ที่ซึ่งเรียกว่า…บ้าน
จากการพูดคุย หารือ ในเวทีจากเวทีนโยบายสาธารณะ "ปลดล็อคระบบดูแล : สู่การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ยั่งยืน" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ร่วมกับเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กเร่ร่อน ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มีการกล่าวถึง ที่ซึ่งเรียกว่า…บ้าน และการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในลักษณะการดูแลในบ้านซึ่ง สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณ์ ด้วยกัน คือ
1.บ้านเปิดหรือบ้านแรกรับ
ซึ่งเป็นบ้านชั่วคราวที่เด็กจะเข้ามา หรืออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ โดยทางบ้านจะจัดให้มีปัจจัย 4 พร้อมทั้งกิจกรรมดูแลและส่งเสริมพัฒนาเด็ก ก่อนส่งต่อไปยังศูนย์ความช่วยเหลือที่เด็กต้องการ
2. บ้านพัฒนาเด็ก
หมายถึงบ้านที่เด็กอยู่ถาวร ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การส่งเด็กไปเรียนหนังสือ จัดการศึกษาทางเลือกให้เด็ก มีการฝึกวิชาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้เด็ก
คุณทองพูล บัวศรี นักวิจัยในโครงการถอดบทเรียนบ้านแรกรับและบ้านพัฒนาสำหรับเด็กเร่ร่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ครูจิ๋ว บอกเล่าถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพักอาศัยอยู่ในบ้านของเด็กๆที่ได้รับความช่วยเหลือว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก
“เด็กเร่ร่อนทุกคนเนี่ย เมื่อเข้าสู่บ้านแรกรับแล้ว เรื่องที่จะทำให้เขาอยู่บ้านได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับ 6 ประเด็น ด้วยกัน ความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กับเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กอยู่บ้านได้หรือไม่ได้ หรือ กิจกรรมในบ้านต้องมีความหลากหลาย เช่น เด็กต้องทำครัวได้ มีกิจกรรมการกีฬาได้ มีกิจกรรมเสริมทักษะ กระบวนการคิดวิเคราะห์ เรื่องของการทัศนศึกษา เขาต้องมีโอกาส ไปเจอน้ำตก ไปทะเลบ้าง หรือแม้แต่เรื่องเกษตร เด็กๆก็จะสามารถใช้กำลังของเขาเองได้ดี เพราะเขาจะรู้สึกว่านี่คือเขาเลย อีกอย่างคือ การมีส่วนร่วม เราต้องให้เขารู้สึกและเข้าใจได้ว่า บ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่เนี่ย ต้องมีการทำงานนะ ให้เขารู้สึกว่า เขามีสว่นร่วม ให้เขามีกิจกรรมที่รับผิดชอบ สร้างความเป็นเจ้าของงาน ที่นอกจากทำเพื่อตัวเองแล้ว ยังต้องทำเพื่อน้องๆด้วย เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญ และสิ่งสุดท้ายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในบ้าน บรรยากาศในบ้าน ต้องขึ้นอยู่กับครู ถ้าครูขยัน เด็กก็ขยัน ถ้าครูไม่เอาเด็กก็ไม่เอา…”
คำว่า บ้าน ยังคงมีความหมายต่อผู้คน ทุกชนชั้น ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย แต่สิ่งหนึ่งที่คนผู้ใหญ่ (ซึ่งเคยเป็นเด็ก)ต้องใส่ใจและช่วยกันจัดการดูแล คือ แค่คำว่าบ้านเชิงโครงสร้างคงไม่เพียงพอนัก หากแต่บ้านที่เด็กๆต้องการคือบ้านที่เป็นบ้านในแบบของเขาเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก ครูทองพูล บัวศรี : http://www.facebook.com/profile.php?id=1843556825
มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก : http://www.fblcthai.org/index.php
และวีดีโอ ที่ซึงเรียกว่าบ้าน : By codemedia1
ลักษณ์ วลัย : เรียบเรียง