นศ.จัดเยี่ยมเพื่อนที่ค่ายทหารนราธิวาส-มนร.เผย 5 นศ.ยังถูกคุมตัว-เจ้าหน้าที่ชี้กฏอัยการศึกปล่อยใน 7 วัน

นศ.จัดเยี่ยมเพื่อนที่ค่ายทหารนราธิวาส-มนร.เผย 5 นศ.ยังถูกคุมตัว-เจ้าหน้าที่ชี้กฏอัยการศึกปล่อยใน 7 วัน

3 เม.ย. 2558 หลังจาก การเผยแพร่ข่าวการเข้าตรวจค้น หอพัก นักศึกษาชาย และนักศึกษาหญิง โดยกำลังเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยไม่แสดงหมายค้นหรือหมายจับกุมใดๆ และมีการควบคุมตัวนักศึกษา นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว รวมทั้งครูอาสาสอนตาดีกา เมื่อเช้าของวันที่ 2 เม.ย ที่ผ่านมา (คลิกอ่านข่าว)

20150304195331.jpg

นักศึกษาลงพื้นที่เยี่ยมเพื่อน-เจ้าหน้าที่เผยคุมตัวตามกฎอัยการศึก ปล่อยใน 7 วัน

Free Voice รายงานความคืบหน้าว่า วันนี้ (3 เม.ย.) นักศึกษาจากหลายพื้นที่ในภาคใต้ อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมตัวกันเข้าเยี่ยมเพื่อนในนักศึกษาที่ถูกทางเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารในพื้นที่

โดยนักศึกษาและบัณฑิตถูกแยกควบคุมตัวที่ต่างๆ ได้แก่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส 2 คน ค่ายบูเกะตันหยง 7 คน ค่ายจุฬาภรณ์ บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส 2 คน 

สถานที่แรกที่กลุ่มนักศึกษาเดินทางไปถึงคือ  กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส ซึ่งมีผู้ถูกควบคุมตัวไว้ ณ ค่ายนี้ จำนวน 2 คน คือ นูไฮมี อาบูแล นักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสรานครินทร์ กับ รีดูวัน สุหลง บัณฑิต

จากการพูดคุยทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษาเข้าไปเยี่ยมด้านใน และนำตัวนักศึกษา 2 คน ออกมาพบบริเวณข้างนอกค่าย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่าจะปล่อยตัวภายใน 7 วัน ตามกฎอัยการศึก และยืนยันว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา จากนั้นกลุ่มนักศึกษาจึงเดินทางต่อไปยังค่ายจุฬาภรณ์ และที่ตันหยง  

20150304195438.jpg

มนร.เผย นักศึกษาถูกคุมตัว 12 คน ปล่อยแล้วเมื่อคืนนี้ 7 คน

ด้าน ดร.อับดุลรอเซะ หะมีแย รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา สถาบันภาษาอาหรับและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  ซึ่งติดตามนักศึกษาในกรณีดังกล่าวให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวโต๊ะข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสว่า เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าปิดล้อมและควบคุมตัวนักศึกษาจากหอพักชายไปทั้งหมด 12 คน โดยมี 7 คนได้รับการปล่อยตัวแล้วตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เหลืออีก 5 คน ที่ยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดย 1 คน ถูกคุมตัวอยู่ที่เจาะไอร้อง และอีก 4 อยู่ที่เขาตันหยง อ.เมือง 

ดร.อับดุลรอเซะ กล่าวด้วยว่า รู้สึกห่วงใยนักศึกษาที่ยังถูกคุมตัวอยู่ แต่ในส่วนที่ว่าสถาบันฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป ต้องมีการพูดคุยร่วมกับทางผู้อำนวยการสถาบันภาษาอาหรับและอิสลามศึกษา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์หลังจากนี้

กลุ่มลูกชาวบ้านร้องยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดฯ -ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความเคลื่อนไหวในพื้นที่ วันเดียวกันนี้ (3 เม.ย.2558) กลุ่มลูกชาวบ้านออกแถลงการณ์ ระบุว่า จากการประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก และประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 แทนโดยยกเว้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงให้มีกฎอัยการศึกอยู่ กระทั่งนำไปสู่การบุกเข้าจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษานักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์โดยไร้ซึ่งคดีความและข้อกล่าวหา การกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐนับว่าเป็นการลุแก่อำนาจ อาศัยกฎหมายเถื่อนในการคุกคามประชาชน อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

กลุ่มลูกชาวบ้านขอต่อต้านการกระทำดังกล่าว และขอแถลงข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.กลุ่มลูกชาวบ้านยืนยันจุดยืนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย 2.กลุ่มลูกชาวบ้านยืนยันในหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะถูกคุกคาม หรือลิดรอนโดยรัฐมิได้ 3.กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดฯ รวมทั้งให้ยกเลิกการบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ และ 4กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาดังกล่าวในทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

 

 

แถลงการณ์กลุ่มลูกชาวบ้าน อันเนื่องมาจากการประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก และประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔ แทน…

Posted by กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน on Thursday, April 2, 2015

 

ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมแนะรัฐควรทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาชน ภาคประชาสังคม สื่อทางเลือกในพื้นที่ และนักศึกษากำลังเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รีบสอบสวนหาความจริงคดีวิสามัญ 4 ศพที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ให้ปรากฏโดยเร็ว 

ด้าน อับดุลกอฮาร์ บิน ฮาญีอับดุลอาวัง ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) กล่าวแสดงความเห็นว่า มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้ในส่วนกลางไม่ใช่ 3 จังหวัด เพราะให้งานเหมือนกับกฎหมายความมั่นคงที่ประกาศใช่ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งหากมีการนำมาตรา 44 มาใช้จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายขึ้น เพราะเปิดให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นของการเก็บรวบรวมข้อมูล สอบสวน และตัดสินคดีความในศาลทหาร 

อับดุลกอฮาร์ แนะด้วยว่ารัฐควรทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้าน นักศึกษา และเอ็นจีโอได้สร้างองค์ความรู้ในเรื่องสิทธิและข้อกฎหมาย การที่รัฐยึดแต่ระเบียนราชการ ไม่เรียนรู้ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลายเป็นปมความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ แทนที่จะเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ

นอกจากนี้ ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ การที่สื่อมวลชนใช้คำว่าวิสามัญในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นนั้น เหมือนเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ใช้อำนาจ ให้กับการยิงคนตาย ยิ่งที่ผ่านมาไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบโดยอ้างเหตุผลการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำๆ อาจทำให้คนในพื้นที่รู้สึกได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ใช่คนที่จะมาช่วยรักษาความปลอดภัยท่ามกลางพื้นที่อันตราย แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของมัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ