ซึ่งจะต้องมีสถานีสูบน้ำที่ใช้ไฟฟ้าเข้ามาพักเป็นช่วงๆ ก่อนที่น้ำจะลงแม่น้ำโขง คำถามคือเวลาต้องสูบน้ำใครจะจ่าย ใช้งบประมาณส่วนใด ต้นทุนที่เพิ่มมาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เนื่องจากไม่ใช่เพียงการก่อสร้างโครงการแล้วจบ 

2.ตัวเลขที่ภาครัฐระบุว่าจะสามารถเปิดพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ประมาณ 250,000 ไร่ และ ฤดุแล้งได้ 102,000 ไร่ จำเป็นที่ต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า เป็นตัวเลขจริงหรือไม่ หลายคนสงสัยว่าตัวเลขนี้มาจากไหน หากคำนวณจากปริมาณน้ำที่จะสูบเข้ามาหรือกักเก็บเพียงร้อยกว่าล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มันขัดกับตัวเลขพื้นที่ชลประทานเป็นแสนๆ ไร่ที่อ้างมา คำถามคือตัวเลขเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความคุ้มทุนของโครงการหรือ ไม่

ในวันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวโดยระบุว่ากิจกรรมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ลงมาพื้นที่พร้อมกับหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้อง มีนัยยะแอบแฝงที่จะฟื้นโครงการโขง ชี มูล เดิม ซึ่งเป็นโครงการที่มักกล่าวอ้าวอ้างว่าอีสานแล้งซ้ำซาก กลายเป็นช่องทางของหน่วยงานรัฐในการนำเสนอโครงการ จัดการน้ำขนาดใหญ่ ในภาคอีสานตลอดมา อย่างเช่น “โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล” 

“บทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ในอีสานกว่า 40 ปี แทบจะเป็นบทสรุปความล้มเหลวในทุกโครงการ ได้แก่ โครงการโขง-ชี-มูล เขื่อนปากมูล โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการน้ำแก้จน ฯลฯ ผลที่เกิดจากโครงการเหล่านี้ได้ทำให้ระบบนิเวศโดยเฉพาะการ ขุดลอกแหล่งน้ำสำคัญของอีสานพังพินาศไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ การแพร่กระจายของดินเค็ม การสูญเสียที่ดินทำกิน การสูญเสียพันธุ์ปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ 

ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาและรอการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น จากโครงการเหล่านี้มามากกว่า 20 ปี และผ่านมาแล้วมากกว่า 10 รัฐบาล โครงการบางแห่งก็กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวประจานผลงานภาครัฐ 

บทเรียนและงบประมาณรัฐหลายแสนล้านบาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า และสร้างปัญหามากมายในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ทบทวนแนวทางรูปแบบโครงการแต่อย่างใด กลับจะเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ โดยละเลยกระบวนการและขั้นตอนที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญและติดตามมาตลอด และยังวนเวียนซ้ำซากกับโครงการแบบเดิมๆ ที่เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เงินมากขึ้น และสร้างผลกระทบมากขึ้น” แถลงการณ์ระบุ 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย กับโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล เนื่องจากประชาชนทั้งภาคอีสาน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ไม่ได้แสดงความคิดเห็นและเปิดให้มีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งให้โอกาสประชาชนได้เสนอทางเลือกอันหลากหลายในการจัดการน้ำ ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศอีสานทั้งหมดที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ทาม ทุ่ง โคก ภู ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละพื้นถิ่น และสามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้อง มีความยั่งยืนกว่า การบริหารจัดการง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นที่จะต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ หรือใช้แม่น้ำระหว่างประเทศเลย 

กรมชลประทานไม่ควรรวบรัดตัดตอนดำเนินโครงการ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน รัฐควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทำไปตามรูปแบบขั้นตอนให้เสร็จๆ ไป ทั้งที่ได้กำหนดทุกอย่างเอาไว้แล้ว ประชาชนคนอีสานไม่ควรถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม ในการกำหนด และนำความหายนะมาให้เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

“เครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสานยังสนับสนุนแนวทางและกระบวนการจัดการน้ำในรูป แบบของชุมชนที่เข้าถึงทรัพยากร อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ตามสิทธิการจัดการทรัพยากรน้ำโดยไม่เบี่ยงเบนจากหลักการของการจัดการน้ำที่ เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ”แถลงการณ์ระบุ

ผู้สื่อข่ายวรายนงานว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2559)  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝายห้วยหลวง ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายเพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานพัฒนาการใช้น้ำลุ่มน้ำโขง เพื่อการชลประทานครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 9 หมื่นไร่ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยบริหารจัดการประมงน้ำจืดและทำพิธีปล่อยปลาในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ