นศ.ร้อยเอ็ด – ม.รามฯ จัดค่ายเรียนรู้ปัญหา ‘สิทธิในที่ดิน’ ศึกษาวิถีชีวิตคนดอนฮังเกลือ

นศ.ร้อยเอ็ด – ม.รามฯ จัดค่ายเรียนรู้ปัญหา ‘สิทธิในที่ดิน’ ศึกษาวิถีชีวิตคนดอนฮังเกลือ

นักศึกษา ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด ชมรมรัฐศาสตร์มวลชนสัมพันธ์ และนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน ม.รามคำแหง ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือ จ.ร้อยเอ็ด ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ชุมชน และการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน

20161709140528.jpg

รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

14 ก.ย. 2559 นักศึกษาชมรมรัฐศาสตร์มวลชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม – อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมลงพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยนักศึกษาทั้งจากทั้ง 2 สถาบันการศึกษา ต่างทำกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมภายในแต่ละมหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู่ การลงพื้นที่ทั้งนี้เพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน และการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน

20161709140544.jpg

ศิรินทรา ทานัง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม – อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล่าถึงการลงพื้นที่และศึกษากรณีที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินว่า ที่ผ่านมาได้เห็นเฉพาะแต่ในข่าว ทั้งทีวี หรือจากหนังสือพิมพ์ และรุ่นพี่ ๆ ในชมรมฯ ที่เคยได้ลงพื้นที่กรณีที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินเล่าให้ฟัง ซึ่งได้เพียงรับรู้ เกิดความเข้าใจ และพอมองเห็นภาพได้บ้างว่าชาวบ้านมีความทุกข์ยากจากนโยบายที่ต่างไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง แต่การได้ลงมาสัมผัสด้วยตนเอง ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนควรได้รับด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม 

อย่างกรณีปัญหาผลกระทบที่ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ ได้รับความเดือดร้อนนั้น สืบเนื่องจากนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ ดอนฮังเกลือ อย่างไรก็ตามชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง

ศิรินทรา บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พบว่าเส้นทางการต่อสู้สู่การทวงคืนผืนดินของชาวบ้านบ่อแก้ว มีมายาวนาน หลังจากเมื่อปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ออป.ยึดพื้นที่ชาวบ้านไปปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส กระทั่งในวันที่ 17 ก.ค. 2552 สามารถทวงคืนผืนดินทำกินกลับคืนมาได้ พร้อมจัดตั้งชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาอย่างมีระบบแบบแผน เช่นเดียวกับที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย ที่ได้เดินทางลงพื้นที่ในช่วงบ่าย จะเห็นได้ว่าที่ชุมชนโคกยาวมีการต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินเช่นเดียวกับที่บ่อแก้ว 

เพียงแต่ต่างกันคือชุมชนโคกยาว ถูกอพยพออกจากพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่าเพื่อการฟื้นฟูป่า แต่กลับนำต้นยูคาฯ มาปลูกทับที่ทำกินชาวบ้าน กระทั่งชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องจึงสามารถกลับเข้าพื้นที่เดิมได้ในช่วงปี 2548 แต่ที่ทั้ง 2 ชุมชนเหมือนกันคือหลังจากกลับเข้าพื้นที่ได้นั้น ได้ร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดินให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง 

แม้ว่าชุมชนโคกยาวจะตั้งอยู่กลางป่าเขา ไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำใช้ และแม้จะขาดแกนนำคนสำคัญ คือนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่หายตัวไปในป่า นับแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่สมาชิกในชุมชนที่ยังอยู่ ก็ยังคงร่วมกันต่อสู้ เพื่อรักษาที่ดินให้คงอยู่สืบไปสู่ลูกหลาน

“ความรู้สึกยินดีถึงอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความชอบธรรม กลายเป็นความอยากรู้ อยากติดตามในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนบ่อแก้ว ชุมชนโคกยาว หรือที่ชุมชนดอนฮังเกลือก็ตาม ทั้งนี้แม้อาจไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จากการลงพื้นที่ อย่างน้อยการเข้ามารับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จะนำไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิกในชมรมฯ เพื่อในโอกาสต่อไปจะได้มาร่วมจัดค่ายฯ เพื่อสร้างความสุขให้แก่คนในชุมชน และจะถือเป็นโอกาสดี หากการที่นักศึกษาอีกหลายๆ คน ที่ยังไม่ได้มีโอกาสมาออกค่ายฯ เรียนรู้โลกกว้างนอกห้องเรียนแบบนี้ หากได้เข้ามารับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จะได้นำประสบการณ์จากการลงพื้นที่ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการเผยแพร่ ให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ รับรู้ถึงปัญหา เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนว่า เพราะอะไร ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่วิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน” ศิรินทรา กล่าว

20161709140422.jpg

ด้านเจษฎา อักษรพิมพ์ นักศึกษาสาขารัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ชมรมรัฐศาสตร์มวลชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด บอกว่า ลงมาพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือหลายครั้ง เพื่อใช้ในศึกษาหาข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจชุมชน ความเป็นอยู่ รวมทั้งความเป็นมาของปัญหา และประวัติชุมชน ตลอดจนการเดินสำรวจและเก็บภาพบริเวณชุมชน ทั้งด้านขอบเขตของพื้นที่ การทำเกษตรกรรม การประมง เพราะจากการได้ติดตามนอกจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังพบว่าชุมชนมีสภาพเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตนเองได้ แม้จะถูกอ้างว่าอยู่พื้นที่พิพาทแต่ในชุมชนได้ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

“การได้มาสัมผัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านโดยตรง ได้รับรู้ข้อมูล ได้เรียนรู้ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ต่างจากการศึกษาที่มีอยู่แต่ในห้องเรียน เพราะเป็นเพียงแค่ได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่หรือรู้เพียงแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบของชุมชน ที่สำคัญได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้องในชุมชนดอนฮังเกลือเป็นอย่างดียิ่ง เพราะจากที่ได้ลงพื้นที่มาหลายครั้ง จะอาศัยอยู่กับชาวบ้าน แม้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นยาวนานกว่านั้น และจากการลงมาสำรวจพื้นที่ สามารถบอกได้เลยว่าประสบการณ์ที่ได้จากข้อมูลที่ได้รับ ทั้งจากการได้สัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ แน่นอนว่าจะนำไปเป็นข้อมูลในการเขียนงานวิจัย เพื่อเผยแพร่ให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ เข้าใจถึงปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ของสิทธิชุมชนต่อไป” นายเจษฎา กล่าว

20161709140344.jpg
 
ทองสา ไกรยนุช สมาชิกชุมชนดอนฮังเกลือ ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ กว่า 20 ครอบครัว ร่วมกันประกอบอาชีพ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งบนผืนดินและในผืนน้ำ กล่าวคือ บนผืนดิน ชุมชนทำการเกษตรด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล เช่น ช่วงฤดูฝนทำการปลูกข้าว หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็มาปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น พริก มะนาว ข้าวโพด แตง ถั่ว เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินให้ได้อย่างสมประโยชน์ คุ้มค่า มีความต่อเนื่องอย่างสูงสุด นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์และยั่งยืน เพราะสมาชิกในชุมชนร่วมกันทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์

ด้านทรัพยากรทางน้ำในบึงเกลือ หรือที่เรียกว่า “ทะเลอีสาน” บนเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ ได้ประกอบอาชีพการประมงมาหลายชั่วอายุคน ด้วยการจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาอีกหลากหลายพันธุ์  เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียนขาว ปลาคล้าว ปลาชะโด ปลาดุก และปลากด มาบริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งได้นำออกขายเป็นรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ถือเป็นปกติของการดำเนินชีวิต โดยสิ่งที่หามาได้ทั้งทำกินเองและขาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปหาซื้อจับจ่ายในท้องตลาดให้มากนัก ถือเป็นการประหยัดรายจ่ายไปในตัวด้วย

ส่วนการดูแลรักษาทั้งทรัพยากร และสัตว์น้ำ ชุมชนร่วมกันจัดบริเวณในบึงเกลือประมาณ 1 ไร่ เพื่อทำโรงเรียนอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยให้ปลาตัวเล็กได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันเขตไว้ เพื่อให้ปลาได้มีการขยายพันธุ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ เพราะในหนองน้ำนั้นมีความหลากหลายในระบบนิเวศ และถือเป็นโรงครัวใหญ่เพื่อรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งในสมาชิกของชุมชน และชุมชนใกล้เคียงให้เกิดความยั่งยืน

สมาชิกชุมชนดอนฮังเกลือ เล่าว่า แม้ชุมชนจะอาศัยอยู่ที่นี่มาแต่บรรพบุรุษ ประกอบอาชีพหารายได้มาเลี้ยงชีวิต แต่ก็มีความขัดแย้งกับ อบต.บึงเกลือ นับแต่ปี 2535 มีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วย อบต. อ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ดอนฮังเกลือ พยายามขับไล่ออกจากพื้นที่ จึงได้ร่วมกันลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ด้วยหวังว่าให้ผืนดินตกทอดไปถึงลูกสู่หลาน กระทั่งได้เข้าร่วมผลักดันทางนโยบายกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ให้ภาครัฐดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 

แม้แนวทางการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน แต่ทางองค์กรภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ พยายามผลักดันให้ได้ข้อยุติในเรื่องการจัดการให้เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินในสิทธิรวมหมู่ในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ