22 มิ.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) ออกแถลงการณ์ “ขอให้ยุติการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ” กรณีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาดาวดิน จ.ขอนแก่น ดังนี้
แถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ จากกรณีที่นักศึกษากลุ่มดาวดิน ได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ปรากฏตามภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างๆ นั้น โดย เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและมีการตั้งข้อกล่าวหา อาศัยอำนาจตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว จำนวน 7 คน ซึ่งภายหลังได้มีการปล่อยตัวและได้มีการออกหมายเรียกให้มารายงานตัวภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ในวันที่เรียกรายงานตัวดังกล่าว เวลา 13.00น. ได้มีการควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มดาวดินเพิ่มอีก 3 คน ไปที่สถานีตำรวจภูธรขอนแก่น ขณะเดินทางนำภาพวาดของเพื่อนนักศึกษาทั้ง 7 คน ไปแสดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น โดยนักศึกษาทั้ง 3 คน ไม่ได้มีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ถูกส่งไปควบคุมตัวที่ค่ายศรีพัชรินทร์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ภายหลังจะได้มีการปล่อยตัวสามนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวในวันดังกล่าวนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” 2.ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐมีหน้าที่ต้องผูกพันตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540 โดยกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ข้อ 19 บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก…” และข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง”รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความหวาดกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง 3.ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรมและหลักการบังคับใช้กฎหมายและการใช้ดุลพินิจใน การปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน ต้องสอดคล้องกับหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี กล่าวคือต้องมี ความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) เป็นเสรีนิยม สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล เป็นการกระทำเพื่อสังคมและเป็นประชาธิปไตย หมายความว่า การที่รัฐจะเอาตัวบุคคลใดไว้ในอำนาจรัฐ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องตีความในการปฏิบัติตามกฎหมาย ดังกล่าว โดยต้องเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยว่า การกระทำของบุคคลนั้น กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่3 /2558 มุ่งหมายการกระทำของบุคคลที่เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา กลุ่มดาวดิน เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ ย่อมไม่เป็นภัยคุกความความอยู่รอดของชาติ ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบและสันติ อีกทั้งไม่อาจใช้อำนาจและกระทำการที่ก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในร่างกาย และเสรีภาพของประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ 1.ยุติการดำเนินคดีโดยมีความเห็น ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้เพราะการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด 2.เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตาม คำสั่ง คสช.ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม หลักการบังคับใช้กฎหมาย และหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) หากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ |