ในพื้นที่ความขัดแย้งภาคใต้ที่มีการใช้ความรุนแรงคร่าชีวิตผู้คนมายาวนานกว่าสิบปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือความพยายามสร้างสันติภาพปรากฎตัวและกลายเป็นพลังที่หลายฝ่ายขานรับ แม้ว่าจะยังเพียงแค่เริ่มต้น ยังล้มลุกคลุกคลานและยังอยู่ในสภาพแสวงหาหนทาง แต่ผู้คนในสังคมสามจังหวัดภาคใต้ แม้จะเป็นคนตัวเล็ก ๆ ในสังคม ต่างก็พยายามอย่างยิ่งที่จะทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อสร้างสันติภาพ
แต่การสร้างสันติภาพมีความหมายว่าอย่างไรในทางปฏิบัติ ที่ว่าคนตัวเล็กตัวน้อยพยายามจะสร้างสันติภาพ พวกเขาทำอะไรกัน
000
สารคดี 3 ตอนจบชุด “เส้นทางสันติภาพ” ที่ไทยพีบีเอสเตรียมนำเสนอในวันที่ 18-20 ก.ค. จะบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของคนตัวเล็ก ๆ และคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ทว่าไม่หยุดนิ่งเพื่อจะทำในสิ่งที่ตนเองทำได้
ตอนหนึ่งของสารคดีพูดถึงบทบาทของอดีตนักวิชาการที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าระดับรากหญ้า กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคม กลุ่มคนที่ทำงานแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าเอกชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในและนอกพื้นที่ จนกลายมาเป็นตัวเชื่อมอย่างสำคัญในการประสานความพยายามในการสร้างสันติภาพ ผลที่ออกมาในเชิงรูปธรรมคือการพยายามเชื่อมให้คนที่เห็นต่างกับรัฐได้พูดคุยกับคนที่ทำงานกับรัฐ ซึ่งเป็นสองขั้วของความขัดแย้ง
ความพยายามอย่างเนิ่นนานที่เชื่อมโยงคนสองขั้วให้มาคุยกันอาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการพบปะเพื่อพูดคุยสันติภาพ แต่มันเป็นงานสร้าง “รากฐาน” ของกระบวนการสันติภาพ สร้างบรรยากาศของการพูดคุยที่สนับสนุนการพบปะกันในระดับบนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นแต่เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากยิ่ง
000
สารคดีตอนหนึ่งใน “เส้นทางสันติภาพ” จึงเป็นเรื่องราวของอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง คนที่ใช้ประสบการณ์ในการทำงานและเครือข่ายการทำงานตลอดชีวิตของเขาทำงานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และเรื่องราวของเขาได้รับการเปิดเผยขึ้นมาก็หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว
ผู้ผลิตสารคดีต้องการนำเสนอเรื่องราวของคนสามัญคนหนึ่งที่ไม่ธรรมดา ที่ก้าวเข้ามาทำงานสร้างสันติภาพด้วยตัวเองก่อนที่จะมีการนำเอาองค์ความรู้เรื่องของกระบวนการสันติภาพเข้าสู่ภาคใต้จนพูดกันติดปากในเวลานี้ เรื่องราวนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวของคนอีกเป็นจำนวนมากที่พยายามจะสร้างสันติภาพตามวิถีของตนเอง
สิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นกันก็คือเรื่องที่ว่า คนที่จะมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมประสานในสังคมที่ขัดแย้งนั้น ควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นนั่นเองที่สะท้อนภาพสิ่งที่ขาดไปในสังคมที่ขัดแย้ง
000
การจะก้าวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ สังคมจำเป็นต้องเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาเพื่อให้การแก้ปัญหานั้นเป็นการ “เกาอย่างถูกที่คัน”
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์ของนักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่จำนวนมากถึงต้นตอของปัญหา ว่ากันว่าสาเหตุมีหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องของความต้องการอัตลักษณ์ รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ หรืออื่น ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ทับถมเรื่อยมาก็คือปัญหาความไม่เป็นธรรม และเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ไม่ใช่เกิดจากเงื้อมมือของคนใดหรือฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่สะสมมาเป็นลำดับจากหลายส่วนของระบบรวมไปถึงจากกระบวนการยุติธรรม
แต่ในขณะที่ชุมชนคนกลุ่มหนึ่งคือมุสลิมรู้สึกถึงผลสะเทือนของปัญหาความไม่เป็นธรรมจากระบบที่ว่านี้ คนอีกกลุ่มหนึ่งคือไทยพุทธที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงตอบโต้รัฐก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกขาดความไม่ธรรมอันเป็นผลจากการใช้ความรุนแรงอันนั้น
และจากการที่กระบวนการยุติธรรมเองยังไม่สามารถสะสางหาตัวผู้ลงมือมาดำเนินการได้ ความรู้ของคนทั้งสองฝ่ายกลายมาเป็นเรื่องราวของปัญหาความไม่เป็นธรรมจากสองมุมมองที่ยิ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ซับซ้อนขึ้น
คนต่างกลุ่มในสังคมสามจังหวัดภาคใต้ต่างถูกตอกย้ำตลอดเวลาจากปัญหาที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ นี้
แต่แม้ความเสียหายจะมากมาย และความผิดหวังจะท่วมท้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่เป็นธรรมไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมต่างก็พยายามจะก้าวข้ามเพื่ออยู่ร่วมกัน ในขณะที่บางคนยังทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพไปด้วย
นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สารคดีนำมาเสนอไว้ในหนึ่งในสามตอนของ “เส้นทางสันติภาพ” เพื่อให้สังคมไทยโดยรวมได้เห็นความพยายามของคนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด สะท้อนผ่านกรณีเล็ก ๆ ไม่กี่กรณีเท่าที่สารคดีจะมีเวลาพอนำมาบอกเล่าได้ เพื่อจะจุดประกายความคิดว่า การจะคลี่คลายความขัดแย้งอันนี้ ต้องมองที่ต้นตอของปัญหาในเรื่องความไม่เป็นธรรมจากในสายตาของคนทั้งสองกลุ่ม
000
สารคดีสั้นสามตอนจบนี้ผลิตในช่วงที่ไทยมีการพูดคุยสันติภาพ แต่กระบวนการสันติภาพของไทยยังแรกเกิดเมื่อเทียบกับอีกหลายแห่ง เป็นที่รู้กันว่าการผลักดันแก้ปัญหาด้วยกระบวนการพูดคุยและสันติวิธีที่อื่น ๆ ใช้เวลากันหลายสิบปี สังคมต้องใช้ความอดทนและมีความรู้ในเรื่องนี้ แต่การพูดคุยในกรณีของไทยนั้นเพิ่งจะเริ่มและยังไม่ได้เข้าถึงเนื้อหาของความขัดแย้งอย่างแท้จริง
เห็นได้ชัดว่าไทยยังต้องเรียนรู้จากสังคมอื่นในเรื่องของการจัดการปัญหาความขัดแย้งคล้ายกันนี้
สารคดีตอนสุดท้ายในชุด “เส้นทางสันติภาพ” หยิบเอาตัวอย่างของความขัดแย้งและการผลักดันสันติภาพในประเทศเพื่อนบ้านอย่างในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาบอกเล่า ในกรณีของอินโดนีเซีย คือการใช้กระบวนการแก้ปัญหาสันติภาพอาเจะห์ซึ่งขณะนี้เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซียแต่กระบวนการสันติภาพทำให้อาเจะห์ได้ปกครองตนเอง
อย่างไรก็ตามกระบวนการสันติภาพของอาเจะห์ก็มีปัญหา แม้ว่าวันนี้อาเจะห์จะไม่มีการสู้รบ แต่เส้นทางสันติภาพของอาเจะห์ที่มีวิธีเดินตามแบบของตนเองนั้นยังทิ้งปัญหาที่ค้างคาไว้และอาจเป็นปัจจัยให้สันติภาพนั้นไม่ยั่งยืน อาเจะห์กลายเป็นห้องเรียนสันติภาพสำหรับคนทั่วโลกที่จับตาว่า สิ่งที่พวกเขาทำไปนั้นจะแก้ปัญหาได้ยั่งยืนเพียงไร
000
ในขณะที่หลายฝ่ายในอาเจะห์กำลังพยายามตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อหนีให้พ้นจากการที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้อาเจะห์หวนคืนไปสู่ความรุนแรงอีก ในฟิลิปปินส์ การแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีมินดาเนาที่อยู่ทางตอนใต้ก็เป็นอีกแห่งที่คนทำงานสร้างสันติภาพทั่วโลกจับตา กระบวนการสันติภาพของมินดาเนา แตกต่างจากอาเจะห์แทบจะเรียกว่าสิ้นเชิง เพราะผู้คนเข้าร่วมมากกว่า กินเวลานานกว่า และมีกระบวนการขั้นตอนมากกว่า
กระบวนการสันติภาพมินดาเนาดูเหมือนจะดี ทว่ากระบวนการนี้ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา แม้แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายที่หลายคนคิดว่ากำลังจะเอื้อมถึงสันติภาพแล้ว แต่นักการเมืองของฟิลิปปินส์ก็ล้มความหวังของผู้คนในมินดาเนาด้วยการไม่ผ่านร่างกฎหมายตั้งเขตปกครองตนเองมินดาเนาแห่งใหม่ แม้ว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านการต่อรองอย่างหนักมีประชาชนเข้าร่วมทุกขั้นตอนจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในมินดาเนายอมรับและต่างออกมารณรงค์สนับสนุน แต่มินดาเนาก็ต้องผิดหวังอย่างหนัก
อย่างไรก็ตามไม่ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ร่วมเจรจาสันติภาพ ก็ยังไม่มีใครพยายามจะถอยหลังกลับไปสู่ภาวะการต่อสู้ใช้ความรุนแรงกันอีกครั้ง นับเป็นบรรยากาศที่ใจหายใจคว่ำกันทั้งประเทศ
สารคดีตอนที่สามในชุด “เส้นทางสันติภาพ” จะพาคุณผู้ชมไปดูดซับบทเรียนบางเรื่องบางประการจากการสร้างสันติภาพในอาเจะห์และมินดาเนา ที่ซึ่งความขัดแย้งคล้ายคลึงกันกับในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย
000
สารคดี “เส้นทางสันติภาพ” ผลิตโดยกลุ่มเอฟที มีเดีย ให้กับไทยพีบีเอส กลุ่มเอฟที มีเดียเป็นผู้ผลิตอิสระกลุ่มเล็กที่ประกอบขึ้นมาด้วยคนทำงานจากกรุงเทพฯ และสามจังหวัดภาคใต้ องค์ประกอบดังกล่าวทำให้การทำงานคล่องตัว ขณะที่มุมมองในสารคดีถือเป็นการผสมผสานแนวคิดและการตีความของคนทำงานในและนอกพื้นที่
การทำงานในพื้นที่ยาวนานทำให้สารคดีทั้งสามตอนนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยากเห็นเรื่องราวของความพยายามสร้างสันติภาพปรากฎต่อสายตาสาธารณะ เพื่อจะร่วมสร้างบรรยากาศของการแสวงหาสันติวิธีต่อปัญหาชายแดนใต้ โดยเน้นการบอกเล่าที่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ฉายให้เห็นถึงความพยายามแก้ปัญหาไปในเวลาเดียวกัน
ในการผลิตสารคดี “เส้นทางสันติภาพ”นั้น กลุ่มผู้ผลิตเองก็ต้องแสวงหาหนทางในการทำงานให้ได้ในพื้นที่ที่มีทั้งลักษณะเฉพาะและสุกงอมไปด้วยความขัดแย้ง เพื่อที่จะให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพพอสมควรภายในห้วงเวลาอันจำกัด และภายใต้ข้อจำกัดของบรรยากาศที่อยู่ภายใต้การใช้ความรุนแรงจนหลายครั้งเรียกได้ว่า กลบภาพความพยายามสร้างสันติภาพ
000
สารคดี เป็นเรื่องราวของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ผู้ผลิตเพียงคัดมุมมองนำมาเสนอเพื่อให้สังคมได้ภาพของปัญหาบางด้าน เนื้อหาของสารคดีล้วนเป็นเรื่องจริง หลายอย่างอาจไม่สวยงามหรือว่าต้องมีคำตอบที่ลงตัว แต่เพราะมาจากสิ่งที่เกิดขึ้น
สารคดีทั้งสามตอนของเส้นทางสันติภาพจึงสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่สังคมควรจะได้รับรู้ เพื่อที่จะได้เดินบน “เส้นทางสันติภาพ” ร่วมกัน
ติดตาม สารคดี ‘เส้นทางสันติภาพ’ เวลาบ่ายโมงตรง ทาง ThaiPBS 18 ก.ค. 59 ตอนแรก เรื่องราวของคนสร้างสันติภาพ อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง 19 ก.ค.59 ตอนที่ 2 เรื่องของพุทธและมุสลิมกับทัศนะของพวกเขาต่อเรื่องความเป็นธรรม ในตอนนี้มีกลุ่มคนพุทธอยู่หลายคน และมีเรื่องราวของรอมละห์และอันวาอยู่ในนั้นด้วย 20 ก.ค.59 ตอนที่ 3 เก็บเกี่ยวบทเรียนจากอาเจะห์และมินดาเนา |