นศ.จับมือปชช. ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหวั่นกระทบเดินหน้าสันติภาพชายแดนใต้

นศ.จับมือปชช. ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหวั่นกระทบเดินหน้าสันติภาพชายแดนใต้

ขอบคุณคลิปจากผู้ใช้ youtube: ami12327

วันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ตึก 58 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) และเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม จัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง” แสดงจุดยืนคัดค้านโรงฟ้าฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

กิจกรรมประกอบด้วย การเดินขบวนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษาและชาวบ้านเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเปิดพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “บทบาทนักศึกษาและประชาชนกับมหัตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารเรียนรวม ม.อ.ปัตตานี ซึ่งการพูดคุยบ่งชี้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ อีกทั้งพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เป็นรอยต่อกับพื้นที่ จ.ปัตตานี ผลกระทบนั้นหลายคนบอกว่ากว้างไกลมาถึงปัตตานีรวมทั้งที่อื่นๆ

ทั้งนี้ ในที่ประชุม เครือข่ายนักศึกษาม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม อ่านแถลงกลางบับที่ 1 เรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ส่วนตัวแทน PERMATAMAS อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของประชาชนใน นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

รายละเอียดแถลงการณ์ที่ 2 ฉบับ มีดังนี้

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 1

เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม

“ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง”

จากปนิธานข้างต้น ข้าพเจ้าและนักศึกษา ได้ตระหนักและถือปฏิบัติมา

ซึ่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัต ต้องเผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำจากน้ำทะเลถึงวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่โครงการ 2,960 ไร่ ซึ่งมีระยะห่างจากปัตตานีเพียง 3 กิโลเมตร และมีป่าชายเลนที่มีเนื้อที่ ประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จาก อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จนถึง อำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีทะเลผืนเดียวกัน สำหรับการทำมาหากินที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

โครงการดังกล่าวได้ทำลายฐานทรัพยากรชีวิต ของคนสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิต ที่ข้องเกี่ยวกับทะเลเป็นหลัก

และส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารโดยรวมทั้งหมด จากการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีขนาดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท หลอดเลือด หัวใจ อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามแดน ที่ไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน

การแสดงจุดยืนครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา แต่เพียงอยากให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐาน วัฒนธรรม และสิ่งดีงาม ที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

จะเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ และปาตานี แผ่นดินที่มีจิตวิญญาณ ถูกทับถมด้วยปูนซีเมนต์ ปล่องท่อ และหมอกควัน

“ทำไมแผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไป เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนยากคนจน ต้องเป็นคนเสียสละ”

ในนามเครือข่ายนักศึกษาม.อ.ปัตตานี ขอเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป

000

แถลงการณ์ฉบับที่ 2

เครือข่ายประชาชน จชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)

เรื่อง จุดยืนของประชาชนในจังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ด้วยการดำเนินการตามโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมานั้น ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า ค.1 ค.2 และ ค.3 ซึ่งมีลักษณะที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมในเวทีเพื่อให้ได้เห็นภาพว่ามีจำนวนคนที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นจำนวนมากอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยที่ผู้จัดนั้นพยายามเบี่ยงเบนยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมดให้กับประชาชนที่ถูกเกณฑ์ดังกล่าว และมีเจตนาอย่างชัดเจนในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่มีชุดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1-ค.3

โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างจากพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง กลับไม่ได้ถูกนับรวมในกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากการศึกษาของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และในต่างประเทศต่างชี้ให้เห็นว่า ระยะของผลกระทบจากมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่เผาถ่านหินปริมาณมหาศาลถึง 23 ล้านกิโลกรัมต่อวันตลอด 24 ชั่วโมง การมีปล่องควันที่สูงไม่ต่ำกว่า 200 เมตร การยื่นสะพานลงไปในทะเลระยะไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น และการขนส่งถ่านหินทางเรือไปมาในระยะ 15 กิโลเมตรนั้น ระยะของผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในทางกลับกันมลสารที่มาจากควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝนกรด ขี้เถ้าลอยและหนัก และการกัดเซาะชายฝั่งของโครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น นอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและสงขลาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้พี่น้องประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสตูล ตลอดจนทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จึงมีจุดยืนต่อกรณีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค.2 และค.3 ที่ผ่านมานั้น ดังต่อไปนี้

1.เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค.2 และค.3 ที่ผ่านมานั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งรวมถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลได้นำเสนอความเห็นด้วย

2.ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย ไม่มีความจำเป็นใดๆทั้งสิ้นที่ต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้นมาเชื่อว่าจะเป็นการยิ่งโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน

3.ทางเครือข่ายประชาชนห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูลจะร่วมกับเครือข่ายประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ในการพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธีเพื่อหยุดการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ได้

4.ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องนำกรณีปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระเพื่อคลี่คลายป้องกันปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น จะกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เพียงแค่สนองความโลภของคนไม่กี่คน

 

ด้วยจิตรักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ

วันที่ 22 มกราคม 2559

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ก่อนหน้านี้เมื่อ 8 ม.ค. 2559 PERMATAMAS ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ประกาศในการประชุมและเคลื่อนไหวที่บ้านคลองประดู่ ปากบางเทพา ดังมีสาระดังนี้

 

แถลงการณ์ฉบับที่1 เครือข่ายประชาชนจชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)

เรื่อง จุดยืน PERMATAMAS ต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) เป็นองค์กรเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยับยั้งไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในสิทธิชุมชนของประชาชนตลอดจนความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้คือ มหันตภัยจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งจะใช้เนื้อที่ 3,000 ไร่ เป็นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั้น ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีแม้แต่น้อย

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำลายวิถีชุมชนและประมงพื้นบ้าน การทำลายศาสนธรรมอันดีงาม จะมีการย้าย มัสยิด วัด กุโบว์และโรงเรียนปอเน๊าะ ทำลายสุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงินซื้อผู้นำและซื้อทุกอย่าง ประชาชนในพื้นที่อ.เทพาและทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆเลยทั้งสิ้น นอกจากมลพิษ หายนะ และความแตกแยกในชุมชน

อนึ่งทางเครือข่าย PERMATAMAS เชื่อว่ามหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ไม่ใช่แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังดำเนินการโดยกอ.รมน.นั้น ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย เพราะได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวง ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กฟผ.ที่ใช้วิชามารและใช้อำนาจอิทธิพลมาผลักดันโครงการ อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกับประชาชนกันเองและประชาชนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้

ทั้งนี้ทางเครือข่าย PERMATAMAS จะมีการเผยแพร่ชุดข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อสาธารณะและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องต่อไป

ทางเครือข่ายประชาชนจชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ จึงขอเรียกร้องไปยังพณฯนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาสั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อเห็นแก่ความมั่นคงของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงแห่งชาตินั้น และเพื่อการส่งเสริมกระบวนสันติภาพชายแดนใต้ อันจะช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสงบ ร่มเย็นและสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน สอดคล้องตามเจตนารมณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อไป

ด้วยจิตรักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

แถลงโดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง

ณ บ้านคลองประดู่ หมู่ที่ 4 ต.ปากบางเทพา อ.เทพา จ.สงขลา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ